xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของที่ดินราไวย์ร้องสื่อขอความเป็นธรรมหลังตกเป็นจำเลยสังคมกรณีที่ดินกับชาวเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าของที่ดินหาดราไวย์กว่า 10 ราย แถลงโต้หลังตกเป็นจำเลยสังคมกรณีปัญหาชาวไทยใหม่ พร้อมพึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวต่อการดำเนินการเรื่องของที่ดินหาดราไวย์ ขณะที่ชาวเลราไวย์กว่า 200 คน รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต สอบถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวเลกับเจ้าของที่ดินหลังครบกำหนด 7 วัน

เมื่อเวลา 90.30 น.วันนี้ (11 ก.พ.) ที่ห้องศรีตรัง โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เจ้าของที่ดินหาดราไวย์ แปลง 19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ชาวไทยใหม่ตั้งชุมชน และตัวแทนเจ้าของที่ดินบริษัทบารอน เนื้อที่จำนวน 33 ไร่ กว่า 10 คน นำโดย นายสะเทือน มุขดี ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลราไวย์ นายวีระชัย ตันติวัฒนวัลลภ ตัวแทนเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 8324 นายพงษ์ชัย อารีรอบ นางกฤติยา เสงี่ยมกุล นายชาตรี หมาดสตูล และนายชนะ ชาวนา ผู้ช่วยผู้รับมอบอำนาจ จากบริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด และตัวแทนบริษัทรับเหมา ตลอดจนเจ้าของที่ดิน ร่วมกันแถลงข่าวหลังจากเกิดปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกลุ่มชาวเลราไวย์มายาวนาน และที่ผ่านมาทางกลุ่มชาวเลก็ได้เคลื่อนไหวมาโดยตลอด ทำให้พวกตนในฐานะเจ้าของที่ดินรู้สึกเหมือนตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆ ที่ครอบครองที่ดินมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และมีโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย โดยนำหลักฐานต่างๆ ทั้งเอกสารที่มาที่ไปของที่ดิน อุปกรณ์ที่ใช้ทำมาหากินในสมัยก่อนของบรรพบุรุษ เช่น เครื่องมือเก็บลูกมะพร้าวมายืนยัน และพร้อมให้ทุกหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบตามกฎหมาย

นายสะเทือน มุขดี ตัวแทนที่ดินหน้าหาดราไวย์ ที่ชาวเลอาศัยอยู่ กล่าวว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นของบรรพบุรุษของพวกตนซึ่งเป็นชาวราไวย์ดั้งเดิม จากการได้ฟังคำบอกเล่าของปู่ เกี่ยวกับที่ดินที่ชาวเลอาศัยอยู่นั้น ต้องมาดูกันถึงความเป็นมาของเดิมชาวเล เดิมชาวเลจะล่องเรือเรื่อยๆ เมื่อเกิดพายุก็จะหลบพายุตามแผ่นดินใหญ่ และเกาะต่างๆ เป็นที่พัก เช่น เกาะเฮ เกาะบอน เป็นต้น และมีบางส่วนที่มาอาศัยในที่ดินของปู่ทัน มุขดี ซึ่งก็อนุญาตให้มาอาศัยได้ ซึ่งในสมัยนั้นมีประมาณ 4-5 ครอบครัว แต่จากข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการนำเสนอนั้นจะนำเสนอเฉพาะข้อมูลฝั่งชาวเล แต่ไม่ได้มีการมาสอบถามคนราไวย์ หรือเจ้าของที่ดินดั้งเดิม โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุประมาณ 60-70 ปี ซึ่งมีข้อมูล และสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี

ส่วนของตนนั้นได้รับคำบอกเล่าจากปู่ ว่า ชาวเลราไวย์ที่มาตั้งถิ่นฐานโดยมาขอตั้งบ้านเรือนช่วงแรกมีไม่กี่ครัวเรือน โดยให้ใช้ช่วยมาเก็บมะพร้าว ซึ่งอยากให้มีการนำเสนอข้อมูลในส่วนนี้ด้วย และตนก็พร้อมให้ข้อมูล โดยในขณะนี้ชาวราไวย์ได้รับผลกระทบมาก เพราะภาพที่ออกมาว่า ชาวราไวย์รังแกชาวเล ซึ่งไม่เป็นความจริง จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นตนคิดว่าคงไม่สามารถที่จะแก้ไขในระดับพื้นที่ได้ เพราะได้กลายเป็นปัญหาระดับประเทศไปแล้ว ต้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขดูแล โดยในส่วนแนวทางของพวกตนคือ ยังยืนยันว่าต้องการให้รัฐบาลเข้ามาซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งชุมชน จากนั้นก็เข้าบริหารจัดการ สร้างบ้านเรือน ให้มีการจัดระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งจัดให้มีลานวัฒนธรรม เพื่อจะได้ใช้เป็นพื้นที่ในการสืบสานวัฒนธรรมของชาวเล เนื่องจากปัจจุบันชุมชนชาวเลเองก็อยู่กันอย่างแออัด มีครัวเรือนถึง 200 กว่าครัวเรือน มีประชากรกว่า 2,000 คน ทั้งนี้ อยากขอความเป็นธรรมจากสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแลพวกตนด้วย

ด้าน นางกฤติยา เสงี่ยมกุล เจ้าของที่ดิน กล่าวว่า ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 2 ไร่ เลขที่ที่ดิน 12608 ซึ่งซื้อมาจากกรมบังคับคดี โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีเจ้าของที่ดินทั้งหมด 5 ราย จำนวน 19 ไร่ โดยที่ผ่านมานั้นพวกตนได้รับผลกระทบมาตลอดไม่สามารถใช้สิทธิในที่ดินได้ เนื่องจากถูกกลุ่มชาวเลเข้ามายึดครองในที่ดินดังกล่าว ทั้งที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย จึงอยากจะเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชน รวมทั้งฟ้องศาลปกครอง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการไต่สวนของศาล อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาขัดแย้งของคนในชุมชนหาดราไวย์ต่อไป ทางเจ้าของที่ดินทั้ง 5 ราย พร้อมที่จะเสนอขายที่ดินทั้ง 19 ไร่ แก่ภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และจังหวัดต่อไป

ขณะที่ นายชนะ ชาวนา ตัวแทนบริษัทบารอนฯ ซึ่งทำหน้าที่รับเหมางานก่อสร้างในที่ดินแปลง 33 ไร่ ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องทางเดินสาธารณะ และที่ตั้งบาลัย กล่าวว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวทางบริษัทซื้อมาถูกต้องตามกฎหมายเป็นมือที่ 4 แล้ว ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิเอง ซึ่งที่ดินแปลงนั้นซื้อมามูลค่านับ 1,000 ล้านบาท เดิมทีจะสร้างเป็นรีสอร์ตเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับชาวเลก็ต้องชะลอการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อนเพื่อให้เหตุการณ์คลี่คลาย แต่ขณะนี้ทางกลุ่มชาวเลเองยังเดินหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในลักษณะอ้างว่าพวกตนเป็นฝ่ายผิด และมีหน่วยงานบางองค์กรเข้าไปดำเนินการในลักษณะที่เข้าข้างชาวเลฝ่ายเดียวโดยไม่ได้มาสอบถามข้อมูลขากพวกตนเลย

“ขณะนี้ทางกลุ่มเจ้าของที่ดินแปลง 19 ไร่ ซึ่งมีผู้ถือครองโฉนดมากกว่า 10 ราย และแปลง 33 ไร่ ของบริษัทบารอน กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน และเกี่ยวกับทำงานขององค์กรบางองค์กรยื่นศาลปกครอง และยื่นนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยสอบถามข้อมูลจากฝั่งเจ้าของที่ดินข้อมูลทั้งหมดดำเนินการฝ่ายเดียวเฉพาะกลุ่มชาวเล ทั้งๆ ที่ฝั่งเจ้าของที่ดินก็เป็นคนไทย และได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน นอกจากนี้ ก็จะตรวจสอบการทำงานของกรมที่ดินว่าออกโฉนดมาได้อย่างไร เพราะมีบางหน่วยงานไปอ้างว่าเอกสารสิทธิออกโดยมิชอบ และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานพิเศษบางหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลว่า เอกสารสิทธิของที่ดินมิชอบด้วยกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 12.30 น.วันเดียวกัน กลุ่มตัวแทนชาวเลหาดราไวย์ ประมาณ 200 คน นำโดย นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชาวเลหาดราไวย์ ได้มารวมตัวกันที่ด้านบริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยได้มีการนำร่ม ผ้าเต็นท์มากาง และมีอาการมานั่งปักหลักอยู่ที่ริมถนนหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อสอบถามความคืบหน้าข้อสรุปกรณีการแก้ปัญหาชุมชนชาวเลราไวย์ที่มีปัญหากับเจ้าของที่ดินเรื่องของทางเดินสาธารณะ และที่ตั้งโต๊ะบาลัย รวมไปถึงเหตุการณ์ชุลมุนที่มีการทำร้ายร่างการกันระหว่างชายฉกรรจ์ กับชาวเลราไวย์ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชาวเลราไวย์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นระหว่างชาวเลราไวย์ กับกลุ่มชายฉกรรจ์เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายนั้น ได้มีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระดับส่วนกลาง และระดับท้องถิ่น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทหน้าหาดราไวย์ได้มีการประชุมกันในวันที่ 2 ก.พ.59 ที่ผ่านมานั้น โดยกำหนดให้ได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน ซึ่งวันนี้ (11 ก.พ.) พวกตนจึงเดินทางมาเพื่อสอบถามความคืบหน้าใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ การตรวจสอบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ประกอบพิธีกรรม (บาลัย) ที่มามีตั้งแต่อดีต การกั้นแนวเขตพื้นที่สาธารณะที่ตรวจสอบแล้วให้จัดเจน ผลการตรวจสอบทหารบกชุดที่มาคุ้มครองแรงงานเอกชนเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ว่า ได้รับคำสั่งโดยชอบหรือไม่ และการดำเนินคดีต่อกลุ่มวัยรุ่นที่ทำร้ายชาวเลราไวย์ รวมถึงการเยียวยาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเรื่องทั้งหมดนี้ได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวเลยังคงปักหลักอยู่หน้าศาลากลางรอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่ติดภารกิจงานไทยแลนด์ยอชต์โชว์ ที่อ่าวปอแกรนมารี่น่า อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หากถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่เดินทางมาพบก็จะปักหลักนอนค้างคืนที่ศาลากลางภูเก็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น