คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
----------------------------------------------------------------------------------
ถ้าไทยแลนด์ 4.0 หมายถึงเป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลนี้เน้นไปสู่ระบบการผลิตที่ใช้ฐานความรู้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นต้นทุน ใช้แรงงานคนและพลังงานน้อยลงประสานกับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิตอล รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้นและการมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ คำถามก็คือแล้วเราจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่า การพัฒนาของเราประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว หรือยังห่างจากเป้าหมายดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน
ตัวชี้วัดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางก็คือ การเปรียบเทียบสัดส่วนของการใช้พลังงานที่ใช้ในการผลิตและบริการกับรายได้ที่ได้รับ ถ้าเปรียบประเทศเป็นครอบครัวเดียว ก็ต้องมาคำนวณว่าในช่วงเวลาหนึ่งปี ครอบครัวนี้ใช้พลังงานทุกชนิดรวมเท่าใด (คิดเป็นหน่วยของพลังงาน นิยมใช้เทียบเท่ากับจำนวนตันของน้ำมันดิบ-ไม่ใช่ราคาพลังงาน) แล้วสามารถสร้างรายได้รวมกันได้หนึ่งล้านบาท นักวิชาการเขาเรียกสัดส่วนของสองจำนวนนี้ (โดยเอาพลังงานเป็นตัวตั้ง) ว่า ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity)
เช่น ถ้าใช้พลังงานรวมกัน 5 ตันน้ำมันดิบ แล้วสามารถสร้างรายได้ 0.5 ล้านบาท เราจะได้ว่า ความเข้มข้นของการใช้พลังงานเท่ากับ 10.0 ตันน้ำมันดิบต่อล้านบาท เป็นต้น
เนื่องจากแต่ละประเทศมีหน่วยวัดรายได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อจะได้เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ จึงนิยมเทียบกับรายได้ที่นับเป็นดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานสูง แสดงว่าต้องใช้พลังงานจำนวนมากแต่มีรายได้ต่ำ เพราะขาดความรู้และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเท่าที่ควร ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ในอนาคต แสดงว่าแนวโน้มของความเข้มข้นของการใช้พลังงานจะต้องลดต่ำลง
ก่อนที่จะกล่าวถึงความเข้มข้นของการใช้พลังงานของประเทศไทยที่มุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เรามาเปรียบเทียบค่าดังกล่าวของประเทศไทย มาเลเซียและชาวโลกกันก่อนครับ เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
ข้อมูลและกราฟที่ผมนำมาใช้มาจากบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานที่ชื่อ Enerdata ซึ่งก่อตั้งมานาน 30 ปีแล้ว ดูรูปประกอบ (หมายเหตุ ในการเปรียบเทียบแนวโน้มของการใช้พลังงานกับรายได้ เราไม่จำเป็นต้องสนใจหน่วยของความเข้มข้นของการใช้พลังงานก็ได้ แต่ใช้การเปรียบเทียบแนวโน้มว่าของใครเพิ่มขึ้นหรือลดลง)
จากข้อมูลดังกล่าว เราสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วทั้งโลกมีค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงานลดลงประมาณ 29% ส่วนประเทศมาเลเซียใช้เท่าเดิม แต่ของประเทศไทยเรากลับเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
นี่แสดงว่า ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยกำลังไปในทางตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลนี้ประกาศและกำลังดำเนินการอยู่
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเอง (อ้างอิงในภาพข้างล่าง) ระบุว่าค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงานลดลงเล็กน้อยในช่วง 2539 ถึง 2559 แต่ในแผนอนุรักษ์พลังงาน 2015 รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายว่าจะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 25% เมื่อเทียบกับของปี 2548 ภายในปี 2573
จากข้อมูลดังกล่าว สมมติว่าเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการลดลงดังกล่าวก็ยังห่างจากเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้มาก
จากนิยามเรื่องความเข้มข้นของการใช้พลังงาน เราสามารถตีความหมายรวมถึงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) เช่น การติดฉนวนเพื่อไม่ให้พลังงานรั่วไหลโดยไม่จำเป็น และรวมถึงการประหยัดพลังงานได้ด้วย เพราะทั้งสองกิจกรรมดังกล่าวย่อมนำไปสู่การใช้พลังงานน้อยกว่าเดิมแต่มีรายได้เท่าเดิม นั่นคือ ค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงาน ย่อมลดต่ำลง
ตัวอย่างการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพในรัฐแคลิฟอร์เนีย
รัฐแคลิฟอร์เนียได้ถูกจัดให้เป็นรัฐที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดของสหรัฐอเมริกาโดยในปี 2016 รัฐแคลิฟอร์เนียใช้งบประมาณในโครงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพในภาคไฟฟ้าถึง 1,364 ล้านดอลลาร์ โดยสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 3,909 ล้านหน่วย
เหตุผลหลัก 3 ประการของการมีโครงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ คือ (1) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (2) ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น และ (3) หลีกเลี่ยงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (รายละเอียดและอ้างอิงใน 2 ภาพถัดไป)
ตัวอย่างจากโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา
โรงพยาบาลจะนะเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เป็นผู้อำนวยการ
จากเอกสาร “ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ประจำปี 2560” พบว่าในปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-ก.ย.60) โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้ไฟฟ้าปีละ 0.768 ล้านหน่วย คิดเป็นเงิน 3.080 ล้านบาท (เฉลี่ย 4.01 บาทต่อหน่วย) โดยมี 5 มิเตอร์ แต่มิเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคิดเป็น 69% ของไฟฟ้าทั้งหมด (เฉลี่ย 3.96 บาทต่อหน่วย)
จากเฟซบุ๊กของคุณหมอสุภัทร พบว่าทางโรงพยาบาลได้ริเริ่มโครงการ “ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ” โดยการกระทำ 3 อย่างในเวลาใกล้เคียงกัน คือ
หนึ่ง เข้าโครงการของกระทรวงพลังงาน ในการเปลี่ยนหลอด LED ทั้งโรงพยาบาลและเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นระบบ invertor ไปถึง 66 ตัว เป็นงบประมาณ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลต้องสมทบ 30%
สอง ได้ปรับระบบการทำงาน โดยเฉพาะส่วนของงานซักฟอกและระบบการนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์ โดยจัดให้มีการเหลื่อมเวลาการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมๆ กัน ซึ่งได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาดหมายมาก (ผมเข้าใจว่าเพื่อต้องการลด Load ลงมา)
สาม ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 20 กิโลวัตต์ แบบเชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่มีแบตเตอรี่ ด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาลประมาณ 8 แสนบาท เพื่อลดพีคการใช้ไฟในเวลากลางวันลง โดยเริ่มผลิตไฟได้ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2560
เนื่องจากคุณหมอไม่ได้บอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทำให้ผมต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ประมาณเอา ได้ผลลัพธ์ดังตารางในแผ่นภาพครับ
จาก 3 มาตรการที่ทางโรงพยาบาลจะนะใช้ สามารถประหยัดพลังงานได้ 14,333 หน่วย (หรือลดลง 35%) ประหยัดเงินลงได้ 54,737 บาท (หรือลดลง 34%) นี่แค่เดือนเดียวนะครับ
ปัญหาคือ พลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดได้จำนวน 14,333 หน่วยนั้นมาจากกิจกรรมอะไรบ้าง
เนื่องจากคุณหมอสุภัทรไม่ได้รายงานจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ แต่ผมประมาณว่าในเดือนธันวาคมน่าจะได้ประมาณ 2,245หน่วย ดังนั้นจากกิจกรรมที่เหลือจึงมีผลทำให้พลังงานไฟฟ้าลดลงถึง 12,088 หน่วย
หรือลดลง 29% ของจำนวนที่ไม่มีโครงการ ผมรู้สึกว่าเป็นร้อยละที่ลดลงเยอะมาก
คุณหมอสุภัทร ได้เขียนความรู้สึกของตนว่า “พลังแสงอาทิตย์คือพลังงานที่เราต้องรักและคิดถึง”แต่ผมคิดว่าถ้าคุณหมอได้เห็นข้อมูลนี้แล้ว อาจจะต้องรักและคิดถึง “การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ” ด้วย และอาจจะมากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์เสียด้วยซ้ำ
ผลสัมฤทธิ์ของ “การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ” ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลจะนะครั้งนี้ (แม้จะเป็นเพียงเดือนเดียวเท่านั้น-แต่นักวิชาการพลังงานทราบมาก่อนแล้ว) ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากๆ
สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องขยายผลให้ได้รับทราบกันในหมู่ภาคประชาสังคม หน่วยงานอื่นๆ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในระดับนโยบายของประเทศให้จงได้
ผมเข้าใจว่า โครงการของกระทรวงพลังงานที่ได้ทำร่วมกับโรงพยาบาลจะนะครั้งนี้ น่าจะมาจาก “กรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน” ซึ่งกรมดังกล่าวก็น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงผลดีของการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ แต่ผมรู้สึกว่าข้าราชการของกรมฯ ก็ไม่มีพลังมากพอที่จะต้านกระแสของพวกที่พยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้
ที่หนักกว่านั้นก็คือมีความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นพระเอก แต่ปัจจุบันนี้คือผู้ร้ายตัวฉกาจของโลกครับ
ในบทความนี้ ผมได้เริ่มต้นด้วย “ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน” ที่ข้อมูลขององค์กรต่างประเทศชี้ว่าประเทศเรากำลังเพิ่มสูงขึ้น (ซึ่งย้อนแย้งกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0) ผมได้นำเสนอเหตุผลสำคัญของการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพของรัฐแคลิฟอร์เนีย และตามด้วยผลงานจากการปฏิบัติจริงอันยอดเยี่ยมของโรงพยาบาลจะนะ
ผลลัพธ์ออกมาตรงกันว่า การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีผลมากกว่าการติดตั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์เสียอีก ต้นทุนก็น้อยกว่า และแน่นอนว่ามีผลดีกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าอะไรก็ตาม
เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้ผมคิดถึงพุทธวจนะ ที่ว่า “อย่าคิดว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่า”
หรืออย่าคิดว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มจึงจะดี สิ่งอื่นเปล่า แต่ความจริงประจักษ์ชัดแล้วว่าการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยประการทั้งปวงครับ