ส่วย...เดือนละ 100 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการในภูเก็ตต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ยินแล้วเชื่อว่าทุกคนต้องตกใจ! กับตัวเลขมหาศาลในแต่ละเดือน และมีคำถามตามมาอีกว่า...เรื่องจริงหรือ จ่ายให้ใคร จ่ายทำไม แล้วทำไมต้องจ่าย
เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บส่วยในภูเก็ต โดยเฉพาะในย่านท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่างป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งถูกเปิดเผย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี ในขณะนั้นผู้ประกอบการสถานบันเทิงป่าตอง ในนามชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง นำโพยรายชื่อหน่วยงานของรัฐในขณะนั้น 16 หน่วยรับส่วยมาแฉ ปิดหูปิดตาเจ้าหน้าที่ เปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับการเรียกร้องให้แก้กฎหมายสถานบันเทิง ขยายเวลาเปิดให้สอดคล้องต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หลายครั้งหลายคร่า บางครั้งผู้ประกอบการก็ออกมาปฏิเสธ ไม่ได้จ่ายส่วย แต่เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นแบบนี้นานนับ 10 ปี
จนล่าสุด มีการนำเรื่องส่วยมาแฉอีกครั้ง สะดุดตรงตัวเลขเดือนละ 100 กว่าล้าน ที่ผู้ประกอบการในภูเก็ตต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐกว่า 30 หน่วย ที่เกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งใน และนอกพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เรียงแถวมารับกันทุกๆ เดือน จนผู้ประกอบการแทบรับไม่ไหว
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการจ่ายส่วย และรับส่วยในภูเก็ต เพราะแม้แต่จเรตำรวจที่ลงมาตรวจสอบเรื่องนี้เองก็ยอมรับต่อสื่อมวลชนว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในมือแล้ว รวมทั้งหลักฐานต่างๆ ส่วนใครจะเกี่ยวข้องบ้างก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ส่วนตัวเลขจะทะลุ 100 ล้านต่อเดือนตามที่แฉกันในขณะนี้หรือไม่นั้น คนรับและคนจ่ายเท่านั้นที่รู้ และคนทำผิดกฎหมายเท่านั้นที่ยอมจ่ายส่วย
เห็นชัดๆ กรณีของสถานบันเทิงป่าตอง ยอมจ่ายส่วยให้แก่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะต้องการเปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดตีหนึ่ง หรือตีสอง อ้างยังไม่ทันได้ทำเงินก็ต้องปิดแล้ว นักท่องเที่ยวออกมาดื่มกินหลังเที่ยงคืน อยากเปิดจนถึงตีสี่ตีห้า ยอมจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็ถูกผู้รักษากฎหมาย จับ ปรับ บาร์เบียร์ สถานบันเทิงเล็กๆ 3-4 แสน ใหญ่หน่อยก็เป็นล้าน ถือว่าคุ้ม ถ้าไม่คุ้มคงไม่จ่ายกันมาถึงตอนนี้
เช่นเดียวกับร้านค้าตามแนวชายหาด และถนนสายหลักในป่าตอง และแหล่งท่องเที่ยวดังๆ ทั่วเกาะ ที่เปิดขายสินค้าละเมิดสิขสิทธิ์แบรนด์ดังๆ นำโพยออกมาแฉกันอยู่เรื่อยๆ จ่ายให้หน่วยโน้นหน่วยนี้แลกกับเปิดร้าน วันไหนหน่วยเหนือเข้มงวดก็ขอจับกันบ้าง ก็ว่ากันไป ถ้าส่วยไม่ปิดหูปิดตาเจ้าหน้าที่รัฐ มีให้จับกันได้ทุกวัน หรือแม้แต่ส่วยแรงงานต่างด้าว ชาวต่างชาติ บ่อนการพนัน และอื่นๆ ที่ล่อแหลมต่อการทำผิดกฎหมาย ก็ยอมจ่ายทั้งนั้น win-win กันทั้งคู่ ผลประโยชน์ลงตัว ทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐ
สอดคล้องต่อการตรวจสอบของรักษาการจเรตำรวจแห่งชาติ ที่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และระบุว่า ส่วยในภูเก็ตมีจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องจริงในหลายรูปแบบ ทั้งส่วยสถานบันเทิง ส่วยแรงงานต่างด้าว สินค้าระเบิดลิขสิทธิ์ บ่อนการพนัน และธุรกิจผิดกฎหมายทุกรูปแบบ จนนำไปสู่การออกคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจภูเก็ต และนอกพื้นที่แล้ว 12 นาย ตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ผู้กำกับ สภ.ป่าตอง รองผู้กำกับสืบสวน สภ.ป่าตอง ดาบตำรวจลูกน้องคนสนิทของ ผกก.สภ.ป่าตอง รวมทั้งสารวัตรตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สารวัตร ปคม.เป็นต้น
ผู้ประกอบการเองยอมรับว่า จ่ายส่วยให้ตำรวจจริงเพื่อให้สามารถเปิดสถานบันเทิงได้จนถึงตีสี่ตีห้า นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิงหาดป่าตอง ระบุว่า จริงๆแล้วไม่อยากพูดเรื่องส่วยแล้ว เพราะมีการพูดกันมาเยอะ ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมายาวนาน
“สิ่งที่จะทำให้ปัญหาส่วยหมดไปจะต้องมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถานบันเทิง ให้สามารถเปิดได้จนถึงตีสี หรือตีห้า ตามที่ผู้ประกอบการเรียกร้องมานานแล้ว การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้เกิดช่องว่าง จนเป็นเหตุให้มีการเก็บส่วย จ่ายส่วยเกิดขึ้น” นายวีรวิชญ์ กล่าวและว่า
มันเป็นเรื่องของการสมยอมระหว่าง คนจ่าย คือ ผู้ประกอบการ และคนเก็บ คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเป็นสิ่งที่วินวินทั้งคู่ คนจ่ายยอมจ่ายเพื่อให้สามารถเปิดเกินเวลาได้ ส่วนคนรับก็ต้องการหารายได้ และยอมที่จะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย
การเรียกเก็บส่วยในจังหวัดภูเก็ต ไม่ได้มีเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่เท่านั้น ยังมีหน่วยงานจากที่อื่น หน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ที่มีอำนาจ และอาศัยช่องว่างของกฎหมายลงมาเก็บอีกจำนวนมาก
นายวีรวิชญ์ ย้ำว่า การสั่งย้ายผู้กำกับป่าตอง และตำรวจคนอื่นๆ เป็นการแก้ปัญหาส่วยภูเก็ตที่ปลายเหตุ หน่วยที่เกี่ยวข้องน่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ เรื่องเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง และเพิ่มบทลงโทษคนเก็บส่วยให้มากขึ้น
เช่นเดียวกับ นายชัยรัตน์ สุขบาล ผู้ประกอบการบันเทิงในซอยบางลา หาดป่าตอง ออกมาพูดในแนวทางเดียวกันถึงการแก้ปัญหาส่วยภูเก็ตจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายไป บางครั้งกฎหมายล้าหลังเกิน ทำให้เกิดช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ เช่น เมืองท่องเที่ยวอย่างป่าตอง สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลอย่างมหาศาล แต่สถานบันเทิงกลับปิดเพียงแค่ตี 2 ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายจะต้องแก้กฎกระทรวง แก้กฎหมายให้เดินควบคู่กันไปได้
จ่ายกันแบบไหน!!! มีหลายแบบให้เลือกหลายรูปแบบ แบบแรก ผู้ประกอบการยินดีจ่าย เพราะรู้และยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นการทำผิดกฎหมาย คนเหล่านี้จะวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจ หรือเจ้าหน้าที่ที่ถือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเคลียร์จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละเท่าไหร่แล้วแต่จะมีการตกลง ซึ่งบางครั้งไม่ได้จ่ายให้แค่หน่วยงานเดียว แต่จะจ่ายให้แก่หลายๆ หน่วยงาน เป็นการสมยอมกันทั้งในส่วนของคนจ่าย และคนรับ
รูปแบบจ่ายเพราะจำยอม กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รู้ว่าทำผิด แต่จะแสร้งทำเป็นไม่รู้ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจก็จะเข้าจับกุมโดยไม่เรียกรับส่วยเพื่อแลกต่อการไม่จับ แต่จะจับกุมไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้กระทำความผิดทนไม่ไหวต่อการที่จะต้องเสียค่าปรับ และเสียเวลา สุดท้ายก็จะยอมเข้าพบกับผู้มีอำนาจที่ถือกฎหมาย เพื่อขอจ่ายเงินแลกต่อการไม่ถูกจับ สุดท้ายทั้งผู้ประกอบการ และคนมีอำนาจก็สมประสงค์ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการสมยอมกันทั้งๆ ที่อีกฝ่ายไม่ค่อยจะเต็มใจมากนัก แต่ก็ต้องยอมเพื่อให้สามารถทำผิดกฎหมายได้
รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบการเก็บส่วยที่น่ากลัว เรียกกันว่า “โรโบค็อป” เป็นคนนอกราชการ ไม่ใช่ข้าราชการ แต่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายจากผู้ที่ถือกฎหมาย ซึ่งอาจจะได้รับการแต่งตั้งเป็นอาสา หรืออะไรก็ตามขอให้มีอำนาจ โดยกลุ่มนี้จะไปเก็บส่วยจากผู้ประกอบการเพื่อมาส่งให้นายและแบ่งไว้ส่วนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ การเก็บของกลุ่มนี้เป็นการเก็บที่น่ากลัว เก็บแบบไม่เกรงใจใคร ไม่ว่าจะผิดมาก หรือผิดน้อย แต่เก็บไม่ไว้หน้าจนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว
และกลุ่มที่ 4 กลุ่มนักบิน-กัปตัน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถือกฎหมาย และจะลงมาเฉพาะกิจ เช่น ชุดเฉพาะกินต่างๆ มาถึงพื้นที่จะใช้วิธีโฉบ และเรียกเก็บตามที่ต่างๆ ที่มีข้อมูล และเก็บกันเป็นประจำซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าจะต้องเข้าเก็บที่ไหนบ้าง ทั้งสถานบันเทิง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แรงงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเก็บส่วนที่ภูเก็ตไม่ได้เก็บกันหน่วยเดียว แต่เก็บกันหลายสิบหน่วย
แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาการเก็บส่วย ปัญหาคอร์รัปชันเกิดมานานแล้ว ซึ่งสังคมของบ้านเมืองเราเป็นสังคมอุปถัมภ์ ใครช่วยเราเราก็ต้องตอบแทน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ทำให้เป็นที่มาของการจ่ายส่วยเรียกรับส่วยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสมยอมกันทั้งคนให้และคนรับ
“รากเง้าของปัญหาส่วย เป็นปัญหาของประเทศไทย การจะล้างส่วย หรือล้างคอร์รัปชันจะต้องทำให้คนเกิดความเท่าเทียมในสังคม เมื่อมีความเท่าเทียมก็จะทำให้คนไม่ต้องใช่อภิสิทธิ์ เมื่อสังคมเศรษฐกิจดีขึ้นความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะหมดไป คนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายส่วยเพื่อให้ตัวเองสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ”
ส่วยภูเก็ตเดือนละ 100 ล้านบาท กำลังเป็นที่จับตามองของสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องเร่งสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง
สุดท้ายแล้ว ปัญหาการเก็บส่วยในจังหวัดภูเก็ตจะเป็นอย่างไรคงจะต้องรอฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี และบิ๊กตำรวจว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากออกมาประกาศว่าจะต้องจัดการข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด หรือจะเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ที่ให้ขยายเวลาเปิด-ปิด เพื่อปิดช่องว่างเจ้าหน้าที่เรียกเก็บผลประโยชน์จากการทำผิดกฎหมายของผู้ประกอบการ