ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิกฤตยางราคาตกต่ำส่อบานปลาย “สุนทร” ร่อนแถลงการณ์อีก จี้ให้สังคมตรวจสอบสัมพันธ์ลึกภรรยาประธานบอร์ด-ผู้ว่า กยท.ที่อาจจะไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ผู้อาวุโส “อุทัย” ฟังธงใครที่ทำให้ยางพังทั้งระบบ เผยมีสัญญาณว่าผู้นำสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศจะรวมตัวบอยคอตไม้ร่วมสัมมนาใหญ่ที่ กยท.จัดที่กระบี่ 1-3 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 ต.ค.) นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมภาพประกอบด้วยอีกครั้ง มีข้อความขึ้นต้นว่า เรียนพี่น้องชาวสวนยาง เรื่องปัญหาราคายางตกต่ำ จากนั้นตามด้วยเนื้อหาระบุว่า บุคคลในรูปคือ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 2 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการยางไทย
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เป็นนายทหารที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ยังติดกรอบความคิดเดิมๆ แบบข้าราชการเก่า และไม่เคยฟังเสียงเกษตรกรชาวสวนยาง กลับเชื่อแต่เจ้าหน้าที่ กยท.ที่ห้อมล้อมด้วยกลยุทธ์หมากลวง จนติดกับดัก แต่ยังบอกว่า ตัวเองว่าเอาอยู่ ส่วนนายธีธัช พวกเราพอจะรู้ที่มาที่ไป และประวัติที่ผ่านมา สังคมก็ยังเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส
และ 2 คนชอบพูดตรงกัน คือ ราคายางปีนี้จะไม่น้อยกว่า 60 บาทบ้าง หรือสัปดาห์หน้า 70 บาทบ้าง คือ พูดแบบมีคนเขียนบทให้ เพื่อจะส่งผลทางจิตวิทยาด้านการค้า ซึ่งเวลาพูดแบบนี้คราใด ราคายางร่วงลงเกือบทุกครั้ง
“แต่วันนี้เกิดวิกฤตการณ์ราคายางอีกครั้ง ราคายางตกต่ำเหลือ 40 บาท ราคายางก้อนถ้วยต่ำกว่า 5 โลร้อย เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส รายรับไม่พอต่อรายจ่าย ต้องอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อ ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน หนี้สินพอกพูนจนล้นพ้นตัว หลายรายจวนจะผูกคอตายกันแล้ว” นายสุนทร ระบุและเสริมว่า
“ที่ผ่านมา พี่น้องชาวสวนยางได้เปิดโอกาสให้บริหารงาน กยท.มานานพอสมควร แต่ผลงานเป็นตัวสะท้อนความสามารถ และประสิทธิภาพในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี และทั้งสองจะรับผิดชอบต่อกรณีการบริหารงาน กยท.ที่ล้มเหลวจนไม่สามารถรักษาเสถียรภาพราคายางพาราได้อย่างไร รบกวนช่วยพิจารณาตัวเองด้วยนะครับ อย่าให้เกษตรกรชาวสวนยางต้องชุมนุมขับไล่”
นอกเหนือจากเรื่องราคายางตกต่ำแล้ว ยังผิดพลาดจากการเก็บภาษี Cess อัตราคงที่ 2 บาท แปลว่า เกษตรกรชาวสวนยางต้องจ่ายค่าธรรมเนียมส่งออกยางเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อยาง 1 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อพ่อค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการกดราคายางในขณะนี้ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้คัดค้านแล้ว แต่ท่านไม่ฟัง
“และมีข่าวลือหนาหู ซึ่งผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อ คือ เรื่องที่ผู้ว่าการยางคนนี้เป็นญาติกับภรรยาของท่านประธานบอร์ด อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น เรื่องนี้รบกวนสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย เพราะเสียงซุบซิบแบบนี้มันไม่แฟร์กับท่าน ก้ำกึ่งเรื่องส่วนตัวกับผู้มีส่วนได้เสียในกิจการของรัฐ และควรเร่งสร้างความกระจ่างแก่สังคม เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบธรรมาภิบาลและความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจไทย” นายสุนทร ตบท้าย
ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และประธานภาคีเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ในฐานะผู้นำอาวุโสชาวสวนยาง ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องยางไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นว่า “ใครที่ทำให้ยางพังทั้งระบบ?” เนื้อหาดังนี้
“ผมในฐานะที่อยู่กับยางมา 55 ปี พอที่จะมองเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นต่อวงการยาง ที่ผ่านมา ราคายางย่อมมีขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรมาโดยตลอด และในสมัยที่เป็น สกย.ปัญหาความขัดแย้งไม่เคยรุนแรงเท่ากับสมัย กยท. ซึ่งในสมัยปี 2508 ราคายาง 14 บาท/กก. แต่ราคาข้าวแกง 5 บาท/จาน ในปัจจุบันราคายาง 45 บาท/กก. ข้าวแกง 40 บาท/จาน”
นายอุทัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่มี พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 2503 ที่ผ่านมา ผู้บริหารทุกคน รวมทั้งพนักงาน สกย.และเกษตรกรชาวสวนยางต่างรักสามัคคีกัน ไม่แตกแยกกัน ไม่เคยมีเกษตรกรออกมาขับไล่ผู้บริหาร เหมือนสมัยนี้ที่ได้เปลี่ยนมาเป็น กยท. ซึ่งตั้งมาแต่ปี 2558 เพียง 2 ปีเศษ ที่เราต้องงรวม 3 องค์กรเป็นองกรเดียวเพื่อการบริหารงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
“อีกประเด็นหนึ่งก็คือ กยท.ร่วมลงทุนกับ 5 เสือ ซึ่ง สยยท.คัดค้านมาตลอด แต่ไม่มีใครรับฟัง สยยท.ใด้แต่เฝ้าดูราคายางไม่เคยขึ้น หนำซ้ำกลับต่ำกว่าเดิม ซึ่ง กยท.จะต้องยอมรับฟัง แต่ก็ยังเพิกเฉย จนกระทั่ง กยท.ซื้อยางแบบใหม่ มีการวางแผนจะซื้อครั้งละตลาดที่มียางน้อยๆ และเสนอราคาสูงถึง 61.50 บาท/กก. แต่ตลาดของ กยท.อีก 5 ตลาด ต่างกัน 4-5 บาท/กก. และนำเสนอรัฐว่า ราคายาง 60 บาทขึ้นไป ซึ่งใม่ใช่ของจริงเลย”
นายอุทัย เพิ่มเติมด้วยว่า แต่ที่เกิดปัญหาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ที่เปิดตลาดมาตั้งแต่ปี 2534 ไม่เคยมีการปิดตลาด แต่ กยท.ในปัจจุบันกลับปิดตลาด เพื่อสะสางยางที่กองไว้ไม่มีมาตรฐาน หรือนำไปทำลูกเต๋ายาง จึงคิดกันราคายางจะตกลงจากการซื้อในราคา 61.50 บาท/กก. ถ้าจะขายในปัจจุบันก็ไม่เกิน 40 บาท/กก.
เรื่องนี้ สยยท.เห็นว่า 5 เสือย่อมทราบดี และร่วมลงทุนกับ กยท.ด้วย แต่การปิดตลาดทำให้หมดความเชื่อถือต่อเกษตรกร ต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ และต่างประเทศ
“จากคำถามที่ว่า ยางจะพังทั้งระบบ ตามสาเหตุเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ และผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อยที่ขาดความเชื่อมั่นต่อผู้บริหาร กยท.แล้วจะให้ยางพาราไทยจะเดินต่อไปได้อย่างไรเมื่อเกิดรอยร้าว แต่อย่างไร สยยท.ยังมีความเชื่อมั่น” นายอุทัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากปัญหาราคายางตกต่ำ และนำไปสู่การไม่ยอมรับฝีมือในคณะผู้บริหาร กยท.และมีทีท่าว่าจะนำไปสู่การนัดแนะเพื่อชุมนุมขับไล่ทั้งบอร์ด และผู้บริหาร กยท.ด้วยนั้น สิ่งนี้ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งเมื่อ กยท.ได้กำหนดจัดสัมมนาใหญ่เรื่อง “สร้างตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา พัฒนาสู่การส่งออก” ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.2560 นี้ที่ จ.กระบี่ โดยได้เชิญผู้นำสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศเข้าร่วม ปรากฏว่า เริ่มมีการสั่งสัญญาณจากผู้นำชาวสวนยางบางกลุ่มแล้วว่า จะแสดงการบอยคอตไม่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้