xs
xsm
sm
md
lg

“ออมสิน” ยันมีนโยบายให้ราชการนำยางใช้ หนุนตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยันรัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในราชการ นำในสต๊อกกว่าแสนตันไปทำ แต่เพิ่งมีชงใช้แค่ 20% เผย กยท.จัดตั้งหน่วยธุรกิจ เล็งผุดบริษัทลูก ระบุอีก 2 ชาติเห็นพ้องกำหนดมาตรการตลาด เตรียมบินถกเร่งรัดประชุมที่มาเลย์ หนุนตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เข้ม พ.ร.บ.ควบคุมยาง

วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงข้อเรียกร้องของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐโดยประกาศให้นำยางพาราในสต๊อกจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน รักษาเสถียรภาพราคายางที่ยังคงอยู่จากการประมูลยางประมาณ 104,000 ตัน มาใช้ในประเทศ โดยให้หน่วยงานรัฐเสนอโครงการต่างๆ ที่จะนำยางพาราไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งขณะนี้มี 10 หน่วยงานที่เสนอความต้องการใช้ยางพารามาแล้ว รวมประมาณ 20,000 ตัน หรือร้อยละ 20% ของการใช้ยางในสต๊อกที่มีอยู่ และยังมีหลายหน่วยงานที่ตั้งงบประมาณปี 2560 ไว้ก็สามารถนำยางพาราในสต๊อกไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมากที่สุดได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำโครงการต่างๆ นำร่องที่จะนำยางพาราไปใช้ได้ ทั้งการจัดทำสนามเด็กเล่น ปูพื้นจากยางพารา สนามฟุตซอล โครงการยางล้อประชารัฐ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ

นายออมสินกล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยธุรกิจตาม มาตรา 49 (2) ซึ่ง กยท.ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นโดย แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยการผลิต ตลาดยางทั้งผลผลิตยางและไม้ยางลอจิสติกส์ การจัดหาเงินทุนรวมถึงสวัสดิการให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่าการบริหารจัดการทั่วไป ในขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่การแยกตัวเป็นบริษัท จำกัด โดยหน่วยธุรกิจนี้ได้ดำเนินการธุรกิจการค้าขายยางพารามาระยะหนึ่งแล้วด้วยการรับซื้อผลิตผลยางจากกลุ่มสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานทั้ง 6 โรงงานของ กยท. 

“อย่างไรก็ตาม กยท.ได้พูดคุยและขอคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทลูกเพื่อที่จะดำเนินการให้เกิดความคล่องตัวในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น และได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางเพื่อที่จะดำเนินการธุรกิจในนามบริษัทจำกัดให้ชัดเจน ทั้งนี้หากผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานของ สคร.แล้ว กยท.จะนำเสนอต่อ ครม.เพื่อผ่านความเห็นชอบต่อไป” นายออมสินกล่าว

นายออมสินกล่าวต่อว่า ในเรื่องมาตรการด้านการสร้างเสถียรภาพราคายาง มาตรการระหว่างประเทศ  ไทยมีบริษัทร่วมทุนกับ 3 ประเทศ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ กยท.ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการด้านกลยุทธ์การตลาดครั้งพิเศษ (CSMO) ที่ประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมา ก็เห็นร่วมกันที่จะเร่งกำหนดมาตรการทางการตลาด ที่มีต่อสถานการณ์ราคายางในปัจจุบัน เช่น ข้อตกลงเรื่องการจำกัดการส่งออก จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5-7 ก.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ประเทศมาเลเซียจะหารือเพื่อเร่งรัดให้จัดการประชุมในระดับรัฐมนตรี เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการผันผวนของตลาดในช่วงที่ผ่านมา และจะใช้มาตรการความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศให้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม 3 ประเทศเห็นว่ายังมีปัจจัยที่จะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ และแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาราคายางพาราจะต่ำ แต่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็ยังถือว่าราคาเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยความร่วมมือจากผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ทั้ง 5 ราย รวมทั้ง กยท.ลงเงินร่วมกันรายละ 200 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท ดำเนินการซื้อยางทั้งในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ และตลาดกลางในประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและเห็นว่าจะนำ พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเข้มงวดจริงจังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น