xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ แนะ 4 ข้อแก้วิกฤตยางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ นำทีมอดีต ส.ส.ยื่นหนังสือนายกฯ ชี้วิกฤตราคายางตกต่ำกระทบการดำรงชีพเกษตรกร และเศรษฐกิจ ชง 4 ข้อเสนอรัฐ แนะประกาศไม่ขายยางในสต๊อก นำไปแปรรูปใช้ในประเทศ กำหนดเกณฑ์การใช้มาประเมินงานผู้ว่าฯ ให้การยางฯ ตั้งบริษัทประกอบธุรกิจ ป้องกันซื้อขายกำไรเกินควร ประสานกลุ่มประเทศผู้ผลิตกำหนดแผนร่วมกัน

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 11.20 น. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ของพรรค เข้ายื่นหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า จากการปรึกษากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา พบว่าวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกร และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และสามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้ โดยการใช้การบริหารตลาดให้เหมาะสมซึ่งเคยกระทำสำเร็จมาแล้ว ในอดีตสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คุยกับผู้ผลิต 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตราคายางพารา คือ 1. ขอให้รัฐบาลใช้การบริหารตลาดโดยประกาศว่าจะไม่ขายยางพาราในสต๊อก และจะนำมาใช้ในประเทศไทยเท่านั้น 2. ให้เร่งรัดหน่วยงานของรัฐนำยางพาราไปแปรรูปใช้ในประเทศให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล และขอให้รัฐบาลกำหนดเรื่องการใช้ยางพารามาเป็นเกณฑ์การประเมินการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ประเมินการปฏิบัติงานของผู้บริหารในหน่วยงานที่สามารถใช้ยางพาราได้ และให้หน่วยงานนั้นแจ้งตัวเลขการใช้ยางพาราต่อรัฐบาลทุกๆ 4 เดือน

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า 3. ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของราคายางพารา ราคาไม่ได้เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน แต่มีการตั้งราคาเพื่อแสวงหากำไรตามใจผู้ซื้อ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) จึงควรจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดยเร็ว และป้องกันไม่ให้มีการตั้งราคาซื้อขายโดยแสวงหากำไรเกินควรจากผู้ซื้ออีก และ 4. ขอให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางกลาง ทั้งไทย, มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อกำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายร่วมกันอย่างชัดเจน หวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอทั้ง 4 ประการที่ได้จากการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราไปปฏิบัติโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น