ตรัง - ผู้ว่าฯ นำหลายฝ่ายลงพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนสร้างผลกระทบบ้านเรือนนับสิบหลังแล้ว ด้านนักวิชาการเสนอทำโครงการเติมทราย-ดักทราย เพื่อให้ชายหาดกลับสู่สมดุล
วันนี้ (10 ต.ค.) นายศิริพัฒ พัฒนกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายมเหสักข์ หิรัญตระการ ผอ.ส่วนบริหารพื้นที่ชายฝั่งและวิชาการ สบทช.7 ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านบนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ร่วมประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันเปิดเวทีกลางหมู่บ้าน เพื่อแสดงความคิดเห็น และบอกถึงปัญหาความเดือดร้อนซ้ำซากมานานกว่า 10 ปี อันเนื่องมาจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บริเวณชายหาดบนเกาะลิบง โดยเฉพาะหมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา จนสร้างผลกระทบให้แก่ชาวบ้านซึ่งปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่นับสิบหลัง และกำลังกัดเซาะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบนเกาะลิบง มีการแก้ไขมาตลอด แต่ไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ถูกจุด เพราะกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาทั่วประเทศ ตั้งแต่ปัตตานี สงขลาขึ้นมา ซึ่งทุกคนก็จะเอาโครงสร้างแข็งๆ มาสู้กับคลื่น ซึ่งจะทำให้ปัญหายิ่งลุกลามออกไป จึงขอแนะนำว่า ต้องบรรเทาปัญหาชั่วคราวก่อน โดยบ้านที่พังต้องรีบแก้ต้องรีบทำอย่างรวดเร็ว ยิ่งหน้ามรสุมเช่นนี้ต้องทำโครงสร้างอะไรก็ได้เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาให้แก่บ้านที่กำลังจะพังอีกหลายหลัง ส่วนในระยะยาวต้องมาศึกษาทางวิชาการว่า ทรายที่เข้ามาในหาด กับทรายที่ออกไปอันไหนมากกว่ากัน โดยจะต้องมีโครงการเติมทรายกับโครงการดักทราย เพื่อให้ชายหาดกลับสู่สมดุล
ด้าน นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ชาวเกาะลิบง อยากได้พนังกันคลื่นแบบโครงสร้างแข็งๆ และก็ได้มีการออกแบบมาแล้วในงบประมาณ 60 ล้านบาท แต่ต้องมีการระดมความคิดเห็นกับนักวิชาการในด้านธรณีวิทยาก่อนว่า ประโยชน์ที่ได้รับคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะอาจป้องกันเบื้องต้นได้ในระยะแรก แต่อนาคตพนังแบบนี้จะไปทำลายตรงจุดใหม่แทน จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหาต่อไป เบื้องต้น ได้สั่งให้ทำไม้กั้นแล้วปักเสาคู่ ก่อนเอากิ่งไม้ใส่ลงไป ซึ่งวิธีการนี้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ นอกจากนั้น ที่ดินที่มีการกัดเซาะอีกส่วนหนึ่งระยะทาง 470 เมตร อยู่ในความรับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จึงได้สั่งการให้ทาง อบต.รีบไปขออนุญาต เพื่อทางจังหวัดจะได้รีบไปประสานของบประมาณเพิ่มเติมมาดำเนินการให้