อดีต รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกต อนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เอาใจนักธุรกิจเหมืองหรือไม่ ชี้ ถ่านหินคุณภาพสูงมีเหลือน้อย แถมราคาแพงต้องแย่งซื้อกับประเทศที่รวยกว่า อาจต้องปรับสเปกใช้ถ่านคุณภาพรองที่ยังมีมากในอินโดนีเซีย แต่ไม่คุ้มค่าขนส่ง ขณะ กฟผ. ซื้อหุ้นเหมือง Adaro ไว้แล้ว เช่นเดียวกับ “ทักษิณ” ที่เคยติดต่อซื้อหุ้นเหมือง Bumi
วานนี้ (17 ก.พ.) เมื่อเวลา 17.22 น.ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการโพสต์ข้อความ ตั้งคำถามว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเพียงเพื่อเอาใจพ่อค้าถ่านหิน หรือไม่ โดยอ้างถึง ข่าวผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2558 นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Sasin Chalermlarp” แสดงความคิดเห็นกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่ ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น มีประเด็นว่าจะตั้งสเปกถ่านหินอย่างไร
ทางเลือกที่หนึ่ง ถ้าจะใช้ประเภทคุณภาพดี ที่ให้ความร้อน 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เถ้าถ่านน้อย ซัลเฟอร์น้อย ค่าความชื้นน้อยกว่า 30% (ประมาณเกือบเป็นถ่านหินชนิดบิทูมินัส) ก็จะมีปัญหาด้านแหล่งซื้อ เพราะเมื่อก่อนมีถ่านหินคุณภาพดีอย่างนี้ในอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบัน “หมดไปแล้ว” และถ้าจะยังมีเหลืออยู่ที่อินโดนีเซีย ก็มีจำกัด ถ้าจะใช้จริง ต้องแย่งกันซื้อ กับ ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ ที่รวยกว่าเรา ถ้าเราใช้โรงไฟฟ้าสเปกขนาดนี้ สุดท้ายก็จะต้องซื้อจากออสเตรเลีย ที่ไกล และขนส่งแพงมาก
ทางเลือกที่สอง ลดสเปกให้ใช้ถ่านหินคุณภาพต่ำลงมา ที่ให้ค่าความร้อน 3,000 - 4,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เถ้าถ่านไม่มากนัก ซัลเฟอร์ไม่สูงมาก
ซึ่งถ่านหินระดับสองนี้ ยังมีมากมหาศาลอยู่ที่อินโดนีเซีย แต่จะมีปัญหาด้านความชื้น เพราะจะสูงถึง 35 - 40% คนในวงการเขารู้กันว่า ถ้าซื้อมาก็จะเท่ากับซื้อน้ำและความชื้นในถ่านหินมาเผาด้วย คนในวงการจึงทราบว่า ถ่านหินชนิดนี้ เหมาะกับทำโรงไฟฟ้าที่ขอบเหมืองแร่ เหมือนแม่เมาะ เพราะขนมาก็ไม่คุ้มกับค่าขนส่ง !!!
“ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ค่อนข้างเล่นยากนะครับ ในแง่การจัดการหาถ่านมาใช้ เพราะถ่านที่สเปกสูง ต้องแย่งกับญี่ปุ่น เกาหลี อาจจะไม่พอในระยะยาว ในที่สุดต้องซื้อไกลถึงออสเตรเลีย ไม่ซื้อก็ไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าออกแบบไว้แบบนี้
ส่วนหากปรับสเปกเป็นถ่านคุณภาพต่ำ ก็ไม่น่าเล่น ตรงที่ต้องขนมาปริมาณเยอะ เขาไม่ค่อยขนมาทำโรงไฟฟ้าไกลจากเหมืองแร่
ถ้าจะเอา สู้ไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ปากเหมืองแล้วซื้อไฟมาตามสายน่าจะคุ้มกว่า
มองในแง่นี้ ไม่ต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เอาเรื่องการจัดการที่ต้องแย่งซื้อถ่านคุณภาพดี ผมว่า โรงไฟฟ้า อันดามัน ไม่น่าเล่นเชื้อเพลิงประเภท “ถ่านหิน” เลยครับน่าจะยุ่งยาก และมีปัญหาเรื่องถ่านขาดในอนาคต
จริงๆ แล้วน่าจะมองพลังงานตัวอื่นครับ
ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องอื่นๆ แล้วมั้ง
ยกเว้นว่า จะเอาใจนักธุรกิจสายค้าขายถ่านหิน ที่ไม่สนใจว่าจะซื้อจากไหน ไกล แพง อย่างไร เพราะ ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าได้ ไงๆ ก็ต้องหาถ่านมาเผาให้ได้ ก็จะมีบางคนรวยไม่รู้เรื่องบนความไม่รู้เรื่องของเราๆ ท่านๆ”
ผมเอามาเล่าต่อ แต่ยังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ครับ
ต่อมา เวลา 17.24 น. วันเดียวกัน นายธีระชัย โพสต์ข้อความอีกว่า โพสต์ที่แล้ว ผมนำเอาข่าว นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความเห็นว่า
ถ้ากำหนดสเปกสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ให้ใช้ถ่านหินคุณภาพต่ำลงมา ที่ให้ค่าความร้อน 3,000-4,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เถ้าถ่านไม่มากนัก ซัลเฟอร์ไม่สูงมาก ซึ่งถ่านหินระดับคุณภาพเป็นรองอย่างนี้ ยังมีมากมหาศาลอยู่ที่อินโดนีเซีย
แต่จะมีปัญหาด้านความชื้น เพราะจะสูงถึง 35 - 40% คนในวงการเขารู้กันว่า ถ้าซื้อมาก็จะเท่ากับซื้อน้ำและความชื้นในถ่านหินมาเผาด้วย จึงแนะนำให้มองพลังงานตัวอื่นแทน ยกเว้นว่า จะเอาใจนักธุรกิจสายค้าขายถ่านหิน ที่ไม่สนใจว่าจะซื้อจากไหน ไกล แพง อย่างไร
“ผมกลับไปดูข่าวที่ กฟผ. เข้าไปซื้อหุ้นในเหมืองถ่านหิน Adaro ที่อินโดนีเซียแล้ว เกิดความหวั่นใจว่า จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้จริง หรือไม่ หรือว่าจะเข้าข่ายที่คุณศศินตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สร้างโรงไฟฟ้าไปก่อน และถึงแม้การขนส่งถ่านหินที่ความชื้นสูงมาก เอามาเผา อาจจะไม่คุ้ม ถึงวันนั้น ก็จะเข้าลักษณะผีถึงป่าช้า หรือไม่
“เพราะ ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าได้ ไงๆ ก็ต้องหาถ่านมาเผาให้ได้ ก็จะมีบางคนรวยไม่รู้เรื่องบนความไม่รู้เรื่องของเราๆ ท่านๆ นั้น” เป็นจริงหรือไม่
แต่ที่น่าสงสัยมากกว่านั้น เมื่อปี 2556 ในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ มีข่าวว่าคุณทักษิณติดต่อสนใจจะซื้อหุ้นในเหมืองถ่านหินอินโดนีเซียอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท Bumi (ดูรูปภาพ)
ผมตรวจสอบข่าวหลังจากปี 2556 ไม่มีข่าวว่าการเจรจาซื้อหุ้นใน Bumi นั้นสำเร็จ แต่ถ้าเกิดมีประชาชนสงสัยว่า ภายหลังคุณทักษิณเจรจาซื้อหุ้นใน Bumi ไม่สำเร็จ คุณทักษิณเข้าไปซื้อหุ้นในเหมืองอินโดนีเซียอื่นแทน หรือไม่ เช่น เข้าไปซื้อหุ้นใน Adaro แทน โดยปิดข่าว เป็นได้หรือไม่
ดังนั้น การที่ กฟผ. ขออนุมัติ ครม. รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นใน Adaro นั้น ถ้าประชาชนเกิดตั้งคำถามว่า เป็นการจับมือส่งไม้ หรือจับมือคู่ไปกับบุคคลใดเป็นพิเศษหรือไม่ จะมีผู้ใดที่สามารถให้คำตอบที่กระจ่างชัดได้จริงหรือไม่
http://buyindonesiacoal.com/tag/thaksin-shinawatra
ต่อมา เมื่อเวลา 07.12 น. วันนี้ (18 ก.พ.) นายธีระชัย โพสต์ข้อความเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ (http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1464348570
) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่มีวาระเพื่อพิจารณา คือ การขายทิ้งธุรกิจถ่านหินของ ปตท. ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือหุ้นในบริษัท Sakari Resources Limited หรือ SAR ที่ ปตท. เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ในปี 2555 และมีการผลิตถ่านหินใน 2 แหล่งคือ Sebuku และ Jembayan กำลังผลิตรวมประมาณ 8 ล้านตัน/ปี
บอร์ดมีมติว่า ยังไม่ขายธุรกิจถ่านหินดังกล่าว แต่หากมีผู้เสนอซื้อกิจการธุรกิจเหมืองถ่านหินในราคาที่เหมาะสม ก็อาจจะมีการพิจารณาทบทวนได้
แสดงว่า การลงทุนในเหมืองถ่านหิน ไม่ดีอย่างที่ฝันไว้ แต่ยังจะตื้อต่อไปก่อน แต่มาวันนี้ กพช. มีมติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว
ปตท. คงติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดแน่นอน