xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์นักวิชาการ-เครือข่ายฯ แนะหาคนกลางทำเวทีสาธารณะปมโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน (แฟ้มภาพ)
“85 นักวิชาการ และเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” ออกแถลงการณ์ 3 ข้อสร้างสันติวิธีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ แนะรัฐบาลหา “คนกลาง” ทำเวทีสาธารณะ คลอบคลุมใน 4 ประเด็นหลัก

วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 85 นักวิชาการ และเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ออกแถลงการณ์ กรณีความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่การเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และเพื่อเป็นการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีที่จะเป็นยิ่งในห้วงเวลาของการเริ่มต้นกระบวนการปรองดองในสังคมไทยอย่างแท้จริง 3 ข้อ ดังนี้ 1. กรณีเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ เป็นกรณีรูปธรรมที่สะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยังคงดำรงอยู่ อันเนื่องมาจากเรื่องแนวคิดการพัฒนาประเทศ เรื่องทิศทางการพัฒนาด้านพลังงาน เรื่องกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เรื่องความแตกต่างของข้อมูลด้านพลังงาน เรื่องระบบการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปฏิรูป เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการกาหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว และเป็นโจทย์ท้าทายต่อการสร้างความปรองดอง รัฐบาล และสังคมไทยควรใช้เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันอย่าง สร้างสรรค์ หาทางเลือกทางออกโดยใช้สันติวิธี ทำให้เป็นจุดเริ่มต้น และผลลัพธ์รูปธรรมของการปฏิรูป การสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างแท้จริง และการกาหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ม.65) และเป็นภารกิจหลักของ ป.ย.ป.

2. รัฐบาลควรจัดเวทีสาธารณะที่เป็นกลางที่เป็นที่ยอมรับโดยทุกฝ่าย เพื่อให้ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ ได้ถกแถลงเหตุผลและข้อมูลของทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้ประชาชน ทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เป็นโอกาสของการสร้างการเรียนรู้เรื่องพลังงานแก่ สังคมไทย ให้มีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ รับรู้ภาระและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจ เลือกกำหนดนโยบายอย่างไร ทั้งนี้ อาจให้สถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อยจำนวน 3 สถาบัน ที่จัดการเรียนการสอน เรื่องพลังงาน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมกันเป็นองค์กรเจ้าภาพจัดเวทีและกระบวนการดังกล่าว และเป็นผู้รายงานสรุปผลการจัดเวทีสาธารณะเสนอต่อรัฐบาลและเผยแพร่ต่อสาธารณะ และให้รัฐบาลนารายงานดังกล่าว เป็นฐานในการกำหนดตัดสินใจทางนโยบายต่อไป

3. การจัดเวทีสาธารณะและการตัดสินใจทางนโยบาย ควรมีประเด็นที่ครอบคลุมอย่างน้อยใน 4 เรื่อง ดังนี้ 3.1 การพิจารณาถึงความสอดคล้องกับเป้าหมาย เป้าประสงค์ และตัวชี้วัดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันทางการเมืองในการมุ่งมั่นดำเนินการให้บรรลุผลตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา 3.2 การพิจารณาถึงความสอดคล้องกับพันธสัญญาภายใต้ “ความตกลงปารีส” ที่ประเทศไทยได้ ตั้งเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 - 25 จากอัตราการปล่อยปกติให้ได้ภายในปี 2573 และ ต้องมีการทบทวนเป้าหมายดังกล่าวให้มีระดับก้าวหน้าขึ้นทุกๆ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป 3.3 การพิจารณาถึงเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3.4 การพิจารณาถึงทางเลือกของการจัดหาพลังงานอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นพลังงานฟอสซิล พลังงาน หมุนเวียน โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโดยรวมของแต่ละทางเลือก ทั้งที่เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ อาทิ นายสุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศืกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมาย นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น