xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสงขลาปลูกผักป่าแบบผสมผสาน จนกลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ภายในครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรใน จ.สงขลา หันปลูกพืชผักป่าแบบผสมผสาน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” จนประสบความสำเร็จ สามารถนำมาทำเป็นธุรกิจภายในครัวเรือน โดยยึดหลักกินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน

วันนี้ (3 ส.ค.) “คุ้มบ้านคูหูยาว” ในพื้นหมู่ที่ 1 ต.บ้านหาร อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ของนายมูซา และนางยิ่งมณี โย๊ะหมาด สองสามีภรรยา อายุ 44 ปี ใช้พื้นที่ 5 ไร่ แบ่งเป็นแปลงปลูกพืช 3 ไร่ครึ่ง เลี้ยงโคขุน 1 ไร่ และทำเป็นถนนครึ่งไร่ โดยเน้นปลูกผักป่าพื้นบ้านแบบผสมผสาน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยยึดหลัก “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน”

โดยภายในสวนมีทั้งชะอม และที่ต้นชะอม ก็ปลูกผักตำลึงคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีมะม่วงหิมพานต์กินใบ ผักหวาน ถั่วพู พริกไทย ต้นมันปู ต้นกรูด ตะไคร้ ปลูกเสริมในร่องสวน รวมทั้งเลี้ยงโคขุน 6 ตัว เพื่อนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
 

 
ซึ่งปลูกมาเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ในช่วงนี้พืชที่เก็บขายเป็นหลัก และสร้างรายได้ทุกวัน ได้แก่ ชะอม ตำลึง ผักหวาน ถั่วพู ยอดมะม่วงหิมพานต์ และมันปู ส่งให้แก่ลูกค้าใน อ.หาดใหญ่ และส่งเอเยนต์ไปขายที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีรายได้จากการขายพืชผักเหล่านี้วันละกว่า 2,000-2,500 บาททุกวัน โดยจะเก็บผักทั้งในช่วงเช้า และช่วงบ่าย เนื่องจากผักป่าเหล่านี้เป็นที่นิยมมากเพราะปลอดสารพิษ และมีสรรพคุณทางยา

นางยิ่งมณี กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่หันมามาทำผักพื้นบ้านที่เป็นผักป่า จนประสบความสำเร็จว่า จากที่อยู่บ้านเฉยๆ และกำลังมองหางานที่ทำอยู่กับบ้านได้ เพราะต้องเลี้ยงพ่อที่มีอายุมากแล้ว และได้ดูข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั่งดูทุกวันๆ ก็มาเกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถพลิกที่ดินผืนนี้ปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ปลูกเพื่อกิน ลดรายจ่าย สามารถขายได้เป็นอาชีพเล็กๆ และค่อยๆ พัฒนาจนสามารถเป็นธุรกิจได้ มันก็น่าจะดี

ในปีแรกก็ลงมือทำก่อน ทำแบบถูกๆ ผิดๆ ทำไปเรื่อยๆ พอย่างเข้าปีที่ 2 มันก็ได้ผลผลิตมากขึ้นๆ ก็เลยหาช่องทางการขาย โดยนำไปขายในเมืองหาดใหญ่ ปรากฏว่า มีคนต้องการเยอะมาก จนกระทั่งขยายพื้นที่การปลูกเต็มทั้ง 5 ไร่ ในปัจจุบัน และเน้นผักป่าที่ไม่มีใครปลูกกัน เนื่องจากแทบไม่มีคู่แข่งเลย เมื่อเทียบกับผักในตลาด ถึงตอนนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว
 



กำลังโหลดความคิดเห็น