สตูล - แนวคิดเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร ทำให้หัวหน้า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเจริญราษฎร์” ใน ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ใชพื้นที่ส่วนหนึ่งทำแปลง “สวนผักอินทรีย์” หวังสร้างสุขนิสัย และแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสู่ชุมชน
วันนี้ (8 ก.ค.) ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เมื่อหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหาร ตรวจสอบพืชผักจากตลาดทั่วไป รวมทั้งในซูเปอร์มาร์เกตทันสมัย ยังพบว่า มีสารเคมีตกค้างอยู่ในปริมาณมาก สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่กำชับให้ผู้ผลิตคำนึงถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทางเลือกที่จะมีพืชผักปลอดภัยไว้บริโภคอย่างมั่นใจ จึงมีไม่มากนัก และหากเป็นพืชผักที่ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ก็มักมีราคาสูงกว่าพืชผักโดยทั่วไป
ความกังวลนี้สำหรับ ครูวิไลวรรณ อย่างดี หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเจริญราษฎร์ ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล มองเห็นทางออกว่า ผู้บริโภคต้องเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง โดยลงมือทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประมาณ 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนวัย 2-5 ขวบ ที่ดูแลอยู่ประมาณ 100 คน รวมทั้งครูได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย อีกทั้งยังฝึกฝนให้เด็กรู้จักกินผักสร้างสุขนิสัยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เล็กๆ
ในขณะเดียวกัน ได้ชักชวนให้ผู้ปกครอง คนในชุมชนใกล้เคียงหันมาปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน ด้วยการจัดทำ “โครงการเกษตรอินทรีย์ พัฒนากลไก ใส่ใจสุขภาพ” อย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเจริญราษฎร์ เป็นสถานที่รับเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งมาจากชุมชนรอบๆ 4 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน สนใจแต่พืชเศรษฐกิจแทบไม่มีครัวเรือนใดปลูกผักไว้กินเอง รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องหาซื้อพืชผักตามท้องตลาดทั่วไปมาประกอบอาหารให้เด็กๆ ได้รับประทาน ซึ่งไม่มั่นใจว่าปลอดภัยจากสารตกค้างหรือไม่
“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มุ่งทำมาหากิน ไม่มีเวลามาปลูกผักไว้กินเอง ทั้งๆ ที่พื้นที่ในบ้านสามารถปลูกผักได้ เพราะเอาความสะดวกซื้อตามตลาด เราไม่รู้ที่มาของผักพวกนั้นเลย แล้วที่นี่ก็มีผักพื้นบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราเลยมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้กินอาหารที่ปลอดภัย แต่ก็ไม่ใช่ปลอดภัยเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้น เราจึงชักชวนผู้ปกครองให้ปลูก จะได้มีผักปลอดภัยทำกินที่บ้านด้วย” หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ กล่าว
ครูวิไลวรรณ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากวางแผนแล้วก็ประชุมผู้ปกครอง บอกถึงผลดีของการปลูกผักไว้กินเอง สร้างกิจกรรมเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นมาให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ แนะนำวิธีทำปุ๋ยหมัก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ปกครองอย่างมาก จากนั้นก็สร้างคณะทำงาน มีแกนนำแบ่งโซนคอยให้การแนะนำการปลูกผักในแต่ละชุมชน และผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลแปลงผักที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ด้วย พืชผักที่ปลูกในศูนย์ฯ ก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับผักที่ผู้ปกครองปลูก รวมทั้งการให้เมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกทำให้ผักมีความหลากหลาย เด็กๆ เองจะร่วมปลูกผักเป็นเจ้าของผักคนละกระถางด้วย
“ตอนนี้เรามีแกนนำปลูกผักประมาณ 20 คน ต่างคนก็ต่างไปปลูกที่บ้าน แล้วก็มาช่วยกันดูแลแปลงผักที่ศูนย์ฯ ด้วย เราพยายามขยายออกไปให้มากขึ้น เด็กๆ ก็ได้เห็นพืชผัก ได้ร่วมปลูกด้วย จูงใจให้เด็กอยากกินผักที่พวกเขาปลูก เราใช้เด็กเป็นตัวเชื่อมไปหาผู้ปกครอง บางอย่างเราให้พันธุ์ไปปลูก บางอย่างผู้ปกครองก็เอามาให้ ตอนนี้กลุ่มปลูกผักเริ่มขยายตัวออกไป เราอยากให้ชุมชนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองมากขึ้น” ครูวิไลวรรณ กล่าว
ในฐานะผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ นายวิมาท หมาดสา หนึ่งในเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน ยอมรับว่า เดิมไม่เคยมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับผู้ปกครองเลย หลังจากมีโครงการปลูกผักอินทรีย์ร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน ก็ได้เข้ามาสนับสนุน ทั้งในเรื่องของการทำกระถางปลูกผักจากเศษวัสดุเหลือใช้ การนำกากน้ำตาลมาทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก และการนำองค์ความรู้จากชุมชนมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
“ลูกผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกินผัก แต่ไม่แน่ใจว่าผักที่จะนำมากินปลอดภัยหรือเปล่า พอมีโครงการนี้เราก็ได้ปลูกผักเอง ทำให้มีความมั่นใจว่าลูกจะได้ปริโภคผักที่ปลอดภัยจากที่เราปลูกเอง ผมทำงานอยู่ อบต. ก็ให้การสนับสนุนเท่าที่เราทำได้ ซึ่งโครงการนี้ทำให้คนชุมชนของพวกเราได้พูดคุยกันมากขึ้น ทั้งผู้ปกครอง ทั้งครูด้วย” นายวิมาท กล่าว
ด้าน นางรอบีอาด ยังปากน้ำ แม่ครัวของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เปิดเผยว่า อาหารมื้อกลางวันของเด็กจะมีเมนูที่มีผักเป็นส่วนผสมทุกมื้อ มีกับข้าว 2 อย่าง เน้นรสจืด ทั้งผัด ต้ม แกงหมุนเวียนกันไป และพยายามหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้รับประทานได้ง่ายขึ้น และการมีแปลงปลูกผัก สามารถมองเห็นได้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้ง่ายต่อการจะคิดเมนูอาหารในแต่วันอีกด้วย
การลดรายจ่ายเมื่อไม่ต้องซื้อผักจากตลาด เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น หากแต่เป้าหมายหลัก คือ การสร้างความปลอดภัยด้านอาหารทั้งระบบ จากจุดเริ่มที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แผ่ขยายไปสู่ชุมชน เพื่อให้ค่อยๆ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างการรับรู้ให้เกิดต่อเด็ก และผู้ใหญ่ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ค่านิยมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกวัย