xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! “บิ๊กป้อม” ตั้ง กก.สอบ 4 โครงการอึมครึมของ “ศอ.บต.” / โจรใต้ตั้งค่าหัว “แม่ทัพ 4” 1 ล้าน สถานการณ์ไฟใต้จะไปทางไหน? / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
------------------------------------------------------------------------------------------
 
สัปดาห์นี้มีเรื่องราวที่ควรแก่การให้ความสนใจที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ 2 เรื่องด้วยกัน
 
เรื่องแรกคือ เรื่องที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 4 โครงการที่มี “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” เป็นเจ้าของเรื่อง ได้แก่ โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โครงการสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม โครงการ ซ่อมแซมโรงแรมชางลีเพื่อใช้เป็นที่ทำการ ศอ.บต.แห่งใหม่ และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปีที่ จ.นราธิวาส
 
ทั้ง 4 โครงการมีการเปิดเผยจากสื่อมวลชนและประชาชนว่า มีปัญหาและอาจจะไม่คุ้มกับการใช้งบประมาณ โดยถูกถามถึง “ความโปร่งใส” ในการบริหารจัดการ ตลอดทั้งความรับผิดชอบกับ “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้น อันกลายเป็นเรื่อง “อึมครึม” มาเป็นเวลาหลายเดือน


ที่ผ่านมาหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ปปช.จังหวัด และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้ทำการตรวจอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องของเอกสารหลักฐาน ตลอดจนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบปากคำของผู้ที่ให้ข้อมูลไปแล้ว
 
ในส่วนของ ศอ.บต.ก็ได้พยายามชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ถูกตั้งข้อสงสัย โดยมีการชี้แจงว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เหตุผลของความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่การชี้แจงอาจจะยังที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนยังขาดความเชื่อถือก็เป็นได้
 
ดังนั้นการที่ พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล ศอ.บต.โดยตรง เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะผู้ที่จะบอกกับประชาชน บอกกับสังคมว่าโครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่ “ถูกต้อง” และ “โปร่งใส” ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น เช่น คณะกรรมการผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือ ปปช. หรือไม่ก็ สตง. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงและมีความชำนาญการ เมื่อผลออกมาว่า “ไม่ผิด” และ “ไม่โกง” ทุกอย่างก็จะจบสิ้น
 
เพราะโดยข้อเท็จจริงทั้งจากอดีตและปัจจุบัน ศอ.บต.ยังเป็นหน่วยงานที่ “มีประโยชน์” ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศอ.บต.ก็มี “สิ่งดีๆ” หลายอย่างที่ทำประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่
 
เพียงแต่วันนี้ทุกคนเลือกจะมองแต่ “ด้านลบ” และ “ใช้ความรู้สึกตัดสิน” ว่า ศอ.บต.เป็นองค์กรที่เหมือนหลายๆ องค์กรที่ใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้แสวงหา “กำไร” หรือ “ผลประโยชน์”
 
ดังนั้น ก่อนที่คณะกรรมการจะตัดสินว่า ทั้งโครงการทั้ง 4 โครงการ “ผิด-ไม่ผิด” หรือ “โกง-ไม่โกง” ศอ.บต.ต้องเดินหน้าในการแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้น เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่เสียหายก็ต้องเร่งซ่อมแซม เพื่อให้มีแสงสว่างให้เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นเดียวกับในเรื่องอื่นๆ ก็ต้องดำเนินการต่อไป
 
ส่วนเรื่องการตรวจสอบว่าผิดหรือไม่ผิด โกงหรือไม่โกงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ยิ่งถ้ามั่นใจว่า “ทำถูกต้อง” ก็ยิ่งจะเป็นผลดีเมื่อถูกตรวจสอบ
 
ในส่วนของประชาชนก็ต้องฟังข้อมูลให้รอบด้าน เพราะในโลกของข้อมูลข่าวสาร มีทั้ง “จริง” ทั้ง “เท็จ” มีทั้งการ “ป้ายสี” จากผู้เสียผลประโยชน์และผู้หวังตำแหน่ง
 
ดังนั้นจึงต้องแสวงหา “ข้อเท็จจริง” และที่สำคัญ “อย่าใช้ความรู้สึก” ในการตัดสินว่า ใครผิด ใครถูก ใครโกง ใครไม่โกง
 
ที่สำคัญอย่าง “อคติ” ต่อการตรวจสอบ โดยการ “ตั้งธง” ล่วงหน้าว่าต้องมีการช่วยเหลือกัน เพราะเชื่อเถอะประเทศนี้มี “คนดี” มากกว่า “คนชั่ว” ประเทศจึงยังอยู่รอดได้ตราบทุกวันนี้
 
ส่วนเรื่องที่ 2 คือ เรื่องการ “ตั้งค่าหัว” พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 1 ล้านบาท จากบุคคลซึ่งต้องการให้เกิดข่าว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลในขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเป็นบุคคลที่ต้องการแค่ให้เป็นข่าว
 
แต่ข่าวการตั้งค่าหัวแม่ทัพภาคที่ 4 ก็กลายเป็น “ข่าวใหญ่” หรือข่าว “พาดหัว” หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งกลายเป็นผลดีกับแม่ทัพภาคที่ 4 ไปโดยปริยาย
 
เพราะที่ผ่านมาในห้วงเดือนรอมฎอน การป้องกันเหตุก่อการร้ายได้ผล “โจรใต้” ไม่สามารถก่อเหตุตามแผนการได้ ปฏิบัติการของโจรใต้หรือ “แนวร่วม” กลายเป็นเรื่องของ “ฟืนเปียก” หรือ “จุดไม่ติด” ในห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ มีเหตุก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่องเพียง 2 เหตุการณ์ ในขณะที่ปี 2559 มีถึง 15 เหตุการณ์
 
ถ้าไม่มีเหตุการณ์ “3 นักศึกษา” ถูกโจรใต้ยิงทิ้งในขณะที่ออกไปหาของป่าที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และถ้าไม่มีเหตุการณ์ “ทหารถูกระเบิด” ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนเสียชีวิต 6 ศพ ปีนี้จะเป็นแรกในรอบ 13 ปีที่โจรใต้ก่อเหตุน้อยที่สุด ซึ่งก็ต้องยก “ความชอบ” ให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สามารถป้องกันเหตุได้ หลังจากที่มีการก่อวินาศกรรมที่ห้างบิ๊กซีปัตตานี
 
แถมตลอดทั้งหลังเดือนรอมฎอน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังปฏิบัติการ “เด็ดหัว” ของ “ลุกมาน มะดิง” โจรใต้ระดับหัวหน้าปฏิบัติการได้ ขณะกลับเข้ามาร่วมฉลองวันฮารีรายอที่บ้านบือมัง อ.รามัน จ.ยะลา
 
ปฏิบัติการครั้งนี้แม้จะถูกคนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) บางคนออกมา “ตำหนิ” ว่า กอ.รมน.ใช้ความรุนแรง ไม่ยึดหลักการจากเบาไปหาหนัก แต่สุดท้ายการกล่าวหาของ กสม.บางคนก็กลายเป็น “ฟืนเปียก” เช่นกัน อีกทั้งคนในพื้นที่แย่งกันถล่มทั้ง “ทางไลน์” และ “เฟซบุ๊ก”
 
จน “คุณป้า” กลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” เละเทะไปทั้งบ้าน
 
ดังนั้นการที่มีเฟซบุ๊กตั้งค่าหัว “บิ๊กอาร์ท” นั่นกลับเป็นการ “ตอกย้ำ” ให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของ “แม่ทัพ” ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปราบปรามภัยแทรกซ้อน การพาคน(โจร)กลับบ้าน และการควบคุมพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอนได้ผลดีเยี่ยม
 
แถมยังสร้างความเสียหายให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนต้องใช้ วิธีการ “ตั้งค่าหัว” เพื่อเป็นการประกาศว่า แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นศัตรูที่สำคัญของขบวนการ
 
การตั้งค่าหัวแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ว่าเป็นเรื่อง “จริง” หรือเรื่อง “โจ๊ก” สุดท้ายก็คือเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้”
 
แต่ที่เป็นได้ก็คือ กลายเป็นการสร้างสีสันให้กับ “บิ๊กอาร์ท” สร้าง “ความได้เปรียบ” เป็นการทำงานอย่างเข้าตานาย เพราะอยู่ในช่วงของการพิจารณาตำแหน่งแม่ทัพคนใหม่ในฤดูโยกย้ายที่จะมาถึงในเดือนกันยายนนี้
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเดือนรอมฎอนจนถึง ณ ขณะนี้คือ แม้ว่าโจรใต้จะปฏิบัติการด้วยระเบิดแสวงเครื่องไม่ได้ผล เพราะมีการควบคุมพื้นที่เพื่อจำกัดเสรีภาพการเคลื่อนที่ของโจร และอาจจะเป็นเพราะการที่มาเลเซียเข้มงวดในการผ่านเข้า-ออกแนวชายแดน เพื่อป้องกันกลุ่มรัฐอิสลามหรือ “ไอเอส”
 
แต่กลับพบว่าโจรใต้เปลี่ยนวิธีการจากก่อวินาศกรรมมาเป็นการ “เด็ดชีพ” บุคคลต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงในการดับไฟใต้
 
คนที่ถูกเด็ดชีพหลายคนเป็นคนที่ช่วยเหลือฝ่ายความมั่นคงในการดับไฟใต้ เช่น “อิหม่าม” ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมือสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการกำปงตักวา “อดีตนายก อปต.ปาเสมัส” อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เป็นประธานชมรมพาคนกลับบ้าน รวมทั้ง “ผสร.” และ “สายข่าว” มือดีอีกหลายคนที่ต้องกลับไปสู่อ้อมอกของพระเจ้าในช่วงของเดือนรอมฎอน
 
อันแสดงให้เห็นว่า “บีอาร์เอ็นฯ” จับทางได้แล้วว่า  สาเหตุที่ “งานการข่าว” ของฝ่ายความมั่นคงดีขึ้น มาจาก “งานมวลชน” ที่ได้ผลมากขึ้น การแจ้งเบาะแสของประชาชนถึงความเคลื่อนไหวของโจรใต้ต่อเจ้าหน้าที่มีมากขึ้น เพราะในแต่ละเดือนเจ้าหน้าที่มีการตรวจพบ “หลุม” ที่ถูกขุดตามริมถนนเพื่อเตรียมวางระเบิดแสวงเครื่องมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการแจ้งข่าวของประชาชน
 
ที่นำเอาเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เรื่องมาเขียนในที่นี้ เพื่อบอกว่าถ้า ศอ.บต.ผ่านการตรวจสอบ ทั้งจาก ปปช. จาก สตง. และคณะกรรมการที่ตั้งโดย พล.อ.ประวิตรไปได้ และ “ผู้นำองค์กร” สามารถใช้ความรู้และความกล้าหาญในการ “ผ่าตัดคว้านเนื้อร้ายทิ้ง” เพื่อสร้างองค์กรให้กลับมาสู่ความเข้มแข็งได้อีกครั้ง
 
สิ่งนี้จะ “เป็นคุณ” กับผืนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน
 
ในขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถควบคุมพื้นที่ จำกัดความเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายของโจรใต้ได้ผลอย่างเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา และปิดจุดอ่อนการฆ่ารายวันของโจรใต้ที่มีเป้าหมายต่อมวลชนของฝ่ายความมั่นคงให้ได้ผล
 
โดยทั้ง 2 องค์กรจับมือกันเล่นบท “พระเอก” กับ “พระรอง” โดยที่ไม่มีการ “ขบเกลียว”กันเพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนงานในหน้าที่ของแต่ละองค์กร โอกาสที่จะเห็นเหตุการณ์ร้ายลดลงก็มีทางเป็นไปได้ โดยที่ไม่เป็นการ “ฝันเปียก” หรือ “ฝันกลางวัน” อย่างที่ฝันกันมาทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนแม่ทัพนายกอง ในรอบ 13 ปี
 
แต่ก็นั่นแหละ เหตุการณ์ที่ปลายด้ามขวาน สิ่งที่คิดว่า “แน่นอน” คือความ “ไม่แน่นอน” วันนี้อาจจะเห็นคลื่นลมสงบ บรรยากาศดี ก็อย่าได้คิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่าขบวนการบีอาร์เอ็นฯ หลอกล่อให้ตายใจหรือไม่
 
ซึ่งอาจเกิดปฏิบัติการ “ทะเลคลั่ง” ขึ้นมาแค่ค่ำคืนเดียวก็เป็นได้ สิ่งที่ฝันหวาน สิ่งที่คิดว่าใช่ อาจจะเป็น “แผนลวง” ทั้งหมดก็ได้
 
เพราะฉะนั้นต้องจำไว้ว่า “ความประมาท” คือหนทางแห่ง “หายนะ” นั่นเอง
 
กำลังโหลดความคิดเห็น