xs
xsm
sm
md
lg

สนามฟุตซอลฉาว! ฉบับ “ศอ.บต.” ถึงมือ “บิ๊กตู่” แล้ว ขีดเส้น “บิ๊กป้อม” 1 เดือน ตั้งทีมงานสอบข้อเท็จจริง “ใครหาผลประโยชน์?”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โครงการสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม ฉาว! ฉบับ “ศอ.บต.” ถึงมือ “บิ๊กตู่” แล้ว ขีดเส้น “บิ๊กป้อม” 1 เดือน ตั้งทีมงานสอบหาข้อเท็จจริง “ใครหาผลประโยชน์??” เผย “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ได้รับร้องเรียนประเด็นการผูกพันงบประมาณก่อสร้าง 5 ปี ก่อสร้างไปแล้ว 238 สนาม กว่า 273 ล้านบาท แต่หลายสนามชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ เผยเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) เลขาฯ ศอ.บต. เพิ่งตั้งโต๊ะแถลง จัดงบให้ แต่ “อปท.” เป็นผู้สร้าง ยันต้องเร่งแก้สนามส่วนใช้การไม่ได้แล้ว

วันนี้ (5 ก.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือคำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีการหาผลประโยชน์และการทุจริตในการดำเนินโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยให้มีผลการสอบสวนที่ชัดเจนภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนดังกล่าว พบว่า เกี่ยวกับสนามฟุตซอลที่มีปัญหาในหลายพื้นที่ เช่น พังเสียหายและถูกทิ้งร้าง พื้นยางหลุดร่อน จนไม่สามารถใช้งานได้ บางแห่งไปสร้างไว้ในทุ่ง ไม่มีทางเข้า - ออก และไม่มีใครเข้าไปเล่นฟุตซอล จนกลายเป็นสถานที่เลี้ยงวัว มีวัวและแพะของชาวบ้านเข้าไปนอน

มีรายงานว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับร้องเรียนโครงการดังกล่าว ในประเด็นการผูกพันงบประมาณก่อสร้าง 5 ปี ในปีงบประมาณ 57 ก่อสร้าง 50 สนาม กว่า 54 ล้านบาท ปีงบประมาณ 58 ก่อสร้างอีก 50 สนาม กว่า 58 ล้านบาท ปีงบประมาณ 59 ก่อสร้าง 48 สนาม กว่า 55 ล้านบาท และปีงบประมาณ 60 ก่อสร้าง 50 สนาม กว่า 58 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 มีโครงการจะสร้างอีก 38 สนาม 44 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 238 สนาม กว่า 273 ล้านบาท แต่หลายๆ สนามชำรุดไม่สามารถใช้งานได้

ทั้งนี้ ข้อมูลยังถูกส่งไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จ.ยะลา และได้มีการจัดคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบทุกจุดที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ปรากฏว่าพบปัญหาจริง แม้จะยังไม่มีมูลการทุจริต แต่ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพการก่อสร้าง และการดูแลรักษาสนามฟุตซอลหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว

มีรายงานว่า มีการทำรายงานเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหา โดยเน้นไปที่โครงการที่เพิ่งได้รับงบประมาณในปี 2560 เพราะเพิ่งก่อสร้างเสร็จ แต่เริ่มมีปัญหาแล้วหลายๆ สนาม เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการของปีงบประมาณก่อนหน้าที่พบปัญหาเยอะมากแทบทุกพื้นที่

โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี ใช้ชื่อว่า “โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม” เป็นงบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เฉพาะ 3 ปีล่าสุด ศอ.บต. ใช้งบประมาณแล้ว 179.3 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ก่อสร้าง 51 สนาม 63.3 ล้านบาท ปี 2558 - 2559 ปีละ 58 ล้านบาท ก่อสร้างปีละ 50 สนาม เฉลี่ยราคาค่าก่อสร้างแต่ละสนามอยู่ที่ 1,160,000 บาท เท่ากันเกือบทั้งหมด ยกเว้นโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ที่ใช้งบประมาณ 5.3 ล้านบาท โครงการนี้กระจายไปทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส รวมทั้งอำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา

“รูปแบบการดำเนินโครงการ ทาง ศอ.บต. จัดสรรงบประมาณลงไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อจัดหาผู้รับเหมาและก่อสร้างกันเอง แต่การเลือกพื้นที่ก่อสร้าง มอบหมายให้สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาของ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานพิจารณาคัดเลือก โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากนายอำเภอ และ อปท. ของแต่ละพื้นที่”

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กล่าวถึงปัญหาของสนามฟุตซอล จำนวน 189 แห่ง ที่สร้างในพื้นที่ 3 จังหวัด ตามโครงการ หนึ่งตำบล 1 สนาม โดย ศอ.บต. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้สนามละ 1,160,000 บาท ยกเว้นสนามฟุตซอลที่ ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา ที่มีการใช้งบประมาณมากกว่านั้น ซึ่ง ศอ.บต. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดสนามที่ก่อสร้าง และเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างตามสเปกที่ ศอ.บต. เป็นผู้กำหนด

การที่ ศอ.บต. จัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล และ อบต. ในพื้นที่มีสนามฟุตซอล เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เป็นสนามในการเล่นกีฬาฟุตซอล เป็นเพราะเยาวชนในพื้นที่นิยมการเล่นกีฬาฟุตบอล และ ฟุตซอล แต่สนามกีฬาฟุตซอลนั้นมีน้อย ไม่เหมือนกับสนามฟุตบอล รวมทั้งต้องการใช้การเล่นกีฬาเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่ระบาดหนักในพื้นที่ รวมทั้งเชื่อว่า การเล่นกีฬาเป็นการเชื่อมความสามัคคีให้เกิดขึ้น

โครงการสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม เป็นโครงการต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 238 สนาม โดยกำหนดให้มีการก่อสร้างปีละ 5 สนาม ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในปีงบประมาณ 2557 ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 50 สนามๆ ละ 1,158,000 บาท รวมเป็นเงิน 57,900,000 บาท แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 19 สนาม จ.ยะลา 13 สนาม จ.นราธิวาส 18 สนาม ปีงบประมาณ 2558 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 สนามๆ ละ 1,160,000 บาท รวมเป็นเงิน 58,000,000 บาท แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 20 สนาม จ.ยะลา 12 สนาม จ.นราธิวาส 18 สนาม ปีงบประมาณ 2559 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 48 สนามๆ ละ 1,16,000 บาท รวมเป็นเงิน 55,680,000 บาท แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 19 สนาม จ.ยะลา 12 สนาม จ.นราธิวาส 17 สนาม ปีงบประมาณ 2560 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 สนามๆ ละ 11,160,000 บาท รวมเป็นเงิน 58,000,000 บาท แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 17 สนาม จ.ยะลา 14 สนาม จ.นราธิวาส 19 สนาม และปีงบประมาณ 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 38 สนามๆ ละ 1,160,000 บาท รวมเป็นเงิน 44,080,000 บาท

นายศุภณัฐ ยังกล่าวว่า ในส่วนของการจัดจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ตามระเบียบทางราชการ โดยมีการเชิญผู้นำท้องถิ่นมาซักซ้อมความเข้าใจ และชี้แจงแนวทางในการดำเนินการ มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง ศอ.บต.กับท้องถิ่นที่ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งมีเอกสารยืนยันทุกขั้นตอน สรุปให้เห็นชัดว่า ศอ.บต. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบในเรื่องการก่อสร้างทั้งหมด

หลังจากที่พบว่า สนามจำนวนหนึ่งเกิดการชำรุดใช้การไม่ได้ และบางสนามสร้างในที่รกร้างไม่มีการใช้งาน และหลายแห่งมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น โดยมีสื่อมวลชนนำเสนอถึงสภาพของสนามที่เสียหาย และได้รับการแจ้งข้อมูลจากประชาชน จึงได้สั่งให้มีการสำรวจจนได้ข้อเท็จจริง ว่า มีสนามที่ใช้การได้สมบูรณ์ ร้อยละ 89 สนามที่ใช้การได้แต่ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 11 และ สนามที่ชำรุด ที่ทิ้งร้างรวม 20 สนาม

ซึ่งได้สรุปความเสียหายเกิดจากที่ตั้งของสนามอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีหลังคากันความร้อน เมื่อถูกแดดถูกฝนเป็นเวลานาน ถูกน้ำท่วมขังจึงชำรุดไปตามกาลเวลา ประกอบกับผู้รับจ้างขาดความชำนาญในการปูพื้นยาง และบางท้องถิ่นใช้สนามฟุตซอลผิดประเภท เช่น มีการจัดงานบนสนาม และจอดรถบนสนาม และที่สำคัญ พบว่า ท้องถิ่นขาดการดูแลซ่อมแซม ซึ่งสนามที่ชำรุดส่วนใหญ่จะเป็นสนามที่สร้างในปี 2557 และ 2558 ซึ่งในปี 2559 ศอ.บต. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ แยกเป็นรายจังหวัดลงไปตรวจสอบ จึงมีความเห็นว่าให้เพิ่มแผ่นยางที่กว้างขึ้น เพื่อลดรอยต่อ และลดการโค้งงอของแผ่นยาง และได้ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการต่อยอด จัดงบประมาณในการทำหลังคาคลุม รั้ว และติดตั้งไฟส่องสว่าง และอย่าใช้สนามผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งให้มีการดูแลรักษาสนามเพื่อให้มีอายุการใช้งานให้นานขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศอ.บต.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยอย่างที่เป็นข่าว

สำหรับในส่วนที่ดีของสนามฟุตซอลที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการกล่าวถึง คือ จากผลของการมีสนามฟุตซอลตามโครงการ 1 ตำบล 1 สนาม ทำให้วันนี้เรามีเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นายศุภชัย ใจเด็ด ชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเติบโตมาจากการเป็นนักกีฬาฟุตซอลของจังหวัด ได้เป็นตัวแทนทีมชาติ และเป็นนักกีฬาอาชีพ และ นายบูรฮานุดดีน ลอแม ชาว อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เป็นนักกีฬาฟุตซอลทีมชาติไทย นี่คือ สิ่งดีที่เกิดจากการส่งเสริมกีฬาแบบครอบวงจรของ ศอ.บต.

ในส่วนของสนามฟุตซอลของเทศบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีการนำเสนอภาพข่าวถึงการชำรุด และสถานที่ก่อสร้างไม่มีทางเข้าออก ไม่มีคูระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังเสียหายนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ดำเนินการแก้ไข และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือบทเรียนที่จะต้องนำมาปรับปรุง เพื่อมิให้เกิดขึ้นกับสนามอื่นๆ อีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น