รองนายกฯ ชี้ยังไม่ได้ประสาน “เสรี” เจ้าของแนวคิดพักโทษปรองดอง เตือนมาทำตอนนี้หนีไม่พ้น “รับงานเขามา” ย้ำต้องแคร์ความรู้สึกประชาชน หวั่นเกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ ย้ำรัฐไม่ปิดกั้นต่างชาติสังเกตการณ์ประชามติ แต่คราวนี้ไม่เชิญ หวั่นปัญหาเยอะ เปลืองเงิน รอเลือกตั้งปี 60 ตั้งใจเชิญมาอยู่แล้ว
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้ใช้มาตรการรอการกำหนดลงโทษเพื่อสร้างความปรองดอง ว่ายังไม่มีการประสานเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวจากนายเสรี แต่เราไม่ขัดข้องและยินดีพูดคุย ข้อเสนอของนายเสรีตนได้เห็นจากสื่อเท่านั้น อีกทั้งไม่มีความเห็นกรณีที่มีข้อสังเกตว่าเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่าย
ทั้งนี้ สำหรับการรอการกำหนดโทษ หมายถึง ไม่ระบุว่ามีโทษจำคุกเท่าใด แต่ศาลจะให้กลับไปภายในเวลาที่กำหนด และอย่าทำผิดซ้ำ หากผิดซ้ำศาลจะกำหนดโทษแล้วบวกโทษเดิมเข้าไป ทีนี้จะรอตลอดชาติมีหรือไม่ ปกติแล้วไม่มี ถ้าจะทำต้องเขียนเป็นกฎหมายซึ่งไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
“หากข้อเสนอของนายเสรีไม่มีผลลบในวันนี้คงไม่ด่ากัน กฎหมายจะต้องทำให้ถูกวิธี เข้าสภาอย่างถูกต้อง ต้องดูจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้จะมีคำถามว่าทำไมตั้งนานไม่ทำ มาทำอะไรตอนนี้ จะหนีไม่พ้นคำถามว่ารับออเดอร์มา และต้องคำนึงถึงความรู้สึกประชาชน เพราะความผิดตามกฎหมายจะต้องรับโทษ แต่จู่ๆ มาบอกว่าไม่ต้องหรือให้รอจะต้องตอบคำถามว่ามีอะไรเกิดขึ้น แล้วสังคมยอมรับได้หรือไม่ นี่คือเหตุผลที่จะลงโทษหรือไม่ จะต้องแคร์สังคมด้วย เพราะจะต้องดูว่าความผิดใดอยู่ในความสนใจของคน หากขัดความรู้สึกของประชาชนจะกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่เหมือนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมพูดเอาไว้ ไม่อย่างนั้นความขัดแย้งครั้งเก่ายังไม่คลี่คลาย ความขัดแย้งครั้งใหม่จะเข้ามา อย่างไรก็ตาม ตนตอบไม่ได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะแท้งหรือไม่” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นและไม่ได้ห้ามหากต่างชาติจะเข้ามาสังเกตการณ์ แต่รัฐบาลไม่ได้เป็นคนเชิญ และหากเชิญมาในช่วงนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก แต่ไม่ขอยกตัวอย่างว่าเป็นปัญหาแบบใด แล้วยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องขอเพิ่มเติมอีก ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 รัฐบาลตั้งใจจะเชิญเข้ามาสังเกตการณ์อยู่แล้ว