xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 จราจร ทำคนใช้รถป่วน ตำรวจล่ำซำ-รถตู้จ่อคิวปิดกิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงาน

ม.44 จราจร ทำคนใช้รถป่วน
ตำรวจล่ำซำ-รถตู้จ่อคิวปิดกิจการ

**จับ-ปรับ เชื่อมระบบใบสั่งกับกรมการขนส่ง ตาม ม.44 กระทบในวงกว้าง นักกฎหมายเผยงานนี้ตำรวจกล่อมสำเร็จ หลังเคยถูกตีตกมาแล้ว 2 ครั้ง เพิ่มอำนาจ-รายได้ ให้ตำรวจจราจร รถกระบะรับเต็มๆ จากมาตรการคาดเข็มขัดนิรภัย กระทบวิถีชีวิต ส่วนการลดที่นั่งรถตู้-บังคับติดGPSผู้ประกอบการถอดใจ เตรียมเลิกกิจการ ผู้ใช้รถเผย ทุกวันนี้ส่องแต่กล้องปรับอย่างเดียว ชี้คะแนนนิยมรัฐบาลวูบแน่

กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันในวงกว้าง สำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก เมื่อ 21 มี.ค.60 ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้เหตุผลถึงการออกคำสั่งดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถ หรือเจ้าของรถที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจำนวนมาก โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยง และเพิกเฉยต่อการบังคับใช้ทางกฎหมาย
สอดคล้องกับ พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่า สาเหตุที่ต้องออกมาตรการนี้ เพราะจากสถิติพบว่าใบสั่งที่ออกมาตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย.59 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 680,000 ใบ มีผู้ไปชำระเพียง 11% ยังไม่ได้ชำระ 86% และ ใบสั่งที่ยกเลิกไป 2%
สาระหลักของมาตรการดังกล่าว คือ กำหนดให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียน ตั้งแต่ 1 ม.ค.54 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง (มีข้อยกเว้นสำหรับรถรุ่นเก่า และรถบางประเภท) อีกเรื่องเป็นการชำระค่าปรับตามใบสั่ง ที่กำหนดให้กรมการขนส่งทางบก เข้ามาร่วมมือกับทางตำรวจจราจร มาตรการทั้งหมด จะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังใน วันที่ 5 เม.ย.นี้
"เรื่องใบสั่ง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพยายามที่จะผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการ แต่กฤษฎีกาได้ตีกลับข้อเสนอดังกล่าวมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และทางกรมการขนส่งทางบกเอง เกรงว่าหากดำเนินการไปจะผิดต่อกฎหมาย" ที่ปรึกษากฎหมายรายหนึ่ง กล่าว
แต่เมื่อมีการใช้มาตรา 44 ของ คสช. ออกมา ก็เท่ากับเป็นกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกต้องปฏิบัติตาม ที่จะต้องเชื่อมข้อมูลของใบสั่งจากตำรวจจราจร เพื่อมาพิจารณาในการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ป้ายวงกลม) หากผู้ขับขี่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง ก็จะออกใบอนุญาตให้ชั่วคราว (30 วัน) จนกว่าจะมีการชำระค่าปรับ แต่ถ้ายังไม่ยอมชำระอีก ก็จะส่งเรื่องขึ้นสู่ศาล นับว่าเป็นการใช้ยาแรงสำหรับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจร
อย่างไรก็ตาม ยังมีการเปิดช่องให้ผู้ถูกออกใบสั่งสามารถโต้แย้งได้ หากเห็นว่าไม่ได้กระทำผิดตามใบสั่ง

**ใบสั่งมาก-ส่วนแบ่งมาก

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ที่ผ่านมามีการออกใบสั่งที่ผิดพลาดอยู่หลายกรณี เช่น ออกใบสั่งที่เจ้าของรถไม่ได้กระทำผิด ดูเพียงเลขทะเบียนรถ แต่ปรากฏว่า รถที่กระทำผิดนั้นมีเลขทะเบียนตรงกับเจ้าของรถที่ถูกใบสั่ง ตรงนี้ไม่มีการดำเนินการต่อ ว่ารถที่กระทำผิดนั้นติดทะเบียนปลอมหรือไม่ หรือในบางพื้นที่ที่ กฎหมายไม่อนุญาตให้ตั้งด่าน แต่กลับมีการตั้งด่าน และออกใบสั่ง
คนที่ขับรถก็จะทราบดีว่าปัญหาเรื่องใบสั่งนั้น สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับตำรวจจราจรอยู่มาก และตอนนี้ทางตำรวจจราจร จะใช้กล้องถ่ายผู้กระทำความผิด อย่างในบางพื้นที่ ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถจะติดเป็นแถวยาว โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และถนนเส้นดังกล่าวไม่มีทางเบี่ยงออก โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาอำนวยความสะดวก
"ใครที่ทนไม่ได้ ไปไม่ทันทำงาน หรือไม่ทันส่งบุตรหลานเข้าเรียน ก็ตัดสินใจออกช่องที่ห้ามออก และก็เจอกล้องจับภาพตามมาด้วยใบสั่ง ปัญหานี้เจอกันเยอะมาก ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ กับผู้ขับขี่ และการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ใช้เวลาหลายเดือน"
เขากล่าวต่อไปว่า กล้องไม่โกหกก็จริง แต่กล้องไม่สามารถประเมินสภาพจราจรที่แท้จริงได้ ว่าด้านหลังกล้องนั้นสภาพการจราจรเป็นอย่างไร หรือกฎหมายจราจรที่ออกมานาน เรื่องการจำกัดความเร็วที่ 90 กิโลเมตรนั้น ในบางจังหวะที่ต้องเร่งแซงรถคันอื่นความเร็วอาจจะเกิน ก็ถูกปรับแล้ว
เมื่อตำรวจจราจรใช้กล้องเป็นหลัก ใบสั่งที่ออกมาจะกำหนดค่าปรับตามมาทันที หากเป็นรถยนต์ ขั้นต่ำน่าจะอยู่ที่ 400 บาท ทั้งๆ ที่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาปฏิบัติหน้าที่เอง โทษว่ากล่าวตักเดือนก็มี แต่วันนี้เราได้เห็นน้อยมาก
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากเรื่องของส่วนแบ่งค่าปรับ ที่จราจรได้ 50% ปกครองท้องที่ได้ 50% อย่างค่าปรับ 400 บาท ตำรวจได้ 200 บาท 10 บาทเข้ารัฐ อีก 190 บาทแบ่งกัน ตำรวจที่ออกใบสั่ง จะได้ส่วนแบ่ง 60 % คือ 114 บาท นอกจากนี้ โทษปรับแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน บางรายโดน 800 บาท บางรายโดน 1,000 บาท
ที่ผ่านมา ตำรวจจราจรได้ลงทุนติดตั้งกล้องเพื่อออกใบสั่งผู้ที่กระทำผิดกฎจราจร ทั้งกล้องที่ติดตั้งถาวร กล้องตรวจจับความเร็ว ที่เคลื่อนย้ายได้ หรือใช้กล้องถ่ายรูปเพื่อบันทึกภาพผู้กระทำผิด และมีแนวโน้มที่จะติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างในบางพื้นที่ มีการร่วมมือกับบริษัทเอกชนร่วมกันติดตั้งกล้องและแบ่งรายได้จากค่าปรับ ซึ่งเคยมีแนวคิดที่จะให้เอกชนรับส่วนแบ่ง 30% จาก 50% ในส่วนที่แบ่งให้กับกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ทุกวันนี้ แม้จะพอมีการตั้งด่านตรวจอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเขียนใบสั่งพร้อมค่าปรับมาพร้อมกัน ทั้งๆ ที่ภายใต้อำนาจของตำรวจจราจร จะสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่นับวันจะหายากขึ้นทุกที ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เป็นเพราะตำรวจจราจรมุ่งแต่ออกใบสั่งทำยอด หรือไม่ เพราะยอดปรับมาก ส่วนแบ่งก็ได้มากตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว บางจุดมีวินรถแท็กซี่ สามล้อเครื่องตั้งใกล้ ๆ สี่แยก ใกล้ป้อมตำรวจ แต่ไม่ถูกจับ หรือรถทัวร์ของบริษัทนำเที่ยว สามารถจอดได้ในที่ห้ามจอด แต่ถ้าเป็นรถทั่วไปจะถูกล็อกล้อ และถูกออกใบสั่ง ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่เหล่านี้ มักไม่มีกล้องตรวจจับผู้กระทำผิด


**รถกระบะปัญหาเยอะ

ส่วนกรณีของเข็มขัดนิรภัยนั้น ปัญหาจะไปอยู่ที่รถกระบะประเภทแคป (Single cab)เพราะกฎหมายอนุญาตเพียงให้วางของ หรือสัมภาระได้เท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่มักเสริมเบาะเข้าไป เพื่อเพิ่มที่นั่งอีก 3 ที่ แม้ทางขนส่งจะให้คำตอบว่า นั่งได้ ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัด แต่นั่นเป็นเพียงความเห็นของคนในขนส่ง ตำรวจจราจรจะทราบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องสื่อสารระหว่างกันด้วย
เมื่อคำสั่งนี้ออกมา รถกระบะที่เคยบรรทุกคนท้ายกระบะ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ ที่คนไทยเห็นกันคุ้นตานั้น จากนี้ไปคนที่นั่งท้ายกระบะคงไม่สามารถนั่งได้อีกต่อไป เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย
ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความปลอดภัยในชีวิต แต่มาตรการดังกล่าว กระทบกับวิถีชีวิตของคนมากมาย คนหมู่บ้านเดียวกันในต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพฯ ถึงเทศกาลจะกลับบ้าน ติดรถกันไป หารค่าน้ำมันกัน จากนี้ไปคงทำไม่ได้ พวกเขาต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น

** รถตู้ถอดใจ-เตรียมเลิกกิจการ

อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ในที่นี้มุ่งไปที่รถตู้โดยสาร กำหนดที่นั่งไว้ 13 ที่นั่งไม่รวมคนขับ กำหนดให้แก้ไขปรับปรุงตัวรถ รวมถึงการแก้ไขกลไกให้ผู้โดยสารสามารถเปิดประตูหลังจากด้านในได้ เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุขึ้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการติดตั้ง GPSให้สามารถรายงานสถานะของรถแต่ละคัน มายังศูนย์ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ หากระบบ GPS ของผู้ให้บริการมีปัญหาขัดข้อง ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน หากละเลยฝ่าฝืน มีความผิดปรับวันละไม่เกิน 5,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขได้แล้วเสร็จ
ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดรายหนึ่งกล่าวว่า รถตู้ถือว่าโดนเยอะ ที่นั่งหายไป 1 ที่นั่งนั้นมีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ แต่คงไม่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารได้ทันที เพราะต้องขออนุมัติต่อกรมการขนส่งก่อน แถมยังต้องติดตั้ง GPS อีก มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้วิ่งขวาไม่ได้ หรือขับเกิน 90 ไม่ได้ หากทำก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก
ที่ผ่านมา จากคำสั่งของ คสช. กำหนดให้ท่ารถตู้ในต่างจังหวัดไปรวมอยู่ที่สถานีขนส่งทั้งหมด ทั้งต้นทางและปลายทาง ทำให้ไม่สะดวกต่อผู้โดยสาร การเดินทางไปท่ารถตู้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือปลายทางที่เคยใกล้ที่พักก็ต้องเลิกไป ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไปมาก แถมเรื่องการเปลี่ยนจากรถตู้ เป็นไมโครบัส 20 ที่นั่ง ในปี 2564 ก็ยังไม่ยกเลิก
“ตอนนี้ผู้ประกอบการกำลังตัดสินใจว่าจะสู้ต่อ หรือเลิกกิจการ เพราะกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลต่อต้นทุนและรายได้ในการดำเนินงาน”
หากรถตู้ระหว่างจังหวัด ยกเลิกการให้บริการ อาจมีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมารถ บขส. หรือรถทัวร์ มีจำนวนรถให้บริการน้อยลงไปมาก จากการที่ประชาชนนิยมเดินทางโดยรถตู้
หากกล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยนั้น สำคัญที่สุด คือตัวคนขับ ไม่ว่าจะมีอุปกรณ์ดีอย่างไร หากคนขับไม่พร้อม หรือประมาทก็เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งนั้น สภาพถนนและสภาพรถ เป็นปัจจัยรองลงมา ดังนั้นหากต้องการลดอุบัติเหตุจริงๆ ต้องควบคุมที่คนขับเป็นหลัก

**กระทบเยอะ-ไม่กล้าโวย

คนที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งของคสช. ฉบับนี้ บ่นกันทั้งนั้น แต่ไม่มีใครกล้าที่จะท้วงติงในเรื่องดังกล่าว หากเป็นการแก้ไขกฎหมายปกติ คงมีคนแสดงตัวคัดค้านออกมาแล้ว ตอนนี้คงต้องรอผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ ในวันที่ 5 เม.ย. 60 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นหยุดเทศกาลสงกรานต์
แน่นอนว่า งานนี้จะส่งผลต่อความนิยมต่อรัฐบาลลดลง เชื่อว่าคณะทำงานของรัฐบาลก็ทราบดี แต่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงออกคำสั่งนี้ออกมา คนที่เคยชื่นชมรัฐบาลเมื่อถูกมาตรการกระทบกับตัวเอง ย่อมไม่พึงพอใจ อีกทั้งฐานความคิดของคนไทยที่มีต่อตำรวจจราจร มักไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ยิ่งมีกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถูกมองว่าเป็นมาตรการที่เพิ่มรายได้ให้กับตำรวจมากยิ่งขึ้น เพราะในทางปฏิบัติที่จะสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถทำได้ด้วยมาตรการอื่น
นอกจากนี้ ตัวมาตรการดังกล่าว ยังสามารถนำมาใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงทางการเมืองได้ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติที่เปิดให้มีการเลือกตั้ง ด้วยการชูประเด็นว่า จะมีการแก้ไขหากเลือกพรรคการเมืองนั้น
ที่จริงกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่ หากมีการนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ไม่น้อย การตัดแต้มใบขับขี่ ก็ถูกนำมาใช้เฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น หรือหากกระทำผิดหลายๆ กระทง การกำหนดให้มีการบำเพ็ญประโยชน์กี่ชั่วโมง ก็น่าจะมีการนำมาบังคับใช้
เชื่อว่าหลายคนไม่ปฏิเสธความหวังดีในการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่ถ้ากฎระเบียบนั้นออกมาแล้วขัดต่อวิถีชีวิตของประชาชนจนเกินควรแล้ว สุดท้ายประชาชนก็จะดื้อแพ่งต่อกฎระเบียบดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น