xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้นำ ศอ.บต.” ต้องกล้าปลดแอกหนี้บุญคุณ เพื่อดึงองค์กรให้พ้นจากหมู่บ้านกระสุนตก / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก 
----------------------------------------------------------------------------------------


 
โครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการโดย “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “ศอ.บต.” จำนวน 14,000 ต้น ในวงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ โดยติดตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นับเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นด้านหลัก
 
เพราะนอกจากเป็นความต้องการของคนในชุมชนที่อยากให้มีไฟส่องสว่างอย่างพอเพียงแล้ว จากการติดตามสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังพบว่า พื้นที่ที่มี “แสงสว่าง” อย่างเพียงพอ และพื้นที่ที่มี “กล้องวงจรปิด” การก่อเหตุจะน้อยลง เพราะแสงสว่างทำให้คนร้าย “พรางตัว” ได้ยาก ขณะที่กล้องวงจรปิดเป็น “หลักฐาน” ที่ทำให้ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้ดี
 
แต่สุดท้ายแล้วเสาไฟส่องสว่างจากโซลาร์เซลล์แทนที่จะสร้างความสุขให้แก่คนในพื้นที่ กลับกลายเป็นเรื่องที่ ศอ.บต.ต้องถูก “ร้องเรียน” และนำมาสู่การตรวจสอบทั้งจาก “ป.ป.ช.จังหวัด” และจาก “สตง.” รวมทั้งจาก “โซเชียลมีเดีย” และ “ภาคประชาชน” ในพื้นที่อย่างเข้มข้น
 
เนื่องจากเสาไฟโซลาร์เซลล์จำนวน 14,000 ต้นนั้น หลังจากติดตั้งได้เพียงไม่กี่เดือนก็เกิดอาการ “ดับๆ ติดๆ” และส่วนหนึ่ง “ดับสนิท” ตั้งแต่ติดตั้งเสร็จใหม่ๆ ซึ่งมีการระบุจากองค์กรท้องถิ่น และจาก ป.ป.ช.ว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ที่เสียหาย และไฟดับมีถึง 80% จึงกลายเป็นโครงการนี้ถูกมองว่าไม่คุ้มต่องบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และที่สำคัญคือถูกมองว่า โครงการนี้อาจจะมีความ “ไม่โปร่งใส” เกิดขึ้น
 
สุดท้ายหลังจากที่มีการปล่อยให้เรื่องของเสาไฟโซลาร์เซลล์อื้อฉาวอยู่ระยะหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็ได้สั่งการให้ ศอ.บต.ชี้แจง และให้ สตง.ดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัดยะลานั้นถือว่าเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ “ได้กลิ่น” และเข้าตรวจสอบเพื่อหาข้อสรุปในทุกพื้นที่ ซึ่งได้รับแจ้งจากฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และประชาชนถึงความผิดปกติของโครงการดังกล่าว
 
ในขณะที่ผู้แทนของ ศอ.บต.โดย นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.หลังจากที่โครงการนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วได้พยายาม “แก้ข่าวที่เกิดขึ้นว่า การดำเนินโครงการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง และการประมูลก็ไม่มีเรื่องของ “เงินทอน แต่สาเหตุที่หลังติดตั้งแล้วติดๆ ดับๆ เป็นผลจากเรื่องของดินฟ้าอากาศของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีอากาศชื้น และมีฝนตกมาก อีกสาเหตุสำคัญมาจาก แบตเตอรี่ของโซลาร์เซลล์ส่วนหนึ่งถูกขโมยนำไปขายร้านรับซื้อของเก่า
 
อีกทั้งหลังเกิดเหตุมีสื่อ และประชาชนร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องของผลประโยชน์ของ ศอ.บต. การทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทในพื้นที่ทำการซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์ในส่วนที่เสียหาย โดยบริษัทผู้รับซ่อมได้ร่วมรับผิดชอบโดยการตั้งรางวัลนำจับผู้ที่ขโมยแบตเตอรี่ และใช้มาตรการกำชับให้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ที่มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่ช่วยกันสอดส่องดูแล
 
ทั้งหมดทั้งปวงคือ การชี้แจงจาก “เลขาธิการ ศอ.บต.” ต่อกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น 
 
แต่ในส่วนที่ราคาเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ “แพงกว่า” ราคาขายในท้องตลาดชนิดครึ่งต่อครึ่ง เช่นเดียวกับราคาแบตเตอรี่ที่ท้องตลาดขายในราคาลูกละ 3,000 บาท แต่ ศอ.บต.ซื้อในราคา 6,000 บาท และมีบางบริษัทที่เงินทุนจดทะเบียน “น้อยกว่า” วงเงินของงานที่ประมูลได้หลายเท่า เหล่านี้กลับยังไม่มีการพูดถึง แถมยังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยอีกมากมายที่ ศอ.บต.ยังไม่สามารถชี้แจงได้กระจ่าง
 
โดยข้อเท็จจริงนับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา ศอ.บต.ได้กลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” ไปแล้ว
 
เนื่องเพราะมีโครงการของ ศอ.บต.มากมายที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ถูกภาคประชาสังคม และสื่อทำการ “ขุดคุ้ย มาตีแผ่ จนทำให้ต้องวุ่นวายอยู่กับการชี้แจง จนกลายเป็นหน่วยงานมี “เรื่องอื้อฉาว” และมากมายไปด้วย “ความเคลือบแคลงโดยเฉพาะกับข้อหา “ค้ากำไรจาก “สงครามประชาชน” ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไฟใต้
 
โครงการอื้อฉาวที่ถูกประชาชน และสื่อตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสที่สำคัญๆ มีอาทิ
 
“โครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งมีการก่อสร้างหมู่บ้านและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงคอกวัว และคอกแพะสำหรับไว้รองรับ “ผู้เห็นต่าง” ซึ่งเป็น “แนวร่วม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการกลับบ้าน ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว แต่กลายเป็น “หมู่บ้านไร้คนอยู่ เป็นเรื่องที่ “ได้ทำ แต่ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ตอบโจทย์ในการดับไฟใต้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
 
“โครงการก่อสร้างภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี” ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส งบประมาณกว่า 140 ล้าน ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชมรมอิหม่าม อ.บาเจาะ กับ ศอ.บต. จนกลายเป็นเรื่องของการคาราคาซัง และสร้างต่อไมได้ เพราะบริษัทร่วมค้าที่ ศอ.บต.เลือกให้เป็นผู้ก่อสร้างได้ “ขายงานให้แก่ผู้รับเหมาในพื้นที่ และบริษัทร่วมค้าคู่สัญญาของ ศอ.บต.ถูกฟ้องล้มละลาย จนกลายเป็นปัญหาทางกฎหมายที่ทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่สามารถเบิกเงินค่าจ้างได้ ยิ่งชมรมโต๊ะอิหม่ามมีความเห็นให้ยุติโครงการดังกล่าว ซึ่งนี่อาจจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการก่อตั้ง ศอ.บต.ที่มีหน้าที่หลัก คือ “สลายความขัดแย้ง” ได้กลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้นำศาสนาเสียเอง
 
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่า มีอีกหลายโครงการของ ศอ.บต.ที่ถูกภาคประชาชน และสื่อทำการตรวจสอบถึงความไม่ถูกต้อง เช่น “โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล” 1 ตำบล 1 สนาม ซึ่งมีสนามจำนวนหนึ่งได้รับความเสียหายไปแล้ว จนกลายเป็นเรื่อง “ได้สร้าง แต่ “ใช้ไม่ได้ เป็นการถูกมองว่า “ผลาญงบ โดยไม่ตอบโจทย์ของปัญหา และเชื่อว่ายังมีโครงการอีกมากมายรอคิวถูกตรวจสอบ
 
ณ วันนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กำลังไม่ไว้วางใจ ศอ.บต.ไปเสียแล้ว
 
ศอ.บต.จึงกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกที่ทุกวันแทบไม่มี “ข่าวดี” เหมือนในอดีต แต่กลายเป็นองค์การที่มีแต่ “ข่าวร้าย” แถมเป็นข่าว “บ่อนเซาะ” ให้กลายเป็นองค์กรที่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะ “คนไทยพุทธ” ที่เรียกหาความเท่าเทียม และความเป็นธรรมส่ายหน้าให้

สิ่งจำเป็นที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การทำ “ความสะอาดองค์กร” ให้เป็นที่เชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของคนในพื้นที่ ให้สมต่อการเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดับไฟใต้ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานอื่นๆ ในมิติของงานด้านการพัฒนา ซึ่งในอดีต ศอ.บต.คือหน่วยงานที่มีเกียรติภูมิเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของคนในพื้นที่
 
สิ่งที่จำเป็นสำหรับ ศอ.บต.คือ “คำตอบ” จากการตรวจสอบของ สตง.และของ ป.ป.ช. เพื่อเป็นการยืนยันต่อประชาชนว่า  ศอ.บต.ไม่ได้อื้อฉาวไปในทางที่ไม่โปร่งใสอย่างที่เป็นข่าว และอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ เพราะการที่จะบอกต่อสังคมว่า “ไม่โกงและ “สะอาดนั้น คนที่ให้คำตอบไม่ใช่ผู้บริหาร ศอ.บต. แต่ต้องมาจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช.และ สตง.
 
และสุดท้าย “ผู้นำ” จะอาศัยเพียง “ต้นทุน” ที่สังคมการันตีว่าเป็น “คนดี” อย่างเดียว ด้วยการนั่งทับสารพัดปัญหาไม่ได้อีกต่อไป
 
ผู้นำที่ดีจะต้องเก่ง และมีวิสัยทัศน์ และที่สำคัญจะต้อง “กล้า” ที่จะ “ปลดแอก” คำว่า “บุญคุณ” ออกจากหน้าที่การงาน เพื่อสร้าง ศอ.บต.ให้สดใสกาววาวเหมือนในอดีต ซึ่งต้องเป็น “ที่พึ่ง” ของ “คนทุกข์” ในแผ่นดินได้ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา
 
กำลังโหลดความคิดเห็น