xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศอ.บต. แจงกรณีจัดซื้อโรงแรมเก่าใจกลางเมืองยะลา มูลค่ากว่า 124 ล้าน เล็งสร้างเป็นศูนย์กลางบริการประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - “ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ” เลขาธิการ ศอ.บต. ชี้แจงกรณี ศอ.บต.จัดซื้อ “โรงแรมชางลี” โรงแรมเก่าใจกลางเมืองยะลา มูลค่ากว่า 124 ล้านบาท เพื่อจะต้องเป็นศูนย์กลางการบริการประชาชนในมิติต่างๆ เชื่อเป็นการยกระดับพื้นที่ชายแดนภาคใต้

วันนี้ (16 มิ.ย.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อตึกโรงแรมชางลี ของ ศอ.บต. เมื่อปี พ.ศ.2555 จนทำให้เกิดกระแสข่าวต่อเนื่องถึงการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากว่าคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งหลายๆ ข้อมูลสำคัญของการตัดสินใจในการจัดซื้อในครั้งนี้คืออะไรนั้น

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวต่ออีกว่า ประการแรก พวกเราหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ถ้าวันนี้โรงแรมชางลี ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสิโรรส ใจกลางสำคัญของเมืองยะลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นโรงแรมร้าง เป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาต้องทอดถอนใจต่อผลแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตความรุนแรงในพื้นที่ ดังนั้น เราต้อง Rebranding ในส่วนนี้ให้ได้ และทำให้เป็น Landmark แห่งใหม่ โดยดึงพลังจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน ตนคิดเสมอว่าหากทุกภาคส่วนมุ่งมั่นแล้วว่าจะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่แล้วจำเป็นจะต้องสร้างระบบการพัฒนาเพื่อให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น เมื่อเอกชนมั่นใจก็จะนำไปสู่การกระตุ้นวงจรธุรกิจให้หมุนไปอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้ปัญหาการว่างงานลดลง

ในส่วนนี้ นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา รายได้ประชาชนใน จ.ยะลา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่จมดิ่งอย่างหนัก สอดคล้องต่อข้อมูลการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ชี้ชัดว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนจากเอกชนเพียง 20 กว่ารายเท่านั้น ดังนั้น เราจะยอมกันให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรืออย่างไร หรือเราต้องร่วมกันหามาตรการ และโครงการต่างๆ เพื่อเข้าไปฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวเดินต่อไป ในส่วนนี้เองตนคิดเสมอว่าพวกเราจะต้องมาช่วยกันคิดต่อว่า โจทย์ที่ชัดเจนของเราวันนี้คือ เศรษฐกิจต้องเดินหน้า เงินต้องมีอยู่ในกระเป๋าประชาชน โอกาสที่ดีของประชาชนต้องมี การมีโรงแรมชางลีจะต้องตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ ในใจตนคิดว่าวันนี้ เรามีนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนมาก จะทำอย่างไรให้นักธุรกิจเหล่านี้มารวมตัวกัน และทำธุรกิจในที่แห่งนี้ เพื่อให้เกิดความคึกคัก และตื่นตัวที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ซึ่งสอดรับต่อโครงการเมืองต้นแบบฯ ของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ นอกจากนี้ เรายังมีภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เรายังมีประชาชนที่จะต้องเข้าไปดูแลเกือบ 2 ล้านคน เราจะเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาอย่างไร
 

 
ประการที่ 2 เมื่อมองศักยภาพของโรงแรมชางลี ที่มีพื้นที่ใช้สอยจำนวนมากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร เราตั้งใจเลยว่า สิ่งแรกที่เราจะทำคือ หอเกียรติยศสถาบันกษัตริย์กับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนคงทราบดีว่า “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีโครงการพระราชดำริน้อยใหญ่จำนวนมาก ทั้งเรื่องน้ำ ป่า การเกษตร และอื่นๆ เมื่อวันนี้ เราต้องการให้ประชาชนได้เรียนรู้โครงการพระราชดำริ ได้เรียนรู้หลักการทรงงาน ได้เรียนรู้ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง ผ่านการทรงงานของพระองค์ท่าน รวมทั้งให้ลูกหลานคนในพื้นที่รับรู้ และตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ที่เสด็จมาทรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะตนเองสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “ในหลวง รัชกาลที่ 10” ที่ทรงเสด็จมาในงานเมาลิดกลางทุกปี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมงคลสูงสุดที่เราต้องการให้ประชาชนได้ร่วมจำจด และน้อมนำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้ ตนเชื่อมั่นว่าคนทุกคนในพื้นที่รักในหลวง และรักสถาบันกษัตริย์อย่างสูงสุด และปรารถนาให้มีหอเกียรติยศสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่ให้ได้

ประการที่ 3 เมื่อเรามุ่งมั่นที่จะให้บริการประชาชนเป็นเป้าหมายการทำงานสูงสุด พื้นที่แห่งนี้จะต้องเป็นศูนย์กลางการบริการประชาชนในมิติต่างๆ ศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์กลางพหุสังคมที่ประชาชนทุกศาสนามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมทั้งศูนย์กลางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เบื้องต้น เราจะพัฒนาศูนย์กลางที่กล่าวถึงไว้ทั้งหมดในรูปแบบศูนย์บริการประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น

1.ศูนย์บริการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบแบบครบวงจร
2.ศูนย์บริการกิจการพุทธศาสนาและกิจการฮัจญ์
3.ศูนย์ประสานการบริการและการลงทุนอย่างครบวงจร
4.ศูนย์บริการหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.ศูนย์ประสานงานส่วนราชการและศาสนาเชิงพหุวัฒนธรรม
6.ศูนย์กลางอาเซียน และ IMT-GT (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย)
7.สถาบันเกษตรประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้
8.ศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิตเด็กพิเศษตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
9.ศูนย์พัฒนาการศึกษาและภาษาอาเซียน
10.สถานีโทรทัศน์เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพครู การเผยแพร่ความรู้ และการประชาสัมพันธ์
11.สถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่รัฐต้องเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือ
12.สถาบันพัฒนาบุคลากรจังหวัดชายแดนภาคใต้
 

 
เลขาธิการ ศอ.บต.ยังกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะตนเชื่อมั่นว่าการดูแล และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทุกมิติการพัฒนา เป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญที่น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป้าหมายคือ ประชาชนต้องมีความกินดี อยู่ดี และมีความสุข สามารถฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และสามารถเดินหน้าการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ตัวอย่างในเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ตนไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในพื้นที่สุไหงโก-ลก ภาคเอกชนที่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ก็มีการสอบถามเข้ามาว่า นักธุรกิจรุ่นใหม่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ได้หรือไม่ อย่างไร ตนก็สร้างความมั่นใจว่า วันนี้รัฐอำนวยความสะดวกให้แก่เอกชน ดังนั้น พื้นที่ในส่วนนี้ หากมีโครงการ หรือกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ เราเปิดให้อย่างเต็มที่ ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าไปดูแล และรับไปดำเนินการแล้ว

ประการสุดท้าย ที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยว่า การจัดซื้อโรงแรมชางลี และงบประมาณที่เกี่ยวข้องต่อการปรับปรุงและพัฒนานั้นมีความโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ตนขอเรียนว่า ศอ.บต. มีการเจรจากับ บสส. และตกลงกันที่ราคา 124,000,000 บาท (124 ล้านบาท) ถูกกว่าราคาขายในตลาดถึงครึ่งต่อครึ่ง แต่เป็นอาคารเปล่า มีแต่โครง สาธารณูปโภคด้านในไม่มีเลยสักอย่างเดียว ก็ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุง และพัฒนาสาธารณูปโภคทุกด้านให้มีความพร้อมรองรับประชาชนที่เราต้องการให้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ตนเชื่อมั่นว่าวันนี้ในทางตัวเลขอาจจะดูสูง และเกิดคำถามว่าจะมีการใช้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร แต่ในทางสังคมและความสุขที่ประชาชนจะได้รับจากการได้รับบริการ เพื่อตอบสนองความจำเป็น และต้องการประชาชนในพื้นที่ ตนคิดว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าหลายเท่า พี่น้องประชาชนอุ่นใจที่จะเข้ามาใช้บริการงานทุกด้านในที่แห่งนี้ เป็น One Stop Service แห่งแรกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวบรวมงานบริการทุกด้านเข้ามาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ งานด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ภาษา พหุสังคมและการช่วยเหลือกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ เป็นต้น

“ผมขอให้มองว่าเรื่องนี้คือเรื่องของขาดทุนคือ กำไร (Our loss is our gain) การเสียคือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้ ตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เราลงทุนผ่านโครงการนี้เพื่อหวังว่าประชาชนจะมีความสุข มีการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจว่าวันนี้เราได้ดูแลเขาอย่างเต็มที่ ให้เขารักในประเทศไทยรักคนไทยด้วยกัน และร่วมมือกันยุติเหตุการณ์ความรุนแรงทุกกรณี รวมทั้งปกป้องประเทศไทยด้วยใจของความเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ผมคิดว่าต่อให้จ่ายเงินมากกว่ารัฐบาล ก็จะไม่คิดเสียดายเลย” นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวทิ้งท้าย
 
กำลังโหลดความคิดเห็น