xs
xsm
sm
md
lg

บทบาท “ศอ.บต.” จากที่เป็นแค่ “หมู่บ้านกระสุนตก” กำลังจะยกระดับเป็น “ตัวตลกหนังตะลุงน้องเดียว” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
เป็นอีกวันหนึ่งที่รู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่รู้จักกันในนามย่อๆ ว่า “ศอ.บต.” ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก เนื่องจากในรอบหลายวันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่กลายเป็น “ภาพลบ ที่เกิดกับหน่วยงานแห่งนี้
 
เรื่องที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องแรกคือ เรื่องของการ “บูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี” ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต และสังคมมองว่าเป็น “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “ชมรมผู้นำศาสนาอิสลาม” ใน อ.บาเจาะ กับ ศอ.บต.
 
ถ้าจำกันได้ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวของชมรมผู้นำศาสนาในครั้งนี้ เมื่อปี 2559 ชมรมผู้นำศาสนาใน อ.บาเจาะ ก็เคยเคลื่อนไหวในเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยไม่เห็นด้วยต่อการที่ ศอ.บต.ให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง จาก จ.ปทุมธานี มาเป็นผู้ปรับปรุงภูมิทัศน์ และซ่อมซ่อมส่วนที่สึกหรอของมัสยิดแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง
 
โดยเรื่องจบลงที่ “ผู้บริหาร ศอ.บต.” ในยุคนั้นให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ได้ทำความเข้าใจต่อผู้ที่ “เห็นต่างและออกมาคัดค้านแล้ว และผู้ที่เห็นต่างมีความเข้าใจถึงเรื่องของกฎหมาย เรื่องของของระเบียบต่างๆ ที่ไม่สามารถให้ชมรมผู้นำศาสนา และสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส เป็นผู้ดำเนินการในงบประมาณที่ใช้ในการซ่อมแซม และปรับปรุงภูมิทัศน์ของมัสยิดดังกล่าว
 
แต่สุดท้ายเรื่องเก่า และ “แผลเก่าซึ่ง “กลัดหนอง อยู่นานก็ถึงจุดของ “หนองแตก ส่งกลิ่นไปทั่ว เมื่อเกิดปัญหา “ผู้รับเหมาช่วง” ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ไม่สามารถเบิกเงินในการทำงานได้ เพราะไม่ใช่บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ ศอ.บต.
 
และพบว่าหนึ่งในสองบริษัทร่วมค้าที่เป็นคู่สัญญากับ ศอ.บต. เป็นบริษัทที่ถูก “ฟ้องล้มละลาย” และอยู่ในกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งมีการตรวจสอบพบว่า ที่ตั้งบริษัท ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีลักษณะเหมือนกับบริษัทที่ไม่มีผู้ทำงาน มีเพียงคนเฝ้าสำนักงานเท่านั้น
 
สังคมจึงตั้งข้อสงสัยว่า การเข้ามารับเหมาในการซ่อมแซม และปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปีครั้งนี้ มี “ความไม่ชอบมาพากล” เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาแบบ “เฉพาะกิจ” เพื่อรับงานครั้งนี้ และหลังจากได้งานก็ได้ “ขายงาน” ให้แก่บริษัทอื่นอย่างที่หลายๆ บริษัทได้ทำกันหรือไม่?!
 
ซึ่งเรื่องนี้ ศอ.บต.ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อสงสัยในเรื่องของ “ความโปร่งใส ของการประมูลงาน และการเป็นคู่สัญญาของ ศอ.บต.ว่า ถูกต้อง ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มี “เงินทอน ในโครงการนี้ และที่สำคัญ ศอ.บต.แถลงว่า ทุกโครงการที่ ศอ.บต.ดำเนินการจะต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม
 
กับประโยคที่ว่า “ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม” ตามคำแถลงของ ศอ.บต.คือ ประเด็น “คำถามที่ติดตามมาว่า ถ้าโครงการนี้ประชาชน หรือคนในพื้นที่มีส่วนร่วมจริง ทำไม่จึงไม่ดำเนินการให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ เพราะงานที่มีงบประมาณเพียง 150 ล้านนั้น นับว่ามีบริษัทร่วมค้าในพื้นที่มีความสามารถทำได้อยู่แล้ว
 
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้คือ เงินทั้งหมดก็ต้องสะพัดอยู่ในพื้นที่ การจ้างงานก็เป็นการว่าจ้างคนในพื้นที่ และนี่คือ การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างที่มีการกล่าวอ้าง
 
ดังนั้น ผู้รับผิดชอบของ ศอ.บต.ไม่รู้จริง หรือแกล้งไม่รู้ว่าการให้บริษัทนอกพื้นที่ได้งานไปนั้น เกือบร้อยทั้งร้อยคือ บริษัทที่ชนะประมูลต้อง “ขายงาน” ให้บริษัทอื่นดำเนินการ ซึ่งนั่นก็หมายถึงบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ ศอ.บต.ได้เงินเป็นค่า “หัวคิว ไปโดยที่ไม่ต้องทำงานนั่นเอง
 
ส่วนค่า “หัวคิว” จะมีการแจกจ่ายให้ “ใคร” บ้าง นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้?!
 
ก่อนที่จะเกิดอาการ “ฝีแตก” ในกรณีมัสยิด 300 ปี ศอ.บต.เพิ่งจะผ่านมรสุมเรื่อง “เงินโอที” จำนวน 35 ล้านบาทเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องต่อ “โครงการพาคนกลับบ้าน” มาแล้ว และเพิ่งจะมีการชี้แจงถึงที่มาที่ไปของเงินโอทีกังกล่าว “ที่คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ได้ทำ” จนกลายเป็นประเด็นของความคลางแคลงใจของคนในพื้นที่ต่อบทบาทของ ศอ.บต.ที่ถูกสังคมในพื้นที่ตรวจสอบถึงความโปร่งใสอย่างเข้มขึ้น
 
นอกจากนั้น ศอ.บต.ยังเกือบจะ “เสียรังวัด” ในเรื่องความเดือดร้อนของ “คนไทยพุทธ” ที่มีความทุกข์ใจในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน เพราะกลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้ง จนถึงขั้นมีการฆ่ากันตายไปศพแล้วศพเล่า ด้วยการที่ ศอ.บต.พยายามที่จะไม่ให้ชาวไทยพุทธเคลื่อนไหว เพราะเกรงว่าจะทำให้ “ผู้ใหญ่” ของบ้านเมืองไม่พอใจ
 
สุดท้ายเรื่องของชาวไทยพุทธก็ลุกลามไปถึง “กรณี นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา” จนเกือบจะกลายเป็นเรื่อง “ไม่ขีดก้านเดียว เผาเมืองทั้งเมือง” ก่อนที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะทำหน้าที่ทำความเข้าใจต่อแกนนำได้ แต่เวทีของการสร้างความเข้าใจกับชาวไทยพุทธของ ศอ.บต.ที่จัดขึ้นเพื่อชี้แจงข้อข้องใจต่อกลุ่มไทยพุทธที่ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อที่โรงแรมยะลารามา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ก็ต้องล้มเลิกท่ามกลาง “ความกังขา” ของคนในพื้นที่
 
โดยข้อเท็จจริงเรื่องของคนไทยพุทธที่ออกมาเคลื่อนไหว และมีความขัดแย้งกันเองระหว่าง “กลุ่มโลกสวย กับ “กลุ่มฮาร์ตคอร์” ที่เรียกร้องความเท่าเทียม และความยุติธรรม ย่อมเป็นหน้าที่ของ ศอ.บต.ในการคลี่คลาย และสลายความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจ สร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้น
 
แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า ศอ.บต.ทำตัว “อยู่เหนือปัญหา” ด้วยวิธีการเต้นฟุตเวิร์ก ถีบๆ ถอยๆ ไปเรื่อยๆ จนทำให้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งมองว่า ศอ.บต.ไม่ได้ใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ เกิดอะไรขึ้นกับ ศอ.บต.ที่เป็นหน่วยงานที่คนในพื้นที่เคยให้ความเชื่อถือ และเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่เคยเป็นที่ “พึ่งพาและ “พึ่งพิง ได้
 
แล้วไฉนวันนี้ ศอ.บต.จึงกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกนัดแล้วนัดเล่า แถมยังเชื่อว่ายังจะมีกระสุนนัดต่อๆ ไปตกที่ ศอ.บต.
 
ซึ่งเป็นเรื่องที่ ศอ.บต. ต้องทำการตรวจสอบ และต้องแก้ไข เพื่อให้ ศอ.บต.กลับมาสู่ความเป็นหน่วยงานที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถพึ่งพา และพึ่งพิงได้อย่างในอดีต
 
โปรดอย่าได้ตอบว่า วันนี้อำนาจของ ศอ.บต.อยู่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเวลานี้ ศอ.บต.เป็นเพียง “นิ้วที่ 11” ที่เป็น “ส่วนเกิน” ของฝ่ามือ
 
เพราะวันนี้แม้ ศอ.บต.จะไม่มี พ.ร.บ.ศอ.บต.ก็จริง แต่ ศอ.บต.ก็มีงบประมาณ มีหน้าที่ และมีอำนาจอยู่ในมือในระดับหนึ่ง
 
สิ่งที่ ศอ.บต.และหน่วยงานต่างในพื้นที่ต้อง “สำเหนียก คือ วันนี้สังคมในพื้นที่ “ตื่นตัว จากการสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถตรวจสอบถึง “ความโปร่งใสและการ “ทุจริต ได้อย่างรวดเร็ว และมีพลัง
 
แม้แต่เรื่อง “การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่” จำนวนมากมายในพื้นที่เข้าไปสู่ “เหมืองลาบู” อ.ยะหา จ.ยะลา ก็ยังถูกสังคมในพื้นที่ตรวจสอบ และเรียกร้องให้หน่วยงานในพื้นที่ออกมารับผิดชอบ และชี้แจง จนทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายทหารต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลาย
 
นี่คือพลวัตของการสื่อสาร 2 ทางที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหากหน่วยงานในพื้นที่ยังไม่รับรู้ ไม่เข้าใจและไม่สนใจ ยังคงทำตัวแบบเดิมๆ เข้าใจว่าคนในพื้นที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความถูกต้อง และให้หน่วยงานของรัฐชี้แจงถึงเรื่องของความโปร่งใส รวมถึงเรื่องของเงินทอนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เกิดการทุจริตในโครงการต่างๆ จำนวนมาก
 
ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นโครงการเพื่อ “ดับไฟใต้”?!
 
ถ้าวันนี้หน่วยงานต่างๆ ยังไม่เข้าใจ เชื่อว่าในอนาคตจะมีเจ้าหน้าที่ “พาเหรด ไปสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก
 
ที่นำเรื่องเหล่านี้มาเขียน เนื่องจาก “ศอ.บต.” ก็ดี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ก็ดี ต่างมีโครงการอีกมากมายที่ถูกคนในพื้นที่วิพากษ์ วิจารณ์ และตั้งข้อสงสัยว่าโครงการเหล่านั้นสามารถตอบโจทย์ของการดับไฟใต้ได้จริงหรือไม่ หรือเป็นโครงการที่ทำให้เสร็จๆ โดยไม่ได้ตอบโจทย์ของความไม่สงบในพื้นที่
 
และในอนาคตยังมี “โครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง “เม็ดเงิน” จำนวนมหาศาลจะถูกนำมาเพื่อใช้พัฒนาพื้นที่ จึงเชื่อว่าจะต้องถูกสังคมในพื้นที่ทำการตรวจสอบอย่างเข้มข้น วิธีการโบราณแบบ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” กำลังจะใช้ไม่ได้ในอนาคต เพราะวันนี้พลวัตแห่งการสื่อสารได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นแล้วในสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วิธีการชี้แจงแบบเดิมๆ แบบเก่าๆ แบบ “ขอไปที” ที่เข้าข่าย “ขว้างงูไม่พ้นคอ” หรือแบบเอา “สีข้างเข้าถู” กำลังจะใช้ไม่ได้กับสังคมไทย และใครยังใช้วิธีการแบบนี้จะวังจะกลายเป็น “ตัวตลก” อย่าง “สีแก้ว” หรือ “ยอดทอง” ของ “นายหนังตะลุงน้องเดียว”
 
กำลังโหลดความคิดเห็น