คอมลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
---------------------------------------------------------------------------------------
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคมออนไลน์ คือข่าวที่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าได้เสนอแนวคิดว่าจะเรียกเก็บเงินประมาณ 100-200 บาทต่อเดือน จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เอง โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเป็นธรรมต่อผู้ที่ไม่ได้ผลิตเอง เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องลงทุนเพื่อเก็บสำรองไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในตอนกลางคืน ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองไม่สามารถผลิตได้ ข่าวนี้ยังได้ระบุอีกว่า ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวด้วยเท่าที่ผมอ่านจากข่าวนี้ยังไม่มีการเก็บ มีแต่การถกเถียงอภิปรายกัน และทราบว่าผู้เสนอเรื่องนี้คือ พวกบริษัทไฟฟ้า
ต่อมา เว็บไซต์ “ศูนย์ข่าวพลังงาน” ซึ่งเป็นผู้เสนอข่าวนี้ได้ลงคำชี้แจงของโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า “กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร หรือไฮบริด โดยจัดทำแผนระยะยาว 20 ปี นอกจากนี้ จะมีการเตรียมระบบไฟฟ้ารองรับในการที่ประชาชนจะผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เอง เช่น การมีแบตเตอรี่สำรอง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การสร้างระบบส่งไฟฟ้ารองรับในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดมาช่วยการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคง และมีค่าไฟฟ้าเหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป”
เว็บไซต์เดียวกัน ได้เสนอข่าวจากโฆษกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า
“กกพ. ไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟท็อป” ประเภทใช้เองในบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าใช้ในปริมาณไม่มาก แต่ประเภทกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ ได้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในปริมาณมาก เฉพาะบางช่วงเวลาซึ่งจะผลิตใช้ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็จะต้องมาขอใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ซึ่งในกลุ่มนี้หากในอนาคตเกิดการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้ารวมและต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศได้”
ผมมี 3 ประเด็นที่จะแสดงความเห็น และนำเสนอข้อมูลที่ถูกอ้างถึง
ประเด็นแรก การที่โฆษก กฟผ.อ้างว่า “ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” นั้น ผมรู้สึกดีใจ และขอขอบคุณที่ทาง กฟผ.มีความรับผิดชอบต่อการลดปัญหาร่วมที่สำคัญของโลก แต่การสนับสนุนดังกล่าวจะไม่มีทางเป็นไปได้จริงเลย หากไม่นำระบบที่เรียกว่า Net Energy Metering (NEM) มาใช้
ระบบ NEM เป็นระบบที่ให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้เอง (แต่ยังไม่ถึงเวลาต้องใช้) สามารถไหลเข้าสู่ระบบสายส่ง หรือ “ฝากธนาคาร” ไว้ก่อนในตอนกลางวันแล้วจึงค่อย “ถอนกลับคืนมา” เพื่อใช้ในเวลากลางคืนเมื่อถึงเวลาคิดค่าไฟฟ้าในรอบเดือนก็คิดกันตามตัวเลขในมิเตอร์ที่เหลือสุทธิ
ผมมีภาพประกอบด้วยครับ ซึ่งผมนำมาจากรายงานการประเมินผลของประเทศเคนยา ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำในทวีปแอฟริกา (Assessment of a net metering program inKenya, Volume 1: Main report, 2014-จัดทำโดยสหภาพยุโรป)
ขอเริ่มต้นด้วยภาพ (ก) ครับ
พลังงานไฟฟ้าที่ระบายด้วยสีเหลือง คือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในตอนกลางวัน (คือหมายเลข 1 และ 2 รวมกัน) แต่มีการใช้โดยตรงในบ้านเพียงบางส่วน (หมายเลข 1) ที่เหลือ (ตามหมายเลข 2) คือ จำนวนที่ต้องจัดการหรือต้องหาที่อยู่ให้มัน ไฟฟ้าก็เหมือนกับสสารทั่วไปคือ ต้องการที่อยู่หรือไม่ก็ต้องนำไปใช้งานเท่านั้น
ในบ้านเราเวลานี้ ทางการไฟฟ้าฯ ยอมให้ไฟฟ้าที่เหลือนี้ไหลเข้าสู่สายส่งได้ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ผู้ผลิต ทั้งๆ ที่ทางการไฟฟ้าฯ นำไปขายให้แก่ผู้ใช้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ส่งผลให้ผู้ผลิตเองไม่สามารถคุ้มทุนทางการเงินได้ ดังนั้น ใครก็ตามที่อ้างว่าจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงเลยเพราะในครัวเรือนจะไม่มีใครกล้าลงทุน ส่วนรายใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัย ก็จะลงทุนในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ทั้งหมด
นอกจากทางการไฟฟ้าฯ ไทยจะไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทนจากสิ่งที่ตนได้มา “ฟรีๆ” แล้ว ยังคิดจะเก็บเงินเขาเพิ่มเติมอีก นี่หรือที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอ้างว่าเพื่อความเป็นธรรม ทางการไฟฟ้ามีสิทธิจะเก็บเงินจำนวนนี้ได้ ก็ต่อเมื่อทางการไฟฟ้าฯ ยอมจ่ายค่าไฟฟ้าที่รับไปฟรีๆ ก่อนแล้วเท่านั้นแต่จะเก็บสักเท่าใดค่อยมาว่ากัน
ประเด็นที่สอง ความจริงสหรัฐอเมริการับ
สำหรับประเด็นนี้ กรุณาดูภาพ (ข) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ภาพ ซ้ายมือเป็นระบบ NEM ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายกว่า 40 ประเทศ ทั้งประเทศรายได้สูง รายได้ปานกลาง รวมทั้งประเทศเคนยาด้วย
นับถึงปี 2013 ในสหรัฐอเมริกามี 43 รัฐที่ใช้ระบบ NEM นับถึงสิ้นปี 2016 มีการติดตั้งแล้วจำนวน 40,300 เมกะวัตต์ (อันดับ 4 ของโลก รองจากจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี - วิกิพีเดีย) อย่างไรก็ตาม วิธีการ “แลก” ไฟฟ้ากันแบบนี้ได้ถูกจัดเป็นประเภทแบบเก่าไปแล้วโดยมีของใหม่ที่ดีกว่านี้ในบางรัฐ
ระบบใหม่อยู่ในทางขวามือของภาพ (ข) ครับ เราจะเห็นว่ามี 2 มิเตอร์แยกกันระหว่างไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่บ้าน กับไฟฟ้าที่ส่งออกจากบ้าน ทั้งนี้ เพื่อจะได้คิดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากบ้านสูงกว่าอัตราที่รับเข้าสู่บ้าน เขาเรียกระบบนี้ว่า “คุณค่าของโซลาร์ (Value-of-Solar)” โดยมีการใช้แล้วใน 2 รัฐ คือ มินนิโซตา และเมือง Austin ในรัฐเท็กซัส (ข้อมูลจาก Minnesota’s Value of Solar, Institute For Local Self-Reliance, John Farrell, April 2014)
เหตุผลสำคัญ 4 ประการที่ต้องรับซื้อสูงกว่าที่ขายเพราะว่า (1) ไม่ต้องซื้อไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงสกปรก (2) หลีกเลี่ยงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อมารองรับ Peak เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อปี (3) ประกันค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดหลายสิบปี (4) ลดความสูญเสียพลังงานในสายส่ง
สำหรับภาพ (ค) หากไม่สามารถทำตาม 2 วิธีการที่ว่าแล้ว ทางเลือกที่ถูกบังคับให้เลือกก็คือ การนำไฟฟ้าที่เหลือไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งทางโฆษก กฟผ. มีแผนการระยะยาว 20 ปีเพื่อลงทุนไว้แก้ปัญหานี้
สำหรับบ้านอยู่อาศัยธรรมดาๆ ในบ้านเราก็มีการติดตั้งแบตเตอรี่กันบ้างแล้ว รวมถึงที่โรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี แม้ยังมีปัญหาความไม่คุ้มทุนทางการเงิน แต่อาจจะคุ้มในแง่ของการเรียนการสอน และการสร้างจิตสำนึก
อย่างไรก็ตาม ในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 13 เมกะวัตต์ และแบตเตอรี่ขนาด 52 เมกะวัตต์ สามารถเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยผู้ติดตั้งขายไฟฟ้าให้แก่ริษัทในราคา 13.9 เซนต์ต่อหน่วย (4.80 บาท) ตลอดไป (แต่ถูกกว่าการผลิตจากน้ำมัน 10%) โดยที่บริษัทนำไปขายให้ประชาชนในราคา 27.68 เซนต์ (9.55 บาท) (https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-03-08/tesla-completes-hawaii-storage-project-that-sells-solar-at-night) หมายเหตุ รัฐนี้ค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในสหัฐฯ
นี่คือสิ่งที่แต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งประเทศเขาปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ทางการไฟฟ้าฯ ไทยยังไม่ยอมเริ่มต้น มีหลายรายที่ถูกถอดมิเตอร์แบบจานหมุนออกไป แล้วนำมิเตอร์ใหม่มาแทน โดยให้ไฟฟ้าไหลออกได้แต่มิเตอร์ไม่หมุนย้อนกลับ
ผมไม่ทราบว่า ผลการถกเถียงเรื่องบริษัทไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาจะเก็บเงินจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปถึงขั้นไหนแล้ว แต่ในรัฐมินนิโซตา และเมือง Austin กลับมีการพัฒนานโยบายไปสู่ขั้นสูงอีกขั้นหนึ่ง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่นำมาเล่าให้คนไทยฟังบ้าง
ประเด็นที่สาม ตัวอย่างดีๆ จากประเทศเคนยา
ประเทศเคนยาเป็นประเทศยากจน มีจีดีพีต่อหัวประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศไทย แต่เขาใช้นโยบาย NEM ครับ จากรายงานที่ผมอ้างแล้ว พบว่า หน่วยงานด้านเด็กแห่งหนึ่งสามารถป้อนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้โดยตรงเข้าสู่สายส่งได้ถึง 35% ของที่ผลิตได้ ดูรายละเอียดในภาพครับ
สิ่งที่ผมรู้สึกตกใจมากก็คือ ค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานนี้ต้องจ่ายให้การไฟฟ้าฯ ของเขาคิดเป็นเงินไทยหน่วยละ 7.65 บาทต่อหน่วย หรือเกือบ 2 เท่าของประเทศไทย แต่ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ตลอด 25 ปี เท่ากับ 3.96 บาทต่อหน่วย (คิดราคาติดตั้งในปี 2011) ส่วนต่างที่ลดลงสามารถเป็นค่าอาหารสำหรับเด็กๆ ได้มากทีเดียว
อนึ่ง ผมมีข้อมูลการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (กทม.) พบว่า ติดตั้งในปีเดียวกัน จำนวน 11 กิโลวัตต์ เงินลงทุนต่อกิโลวัตต์ก็ใกล้เคียงกัน (มูลนิธิฯ 122,700 บาท/กิโลวัตต์, เคนยา 135,000 บาท/กิโลวัตต์) แต่ของมูลนิธิผลิตไฟฟ้าได้ในเวลา 68 เดือน ได้ 75,735 หน่วย เฉลี่ยปีละ 1,215หน่วย ในขณะที่ในปี 2012 ของเคนยาได้ 1,365 หน่วย ซึ่งดูจากแผนที่แดดแล้วก็ควรจะเป็นเช่นนั้น
เท่าที่ผมติดตามต้นทุนในการติดตั้งใหม่ในปี 2560 พบว่า ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ ลดลงมาเหลือเพียง 1 ใน 3 จากปี 2554 และถ้าใช้ข้อมูลของมูลนิธิฯ ที่ 1,215 หน่วยต่อกิโลวัตต์ต่อปี ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ผลิตได้ในช่วง 25 ปี จะประมาณ 1.32 บาทต่อหน่วยเท่านั้น แต่ทาง กกพ.รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในปัจจุบันด้วยราคา 4.12 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ผมจ่ายเดือนล่าสุดเฉลี่ย 3.87 บาทต่อหน่วย (รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าเอฟทีที่ขึ้นแล้ว)
หมายเหตุ เมื่อปลายปี 2016 ผู้ชนะการประมูลโซลาร์ฟาร์มขนาด 130 เมกะวัตต์ในประเทศเยอรมนีด้วยราคาไฟฟ้า 0.081 USD/kwh หรือ 2.84 บาทต่อหน่วยเท่านั้น (จาก Rethinking Energy 2017, International Renewable Energy Agency, IRENAหน้า 35 Download ได้)
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทาง กกพ.ตามโลกไม่ทันหรือเปล่า ทำให้เจ้าของฟาร์มที่บางคนกลายเป็นมหาเศรษฐีในพริบตา
อ้อ เกือบลืม ของมูลนิธิฯ ก็สามารถขายไฟฟ้าได้ครับ แต่นั่นมันนานมาแล้วแต่เป็นเรื่องยากมากในปัจจุบัน
ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “เก็บภาษีแดด” เพราะผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐบาลนำไปพัฒนาประเทศเพื่อความสุขของประชาชน จะเก็บภาษีแดดก็จะเป็นไรไป แต่ต้องให้ประชาชนมีรายได้จากการผลิต และขายไฟฟ้าก่อน ซึ่งเทคโนโลยียุค 4.0 ได้เปิดโอกาสให้แก่ทุกคนแล้ว แต่ถูกนโยบายของรัฐบีบบังคับให้เป็นผู้ซื้อจากพ่อค้าพลังงานผูกขาดที่ตกยุคไปแล้ว