xs
xsm
sm
md
lg

“Health spring” ปรากฏการณ์คนรักประกันสุขภาพ...ไม่จำนน?! / สมบูรณ์ คำแหง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก Somboon Khamhang
 
สมบูรณ์  คำแหง  ที่ปรึกษา กป.อพช.ใต้ 
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไข “พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิทธิการรักษาพยาบาล (บัตรทอง) ในขณะนี้ เป็นภาพสะท้อนทางสังคม และการเมืองอย่าน่าสนใจยิ่ง 
 
ในขณะที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พยายามอ้างเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงให้ระบบดังกล่าวดีขึ้น โดยการตั้งสมมติฐานของปัญหานี้ว่า “รัฐไม่สามารถรองรับการใช้จ่ายงบประมาณต่อเรื่องนี้ได้อีกต่อไป” และยังเข้าใจไปว่า “การรักษาพยาบาลฟรีมากเกินไป ทำให้คนเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐมากเกินไป” และกลายเป็นบทวิเคราะห์ของฝ่ายรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
 
ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็ยังเดินหน้าปรับระบบประกันสุขภาพที่เป็นอยู่ โดยการนำรูปแบบการร่วมจ่ายมาเป็นทางออกต่อเรื่องนี้ และนำไปสู่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปทั้ง 4 ภาค
จนกลายเป็นปรากฏการณ์
 
“Health spring”
 
อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และนั่นคือ การแสดงออกของเครือข่ายประชาชนผู้รักสุขภาพทั้งหลาย ที่ได้ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างหนัก เพราะไม่เห็นด้วยต่อแนวทางของรัฐบาล จนนำไปสู่การขัดขวางการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วทุกภาค
 
ปรากฏการณ์ความไม่ไว้วางใจนี้ ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่แตกต่างกัน ประชาชนที่ออกมาแสดงท่าทีเพื่อปกป้อง “ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล” อันถือเป็นแนวนโยบายขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดการให้แก่ประชาชน และคือหลักการสำคัญที่รัฐจะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
การรักษาพยาบาลฟรีตามนโยบาย “บัตรทอง” คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ลดหายไป จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ 
 
ในขณะที่เหตุผลของรัฐที่อ้างถึงการบริหารงบประมาณแผ่นดิน หรือเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป จึงต้องหาทางออกโดยให้ประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ด้วยนั้น ถือเป็นเหตุผลที่ยังแผ่วเบาเกินไป หากมากไปกว่านั้นคือความคลางแคลงใจของประชาชนต่อเรื่องผลประโยชน์ หรือเบื้องลึกเบื้องหลังต่อเรื่องนี้ที่รัฐบาลยังไม่สามารถอธิบายได้
 
“จะแก้ไปทำไม ถ้ามันไม่ดีขึ้น” จึงเป็นวาทกรรมที่เป็นคำถามต่อรัฐบาล ซึ่งถามไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตอบด้วยว่า ที่ผ่านมา ทำไมบัตรทองสามารถดำเนินมาได้ตั้งหลายสิบปี แม้จะมีปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่อ่อนด้อยไปบ้างก็ตาม แต่ประชาชนไทยทุกคนก็ได้เข้าถึงสิทธิเท่าเทียมกันถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาล
 
ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงต่อเรื่องนี้ก็สามารถกระทำได้ หากต้องไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานที่มีอยู่ นั่นคือ รัฐจะต้องยกระดับนโยบายเรื่องนี้ให้ได้รับมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าที่เป็น และควรหาวิธีการที่ดีกว่านี้ในการปรับปรุงระบบสุขภาพของคนทั้งประเทศ ให้เป็นระบบ และมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ นักการเมือง พนักงานลูกจ้างบริษัท ห้างร้าน และอื่นๆ แต่ไม่ใช่ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่อเรื่องนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น 
 
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการแก้ไขต่อเรื่องนี้ อาจจะเป็นทางออกข้างๆ คูๆ ที่กำลังจะอาศัยฐานอำนาจตนเองเข้ามากำหนด หรือควบคุมให้เป็นไปตามสิ่งที่รัฐบาลต้องการ เป็นการสร้างความชอบธรรมในรูปแบบทั่วไปที่เสมือนว่าดูดี แต่ที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็เป็นไปเพียงเพื่อเบียดบังความจริงต่อเรื่องนี้
 
ปรากฏการณ์ Health Spring จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่ง รัฐบาลจะหยุด หรือจะเดินหน้าต่อเรื่องนี้ เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนทั่วไปกำลังเฝ้าจับตา โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังประสบชะตากรรมคล้ายๆ กันที่รัฐบาลไม่สนใจ ไม่เข้าใจ และพยายามนำความชอบธรรมทางกฎหมาย ทางอำนาจ (เบ็ดเสร็จ) ที่ตนเองสร้างขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานอ้างเพื่อเดินหน้าแนวนโยบาย กิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของคนเหล่านั้นตลอดเรื่อยมาในช่วงกว่า 3 ปีที่ได้บริหารประเทศนี้
 
จึงน่าติดตามยิ่งว่า แรงของการเคลื่อนไหวนี้จะสั่นสะเทือนต่อไปแค่ไหน และพอที่จะร้อยเรียงถักทอเพื่อประสานเสียงของความทุกข์ร้อนร่วมกันให้ดังมากกว่านี้หรือไม่ 
กำลังโหลดความคิดเห็น