ปลายเดือน ม.ค.2559 ที่เพิ่งผ่านมามีเสียงดังก้องออกมาจากเวที “สมัชชา กอ.อพช.ใต้” หรือการประชุมประจำปีของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจที่มีอยู่มากล้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ว่า หากใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ขาดการใช้ธรรมนำหน้า พร่ำเพรื่อ อาจจะทำให้เกิดแรงต้าน แล้วในที่สุดอาจจะจบไม่สวย
ในฐานะที่ “กป.อพช.ใต้” มีเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินด้ามขวาน นอกจากจะเดินหน้าปฏิบัติการด้านการพัฒนาเพื่อนำพาชุมชน และสังคมเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังเฝ้าจับตาถึงทิศทางการพัฒนา สถานการณ์ความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับชุมชน ระดับภาคและระดับชาติ
“MGR Online ภาคใต้” จึงถือโอกาสนี้จับเข่าพูดคุยกับ “สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้” ผู้ที่เป็นทั้งแม่บ้าน และหัวขบวนของเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนเหล่านี้ เพื่อสะท้อนบางภาพความเคลื่อนไหวในระดับชุมชนที่น่าจะโยงใยได้ถึงภาพของสังคมโดยรวม
“MGR Online ภาคใต้” : ในฐานะที่เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) อยากให้ฉายภาพการทำหน้าที่ขององค์กรนี้ก่อน
“สมบูรณ์ คำแหง” : จะเป็นเสมือนกลไกการเชื่อมประสานองค์กรพัฒนาเอกชนที่เราเรียกกันว่า NGOs ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ในหลายๆ ประเด็น ตอนนี้มีประมาณ 20 กว่าองค์กร และจะมีการประชุมที่เป็นเวทีสมัชชาปีละ 1 ครั้ง แต่ระหว่างปีก็จะมีการส่งเสริมกันในบางเรื่องบางประเด็น ก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์จะเป็นไป
ในการประชุมพบปะในแต่ละครั้งก็จะมีสมาชิกประมาณ 80-100 คน เข้าร่วมครอบคลุมพื้นที่ทั้งภาคใต้ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนกันทั้งเรื่องสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องทรัพยากร ทะเล ป่าไม้ และที่ดิน เรื่องสิทธิชุมชนที่ถูกละเมิดในรอบปี เรื่องงานพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่สมาชิกทำงานอยู่ เราก็จะมีการพูดคุยกัน
ผมเองก็จะทำหน้าที่เสมือนกับเป็นแม่บ้าน ที่คอยดูว่าจะทำยังไงก็ได้ให้สมาชิกได้ทุนกันทุกปี และก็ติดตามสถานการณ์ของแต่ละคน สร้างการสื่อสารรวมกันให้แก่สาธารณะได้รับรู้
: เวทีสมัชชา กป.อพช.ใต้เพิ่งพูดคุยกันไปล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข้อสรุปน่าสนใจอะไรบ้าง
ใช่ครับ เพิ่งจัดไปไม่กี่วันเป็นสมัชชา กป.อพช ใต้ โดยตระเวนย้ายกันจัดแต่ละจังหวัด คนทำงานในจังหวัดต่างๆ ก็ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ในปีนี้เราจัดที่ จ.สงขลา
ในทุกปีเราจะมีการประเมินว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่เราเห็นรูปธรรมในเรื่องของการบริหารของรัฐบาลชัดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเข้ามายึดอำนาจประมาณปีกว่า ในกระแสของสังคมที่มีการประท้วงในยุคก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา คนใต้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามา เราเองที่เป็น NGOs ในภาคใต้ก็ถูกกล่าวหาในลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะด้วยเหตุผลของการเมืองที่มันขัดแย้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
รัฐบาลชุดนี้เข้าก็แทบจะไม่มีขัดขวางอะไร หรือใครสักเท่าไร อาจจะด้วยความคาดหวังว่าตอนที่เขาเข้ามา เขาประกาศชัดว่า อยากจะเข้ามาคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ต้องการที่จะเข้ามาปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้ประเทศนี้มันดีขึ้น มันสามารถเดินไปได้ ฟังๆ แล้วเป็นคำพูดที่มันสวยหรูพอสมควร ซึ่งก็จริง เพราะในช่วงก่อนหน้าที่ทหารจะเข้ามาก็เป็นแบบนั้น
ในนาม กป.อพช. ใต้ เราเองก็พยายามเฝ้าติดตามว่ามันจะเป็นอย่างที่เขาว่าไหม ซึ่งก็น่าจะเป็นความคาดหวังของคนทั้งประเทศ คงไม่ใช่เฉพาะคนในภาคใต้ที่ต้องการจะให้รัฐบาลทำในลักษณะอย่างนี้ แต่พอในปีที่ผ่านมา คือปี 2558 ในนโยบายของรับบาลชุดนี้หลายเรื่องกลายเป็นนโยบายที่เราไม่คาดคิดว่าเขาจะทำ โดยเฉพาะอย่างเช่น นโยบายที่ไปรุกเรื่องของการสร้างแผนแม่บททวงคืนพื้นป่า ซึ่งมันกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในเขตป่าเขาที่ทำมาหากินโดยสุจริต โดยเฉพาะชาวสวนยาง สวนปาล์มในภาคใต้ก็โดนกันไปเยอะ
นโยบายในเรื่องของการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราไม่คิดว่ารัฐบาลนี้จะคิดทำ นโยบายการจัดการพลังงานในเรื่องของการพยายามที่จะเปิดพื้นที่สัมปทานรถที่ 21 นโยบายเกี่ยวกับเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อีกหลายโรง การใช้เรื่องเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหิน ที่มีเรื่องก่อนหน้านี้ก็ที่ จ.กระบี่ และที่ จ.สงขลา นโยบายในเรื่องการแก้ปัญหาผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ ปรากฏว่า ในหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ทำก็พยายามใช้อำนาจพิเศษบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ในรอบปี 2558 มันเกิดผลกระทบที่กระจัดกระจายอยู่พอสมควร
: แสดงว่ารัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเข้ามาครั้งนี้ ที่บอกว่าจะเข้ามาเดินหน้าปฏิรูปบ้านเมือง แก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ วันนี้มันเป็นไม่ได้เป็นไปตามที่เขาพูดไว้
ช่วงหลังเราเริ่มไม่ค่อยมั่นใจแล้ว เพราะว่ามองจากแค่เรื่องของการพัฒนาโครงการขาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งเราไม่คิดว่ารัฐบาลนี้จะคิดทำ การเดินหน้าที่จะสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล การเดินหน้าที่จะสร้างโรงไฟฟ้าหลายๆ โรง การเดินหน้าที่จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ซึ่งถ้าเราย้อนภาพเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เป็นคนคิดทั้งสิ้น โดยเฉพาะรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) จะเห็นได้ชัดเลย เพราะฉะนั้นเรากำลังคลางแคลงใจว่า ตกลงรัฐบาลกำลังจะมาทำอะไรกันแน่
: อย่างกรณีให้สัมปทานที่ดิน 99 ปี เหมือนที่เขาว่ากันไหม “ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ” อะไรแบบนั้น
ใช่ มันเป็นเรื่องที่รัฐบาลยุคนั้นเคยคิดเรื่องนี้ ก่อนโดนแรงกดดันจนอยู่ไม่ได้ แต่เราก็ไม่นึกว่ารัฐบาลนี้จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคิด คือ ในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้เช่าที่ดิน 99 ปี อันนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นประเด็นร้อนแรงประเด็นหนึ่งที่จะสามารถสั่งสอนรัฐบาลชุดนี้ได้เลย
และถ้าเราย้อนไปก่อนหน้านี้ เรื่อง GMO ซึ่งเป็นเรื่องที่ในสายเกษตรเขาก็รู้กันดีว่า เป็นภัยพิบัติต่อแหล่งผลิตอาหาร กับพืชผัก รัฐบาลชุดนี้ก็คิดใหม่อีก เรื่องประมง อันนี้ก็จะเห็นรูปธรรมชัดที่มันกระทบคนในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ชายฝั่งเยอะมาก การที่มีการร่าง พ.ร.บ.ประมงที่เกิดจากการมีส่วนร่วม โดยมีการร่างไว้ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา พอรัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็ปรากฏว่าเขาก็ไม่เอาเลย เขาก็ไปประกาศเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แทน ซึ่งไปบัญญัติอะไรบ้างอย่างที่มันขัดต่อการทำประมงในวิธีปกติของชาวบ้านในพื้นที่
ผมว่าเรื่องพวกนี้ในหลายๆ เรื่องมันกำลังจะถูกปะติดปะต่อให้เป็นภาพเดียวกัน แล้วผมว่าถ้าถึงจุดหนึ่งมันจะสามารถสั่นคลอนรัฐบาลชุดนี้ได้ คือในหลายเรื่องมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าเรื่องที่กล่าวมาถึงมันกระทบต่อคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ กระทบต่อคนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ
: หรือว่ารัฐบาลทหารกลับไปสนับสนุนกลุ่มทุน หรือกลุ่มนายทุน
ผมว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามา ณ วันนี้เรื่องพวกนี้หายไปแล้ว เรื่องความคิดที่จะปฏิรูป เรื่องความคิดที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมันดีขึ้นนี่มันหายไปแล้ว สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ ทำยังไงถึงจะรักษาสภาพที่เป็นอยู่ตรงนี้ ณ วันนี้ให้มันดีที่สุด แล้วก็พยายามที่จะสืบสานความคิดของนักธุรกิจหรือเรื่องของกลุ่มทุน ซึ่ง ณ วันนี้พูดได้เต็มปากว่า มันจะกลายรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ในแก่กลุ่มทุนอยู่พอสมควร
และยิ่งชัดขึ้นคือ ณ วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญออกมา ซึ่งเรามองเห็นในหลายมาตรามากที่มันหายไปเลย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรมันหายไปเลย มันกำลังจะเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มนักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เข้ามากอบโกย เข้ามาถึงขั้นทำลายล้างโดยไม่มีกฎหมายใดที่จะไปคัดค้านได้เลย อย่างมาตรา 66 และ 67 ที่เคยมีอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 ก็หายไปเลย ซึ่งกระบวนการในการกลั่นกรองก็จะหายไป
อันนี้ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สนใจเรื่องที่คุณเคยพูดไว้ตั้งแต่ต้น
: จริงๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ต้องการนำมาใช้เพื่อการปฏิรูป มองอย่างนั้นไหม
ผมว่ามันกำลังเล่นแง่เล่นมุมอะไรกันบางอย่าง เสมือนว่าร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแบบไม่ได้สนใจเลยว่า มันจะดีหรือไม่ดีอย่างไร คือ ถ้ามันไม่ผ่าน เขาก็ไม่สนใจ
: ในฐานะที่เฝ้ามองการขับเคลื่อนของสังคม มองว่ารัฐบาลชุดนี้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้ผ่านประชามติอย่างนั้นไหม
ณ วันนี้มันชัดเจนเข้าไปทุกที จนรู้สึกว่าผ่านหรือไม่ผ่านก็ได้ สุดท้ายเค้าก็จะคุมสภาพได้ทั้งหมด วันนี้เขาก็ประกาศว่า ถ้าคุณไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงว่าคุณเป็นเสื้อแดง แสดงว่าคุณไม่รักประเทศไทย คุณไม่อยากให้จัดการอะไร คุณคิดทุจริต คุณต้องการสร้างความขัดแย้งทางสังคม เพราะฉะนั้นมันเสมือนเป็นการบีบคั้นอีกทางหนึ่ง
แต่ถ้าเกิดว่าไม่ต้องการก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาใช้ ซึ่งเราแทบไม่มีทางไปเลย คนไทยได้ก็จะเปรียบเสมือนถูกขู่กรรโชก
: ในเวลานี้ที่ทิศทางการพัฒนาต่างๆ ดูเหมือนถูกทุ่มลงมาที่ภาคใต้ ถึงขั้นมีคนพูดว่าจะดันประเทศไปสู่ความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”
ย้อนไปดูในแผนของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) 10-15 ปีที่แล้ว สภาพัฒน์เองพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ไปในแนวทางแบบนั้น ทั้งๆ ที่ศักยภาพของภาคใต้มันไม่ใช่ ศักยภาพของภาคใต้เป็นเรื่องของภาคการเกษตร มีทะเลเรื่องของการทำประมง และการท่องเที่ยว แต่ภาครัฐเองไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้เท่าไหร่
รัฐบาลจะมองไปในลักษณะของจะใช้ศักยภาพของความเป็นภาคใต้ที่เป็นแหลมที่ยื่นออกไปกลางทะเล เพราะฉะนั้นในเรื่องของการพยายามจะเป็นมหาอำนาจในเรื่องของพลังงานของโลก ไม่ใช่เป็นความคิดของนักการเมืองอย่างเดียว จะมีพวกกลุ่มทุนเกี่ยวกับพลังงานเป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องเดินไปในแนวทางแบบนี้ ซึ่งคนทั่วไปแทบจะรู้กันน้อยมาก
: ทั้งหมดทั้งมวลเหมือนจะให้ภาคใต้ หรือว่าประเทศไทยเกิดการพัฒนาในอัตราเร่ง
คือถ้าเรากลับไปดูภาพของสภาพัฒน์ที่เขาพยายามจะวางโครงการพัฒนา มันกระจายทั่วทั้งสองฝั่งทะเล นี่เป็นรูปธรรมมาก มันอาจจะไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ เรื่องพวกนี้ถูกจัดวางมาในรัฐบาลย้อนหลังก่อนหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้กลุ่มที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลต้องจับตา และกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พยายามจะผลักดันให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งหมดก็จะแฝงไปในเรื่องผลประโยชน์พอสมควร
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าภาพที่เขาพยายามจะวางในพื้นที่ภาคใต้ เอาเข้าจริงๆ มันจะเป็นมหาอำนาจได้ไหมตามที่เขาคิดจินตนาการไว้ไหม แม้กระทั่งเรื่องของการทำแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่บอกจะเชื่อมสองฝั่งทะเล สามารถตัดตอนเส้นทางไม่ต้องไปอ้อมสิงคโปร์ได้ ไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์จริงไม่จริง
ณ วันนี้กระแสโลกมันไปเร็ว การมีชุดความคิดแบบนี้ และต้องการจะเป็นมหาอำนาจ โดยคุณละเลยในเรื่องของศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครขอ แต่คุณก็ยังจะเดินหน้าที่จะกอบโกยผลประโยชน์ และรุกไล่พื้นที่ที่เป็นชุมชนดั้งเดิม เพื่อที่จะเอาโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ไปลงในพื้นที่ภาคใต้เยอะแยะมากมาย
: วลานี้เหมือนมี 2 ภาพที่ทับซ้อนกันอยู่ อุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ต่างๆ ทั้งบนบก และในทะเลที่เราพยายามจะผลักดันให้เป็น “มรดกโลก” ไปทับซ้อนกับความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”
มันต้องเลือกให้ชัด วันนี้ถ้าเกิดเลือกข้างใดข้างหนึ่งผิด หายนะในวันข้างหน้าจะตามมา วันนี้ในเรื่องของพลังงานมันกำลังมีทางเลือกอื่นๆ ที่มันดีกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล ใช้น้ำมัน ใช้ถ่านหิน โดยเฉพาะการใช้พลังงานธรรมชาติ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ทั่วโลกเขาไปทางนี้กันเกือบหมดแล้ว
วันนี้ประเทศไทยต้องคิดเรื่องนี้ให้ชัด และก็ถ้าเกิดว่าเราเลือกที่จะแลกกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มรดกโลกที่มันมีอยู่จริงที่มันประเมินค่าไม่ได้จะหมดไป และเราก็ไม่เคยประเมินค่าด้วยว่า ฝั่งอันดามันทั้งฝั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาล คุณเคยคำนวณเป็นมูลค่าไหม ด้านฝั่งอ่าวไทยก็มีมูลค่ามหาศาล คุณเคยคำนวณไหม
ถ้าเกิดคุณคิดว่าจะเก็บสิ่งนี้ไว้ และก็จะเน้นให้ภาคใต้เป็นภาคแห่งการท่องเที่ยว ผมว่าคุณทุ่มการพัฒนาไปในทิศทางนั้นดีกว่า
: แสดงว่าภาคใต้เหมาะที่จะเป็น “มรดกโลก” มากกว่าที่จะเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”
มันใช่ไม่หมด คือ ถ้าเกิดเป็นเรื่องของพลังงาน ผมเชื่อว่ามันมีอายุของมัน การสร้างท่าเรือก็มีอายุของมัน การขุดหลุมน้ำมันต่างๆ ก็จะมีอายุของมัน แต่เรื่องท่องเที่ยว เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องวิถีชีวิตของความเป็นภาคใต้ ผมว่ามันไร้ขีดจำกัด
: มองแบบเดียวกับที่สังคมไทยกำลังมองไหมว่า บ้านเมืองเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ผมว่า ณ วันนี้ ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ความคิดความอ่านของเราเขาแทบจะไม่ฟัง แล้วผมอาจจะวิพากษ์รัฐบาลนิดหน่อยคือ รัฐบาลมีลักษณะมีอำนาจมาก แต่กลับอยู่ภายใต้ความกลัว ผมว่าสิ่งที่เขากลัว ไม่ใช่ว่าจะกลัวอดีตผู้นำที่อยู่ต่างแดน แต่เขากำลังกลัวคนไทย กลัวประชาชน กลัวการลุกขึ้นมา กลัวการตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ มันทำให้แทนที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุดว่า มันเกิดอะไรขึ้นต่อประเทศนี้ นักการเมืองคนไหนที่มันสร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทย แต่เขากลับมาพูดในลักษณะเสมือนว่า วันนี้คนไทยไร้การเคารพกติกาอย่างรุนแรง
ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของประชาชน แต่ว่าการคิดในลักษณะนี้มันทำให้ทั้งรัฐบาล และแม้กระทั่งในเรื่องของรัฐธรรมนูญที่เราเห็น ก็พยายามที่จะควบคุมการแสดงออกของประชาชนหมดเลย จำกัดสิทธิในเรื่องของการที่ปกป้องท้องถิ่นของตนเองหมดเลย
: ภาพที่ปรากฏทางสื่อมวลชนต่างๆ มีทั้งโมโห ทั้งข่มขู่สื่อ ข่มขู่ประชาชน อะไรทำนองนั้น
เพราะเขากลัว และใช้ความกลัวนั้นมาจัดการพวกเรา แต่ว่าในส่วนของนักการเมืองที่คุณควรจะไปจัดการ แต่คุณไม่ได้ทำอะไรเลย
: กป.อพช.ใต้จะมีการประสานการขับเคลื่อนกับ กป.อพช.ภาคอื่นๆ หรือไม่
สิ่งที่เรายืนหยัดตลอด ณ วันนี้ ส่วนใหญ่เราทำงานกับประชาชน กับชาวบ้าน กับชุมชนที่เขาต้องการที่จะลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง ซึ่งนี่ก็จะเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะเกิดปัญหาจากการพัฒนาโครงการต่างๆ นี่จะเป็นสิ่งที่เรายืนยันว่าเราจะยืนหยัดที่จะปฏิเสธไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่มีการใช้ถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ เรื่องของการละเมิดสิทธิ เรื่องของการทำประมง เรื่องทะเล การไปละเมิดสิทธิในเรื่องการจัดการทรัพยากร การแสดงออกในเรื่องของวิถีชีวิต
ในส่วนของการไปพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างมากกว่านี้ ผมว่าการเรียกร้องทางการเมือง ณ วันนี้ผมเข้าใจว่ารัฐบาลเขาจะมีกำลังของเขาอยู่แล้ว หมายถึงกลุ่มคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่อาจจะเบื่อความขัดแย้ง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เขารู้สึกว่ารัฐบาลนี้อยู่อาจจะทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้น ลักษณะนี้ผมว่าเราจะต้องยอมรับสภาพไปสักระยะหนึ่ง ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลยังดำเนินการนโยบายในลักษณะนี้อยู่ การตื่นตัวของคนที่ถูกกระทำก็จะเริ่มลุกขึ้นการออกมาของคนที่ไม่เห็นด้วยต่อ พ.ร.ก.ประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่ออกมาเกือบ 20 จังหวัด การลุกขึ้นมาของคนที่ไม่เอา GMO การลุกขึ้นมาของคนที่ไม่เอาถ่านหิน การลุกขึ้นมาของคนที่ถูกกระทำในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ผมว่าเอาเข้าจริงชาวบ้านเขาไม่ได้กลัว และเมื่อถึงจุดหนึ่ง วันนั้นจะเกิดการเชื่อมร้อยภาพพวกนี้กันได้อย่างแรง ผมเชื่อว่าวันนั้นจะเป็นวันที่รัฐบาลจะต้องคิดหนัก
: การขับเคลื่อนต่อจากนี้
เราพยายามที่จะบอกแก่สังคมว่า ถ้าเป็นปัญหาของเรา เราต้องลุกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหนก็แล้วแต่ คือ รัฐบาลเองจะต้องแยกแยะให้ชัดด้วยว่า ถ้าเกิดคุณมาดูออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องเสื้อสี แต่ว่าที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ คุณต้องฟัง ต้องแยกแยะให้ได้ คุณอย่าไปตีรวมว่าเป็นเรื่องของการเมือง ไม่อย่างนั้นคุณก็จะตี และแก้ปัญหาของเรื่องนี้ผิด
: คำถามสุดท้ายในฐานะ กป.อพช.ใต้ ไม่กลัวอำนาจพิเศษ หรือไม่กลัว ม.44 บ้างหรือ
ไม่กลัว ยิ่งในภาคใต้จะเห็นชัดว่า เป็นภาคแรกหลังจากรัฐบาลยึดอำนาจ แล้วเราลุกขึ้นมาเรียกร้องในเรื่องของพลังงาน การเดินเท้าของขาหุ้นฯ ก็จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ออกมาคัดค้าน เรารู้สึกว่าสิทธิในเรื่องพวกนี้เรายังมีอยู่
ผมว่า ณ วันนี้นักพัฒนาเอกชนไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ ทุกๆ ภาคเลย ผมคิดว่าภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่เขาก็ไม่กลัว
เมื่อวานผมมีการประชุมกับชาวประมงพื้นบ้าน มาตรา 34 (ตาม พ.ร.ก.ประมงฯ) เขารู้สึกกระทบแน่นอน ถามว่าถ้าเดือดร้อนจริงไปเรียกร้องไหม ชาวบ้านยกมือ เขาบอกเขาไม่กลัวรัฐบาลทหาร นี่ก็เป็นคำจำกัดความของคนใต้ คนทั้งประเทศก็น่าจะคิดแบบนี้
นี่เป็นภาพรวมสั้นๆ วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ “MGR Online ภาคใต้” ได้มีโอกาสคุยกับ “สมบูรณ์ คำแหง” ในฐานะเลขาธิการ กป.อพช. ใต้ ในเรื่องของข้อคิดเห็นต่างๆ แล้วเราควรเอามาคิดคำนึงกันอีกทีว่า ประเทศชาติเราจะเดินหน้าไปทางไหน