xs
xsm
sm
md
lg

เลาะสนาม - [แอบ] สำรวจขบวนการประชาชนภาคใต้กับการต่อสู้สนามใหม่ (ตอนที่ 2)...เกี่ยวบน ร้อยล่าง ประกอบสร้างทางสังคม / บุญจิตร บุญสุภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...บุญจิตร  บุญสุภา 
--------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ “MGR Online ภาคใต้” : รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากนักวิชาการในรั้วสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังของภาคใต้ โดยจะถูกนำเสนอเป็นตอนๆ อันเป็นการเก็บจากตกวงประชุมระดับแก่นแกนเครือข่ายภาคประชาชนทั่วภาคใต้ ผสมผสานกับมุมมองที่ได้เห็น และได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนมาโดยตลอด
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
***เกี่ยวบน ร้อยล่าง ประกอบสร้างทางสังคม
 
แม้จะมีเสียงคำรามเล็กๆ จาก บรรจง นะแส ว่า “รัฐบาลมีหนาว” คำถามตามมาก็คือ ภาคประชาชนจะกำหนดบทบาทอย่างไร ในสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และอนาคต
 
อัมพร แก้วหนู จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่หัวเรือใหญ่เพิ่งโดนหางเลขจากมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 โยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ร้อนถึงองค์กรชุมชนภาคอีสาน 8 จังหวัดต้องทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกรัฐมนตรี ให้หยุดแทรกแซง และให้ยกเลิกคำสั่งโดยทันที ด้วยเห็นว่า
 
“การใช้อำนาจดังกล่าว เป็นการแทรกแซงการทำงาน ที่นำไปสู่การทำลายแนวคิด อุดมการณ์ การก่อตั้ง และการดำเนินงานของ พอช. ซึ่งสัมพันธ์กับพัฒนาการและการเติบโตขององค์กรชุมชน ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตามสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญ”
 
อัมพร แก้วหนู เปิดประเด็น และตั้งข้อสังเกตสำคัญในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากการที่รัฐบาลพยายามยุบ ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการปกครองท้องถิ่น (ตาม ..บ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  และร่างประมวลกฎหมายกำหนดเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยยกฐานะ อบต.ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาล จัดลำดับชั้นของเทศบาลเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งการควบรวมดังกล่าวทำให้ อบต.ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิม)
 
พร้อมตั้งคำถามที่ชวนท้าทายไม่น้อยว่า เป็นไปได้หรือไม่ ? ที่ในอนาคตจะมีการผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นยกฐานะเป็น “นิติบุคคล” เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยศักยภาพ และบทบาทสร้างการพัฒนาทางเลือก การสร้างทางเลือกการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารตอบโจทย์ของสังคมได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น พลังงานทางเลือก ภัยพิบัติ องค์กรชุมชน องค์กรการเงิน เกษตรทางเลือก ฯลฯ
 
ที่สำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกเหล่านี้ เขาเสนอว่าควรมีการจัดทำ “แผนพัฒนาภาคประชาชนภาคใต้” ที่ “ประกอบส่วน” ขึ้นจากแผนในรายพื้นที่/ประเด็นงานต่างๆ ที่ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว
 
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคประชาชน จำเป็นต้องมี “เวทีร่วม” ที่อาจอยู่ในรูปของการจัด “สมัชชาประจำปี” ที่เป็นทั้งการยกระดับการทำงาน และเคลื่อนไหวให้เป็นประเด็น วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ร่วม การเป็นเวทีเรียนรู้ที่สามารถหนุนซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สื่อสารให้กระจายออกไปสู่การรับรู้ในวงที่กว้างขึ้น
 
เขาเห็นว่า ภาคประชาชนต้องใช้สื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จำพวกอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ ให้เป็นช่องทาง โอกาส และเป็นประโยชน์ให้มากขึ้นด้วย เพื่อทำให้เกิด “การประกอบส่วน[การเคลื่อนไหว] ทางสังคม” ที่ทรงพลัง
 
ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่เน้นการทำงานกับกลุ่มชายขอบ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นเป็นพลังหลักในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การคิดค้นงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับภาคีในพื้นที่ภาคใต้ มูลนิธิชุมชนไททำงานกลุ่ม/ประเด็นปัญหาคนชายขอบและชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มชาวเล ไทยพลัดถิ่น ชุมชนชายแดนใต้ ซึ่งเธอมองว่า เป็นกลุ่มคน/พื้นที่ชายขอบ ที่เป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากที่สุดแล้ว
 
ด้วยพื้นฐานการทำงานที่ให้ความสำคัญต่อการคิดเอง ทำเอง เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพราะการทำงานพัฒนายุคที่เรียกว่า “ชุมชน 4.0” นั้น จุดชี้ขาดของการเคลื่อนไหวจะอยู่ที่ภาคีของความร่วมมือที่ประสมประสานกันอย่างลงตัว การมีระบบฐานข้อมูลที่เป็นชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือ การทำงาน “จัด[ตั้ง]ระบบชุมชน และการกำหนดประเด็นงานในพื้นที่” ให้เป็น “รูปธรรม” ที่ชุมชนสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องความต้องการของตนเองได้
 
ในด้านยุทธวิธีการเคลื่อนไหว ปรีดา คงแป้น มองว่า ต้องมีความ “หลากหลาย” ขึ้น การระดมมวลยังมีความจำเป็นในบางประเด็น และบางบริบท แต่การเชื่อมประสาน โดยการนำระบบข้อมูลที่ผ่านจัดการ และยกระดับแล้วให้เข้าสู่ช่องทางปกติของกลไกรัฐที่มีอยู่เดิม
 
หรือการยกระดับข้อมูลให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และสร้าง “กลไกร่วม” รัฐ เอกชน ชุมชน เช่น กลไกร่วมในรูปคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คณะอนุกรรมการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวเล คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล การผลักดันพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล ฯลฯ จะเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ยิ่งในสถานการณ์และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เปิดมากนัก ต้อง “พลิกแพลง ซอกแซกพอสมควร และใช้การล็อบบี้ร่วมด้วย” ข้อเสนอของเธอจึงน่าสนใจว่า บทบาทขบวนการประชาชนต้องครบเครื่อง ทั้ง...
 
การสร้างพื้นที่เคลื่อนไหวในหลากมิติกว้างจากการประสาน คัดง้างนโยบาย เจรจา ล็อบบี้ ต่อรอง งานจัดตั้งลึก เข้มข้นในพื้นที่ การระดมมวลชน ข้อมูล สิ่งศักดิ์สิทธิ์-นิติวิทยาศาสตร์ การประสานภาคีเครือข่ายแนวร่วมทุกระดับ”
 
ข้อเสนอนี้อาจคล้ายคลึง และสอดคล้องไปแนวทางเดียวกับที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งผู้ทำหน้าที่เป็นดำเนินรายการของการเสวนาในคราวนี้ด้วย เสนอไว้เมื่อครั้ง “สมัชชา กป.อพช.ภายใต้ปฏิญญา 30 ปี กป.อพช. จับปลาต้องลงน้ำ” เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ว่า
 
ทิศทางการทำงานพัฒนาและการปฏิบัติการเคลื่อนไหว การผสมผสานข้อมูลเชิงวิชาการ การจัดเวทีสาธารณะ การทำฐานข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างแรงเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนบน จัดทำข้อเสนอนโยบายและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ พัฒนาระบบข้อมูลวิชาการ การประสานวิชาการ โดยมีรูปธรรมการเรียนรู้จากชุมชน และพื้นที่รองรับและสนับสนุน จะทำให้เกิดการสร้าง-ค้น-เส้นทางสังคม-ชุมชนใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และสั่งสมความชอบธรรมในการปฏิบัติการ”
 
เพียงแต่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ บอกย้ำว่า “ชุมชนที่ปฏิบัติการจากส่วนผสมของคนอาวุโส และคนรุ่นใหม่ในชุมชนหรือในพื้นที่ เมื่อมีเครือข่ายกว้างเชื่อมต่อภายนอกได้ จะประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนมากกว่าชุมชนโดดเดี่ยว หรือไม่คบค้าสมาคมกับใคร”
 
ขณะที่ ปรีดา คงแป้น เสนอเพิ่มเติมด้วยว่า “ต้องไม่ลืมบทบาทผู้หญิงโดยเด็ดขาด” เพราะในสถานการณ์ที่เรียกว่า การปฏิรูป ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการจัดการปัญหาที่ซับซ้อนของชุมชน สามารถดึงพลัง และศักยภาพเพื่อฝ่าผ่านสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและมั่นคงได้ดีกว่า แม้จะยังไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนลงไปนัก ด้วยเวลาอันจำกัดของการเสวนา แต่เรียกความสนใจและอมยิ้มจากหลายคนทีเดียว
 
รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ อภิปรายต่อด้วยสไตล์ที่ออกจะดุเดือดเล็กน้อย ทำเอาผู้เขียนตกอกตกใจ จดประเด็นแบบตกๆ หล่นๆ เขาเริ่มต้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก กระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จึงยิ่งมีความสลับซ้อนตามไปด้วย ทั้งในแง่การต่อสู้แย่งชิงความหมาย พื้นที่ สัญลักษณ์ทางการเมือง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ
 
ดังนั้นแล้ว เส้นทางสู่การสร้างสันติภาพ จึงไม่ใช่ “การต้องการ/เรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง” หากคือ การทำให้เกิด “ความเป็นการเมือง (politicization)” ของปัญหาที่ซับซ้อน เชื่อมโยง เพราะความพยายามในการลดทอนความเป็นการเมืองให้เป็นเพียงปัญหาการมีส่วนร่วม หรือตัดตอนให้เหลือเพียงมิติใดมิติหนึ่ง ยิ่งทำให้สันติภาพห่างไกลออกไป
 
สิ่งที่ต้องทำในวันนี้ก็คือ การสร้าง “แพลตฟอร์ม (Platform)” หรือ “พื้นที่กลาง” “พื้นที่ร่วม” สำหรับการสนทนา เพื่อคลี่คลาย-เปลี่ยนผ่านสู่การสร้างสันติภาพ
 
“สิ่งท้าทายในวันนี้คือ การผลิต สร้างความรู้ การทำให้ความรู้เป็นอำนาจ การสร้างตัวตน สร้างสนามที่ยอมรับว่าคนเท่ากัน และต้องสร้างการสื่อสาร ที่วันนี้เราไม่อาจมอบหมายการสื่อสารให้แก่สื่อมวลชนได้อีกต่อไป ต้องลุกขึ้นมาทำเอง...”
 
ก่อนทิ้งนัยตบท้าย “เนื้อดินของประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะบ่มเพาะสันติภาพ”
 
ด้าน จารึก ไชยรักษ์ จากศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพภาคใต้ มาด้วยสไตล์นิ่มๆ ทว่า ชัดเจนในประเด็น เขามองในเชิงบวกว่า บทบาทการเคลื่อนไหวภาคประชาชน และภาคประชาสังคมนั้น ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ การเคลื่อนไหวต้องทำข้อมูลให้มีความน่าเชื่อถือ ยกระดับมาตรฐานข้อมูล และส่งผ่านผ่านข้อมูลไปในช่องทาง กรอบกฎหมายต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการรับฟัง และแก้ไขปัญหาได้
 
อย่างไรก็ดี การผลักดันการแก้ไขปัญหา เขาเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การหยิบประเด็นเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเชิงบวกต่อภาคประชาชน เพราะสิ่งนี้เป็นกระแส/แนวคิดสากลที่รัฐบาลไทยก็ได้ลงนามไว้ด้วยแล้ว แต่อาจหยิบยกบางประเด็น/เงื่อนไขมาแปลงไปสู่ทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม และผลักดันให้เป็น “วาระประชาชนคนใต้” ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างจริงจัง
 
ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นดั่งที่ จำนงค์ จิตรนิรัตน์ นักพัฒนาอาวุโสว่าไว้ (นอกรอบ) ที่ว่า...
 
“ณ นาทีนี้ เส้นทางประเทศไทยจึงยังไม่ใช่เส้นทางแห่งความสุขของประชาชน สังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ ลดพื้นที่ความหิวโหย ลดการเข้าถึงสาธารณูปโภค.. SDGs ยังเป็นวาทกรรมสวยหรู กินไม่ได้สำหรับคนจน แต่เป็นความงดงามของการฟอกอำนาจทุนฯ ให้ดูดี และสยายปีกได้กว้างลึกยิ่งขึ้น..เท่านั้น”
 
ซึ่งแทบไม่ต่างกับน้ำเสียงในลีลากวีของ นายหัวพงศา-พงศา ชูแนม หรือสืบ นาคะเสถียร แห่งต้นน้ำพะโต๊ะ ที่ว่า “รัฐธรรมนูญไทยคำใหญ่กินไม่ได้ จึงต้องจ้างศรีธนญชัยมาไขขาน รับใช้อำนาจทุน แปลไปอย่างพาลๆ จึงเรียกขานเพียงนิทานรัฐธรรมนูญ”
 
(ติดตามตอนที่ 3)
 
--------------------------------------------------------------------------------
 
คลิกอ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
 
- เลาะสนาม - [แอบ] สำรวจขบวนการประชาชนภาคใต้กับการต่อสู้สนามใหม่ (ตอนที่ 1)...ดับบ้าน สานพลัง สร้างขบวน / บุญจิตร บุญสุภา 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น