โดย...บุญจิตร บุญสุภา
--------------------------------------------------------------------------------
ยามเช้าอันสดใส สายลมอุ่นอ่อน บรรยากาศกำลังสบายๆ กลางหมู่แมกไม้พื้นบ้านนานาพันธุ์ ณ วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ พื้นที่พนางตุง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา คราคล่ำ และคึกคักไปด้วยบรรดาเหล่านักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนาเอกชน ผู้นำกลุ่ม/องค์กรชุมชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักปฏิบัติการทางสังคม ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และส่วนกลาง ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นหนุ่มสาว รวมแล้วกว่า 100 คน ที่พร้อมใจกันนัดหมายระดมความคิดเห็น “ดับบ้าน” และการสานสร้างพลังทางสังคม และการกำหนดบทบาทประชาสังคมต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคใต้ นักพัฒนาอาวุโสท่านหนึ่งถึงกับเอ่ยว่า
“เป็นนิมิตหมายอันดีงาม เพราะนานมากแล้วที่ไม่ได้มีการรวมแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้หลากหลาย และมากมายเท่าครั้งนี้ ซึ่งก็ยกต้องความดีความชอบให้แก่ สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) แม่งานประสานสิบทิศ อันเป็นที่มาของการจัดเวทีระดมในครั้งนี้”
*** ดับบ้าน สานพลัง สร้างขบวน
สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้ เริ่มต้นเวทีด้วยการเล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า สถานการณ์ปัญหาในภาคใต้มีแนวโน้มทวีความรุนแรง จากการแย่งชิงทรัพยากร การละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และนโยบายการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อภาคใต้ การทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม หากยังต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน โดยไม่ประสานงานกันอย่างจริงแล้ว ก็ยากที่จะรับมือต่อสถานการณ์ และปัญหาดังกล่าว
ทำให้เกิดความคิดการรวมคน รวมขบวน เพื่อก่อเกิดพลังร่วมในการยกระดับงานประเด็นในพื้นที่เป็นรูปธรรมความสำเร็จ เพื่อสื่อสารต่อสังคม การสร้างพลังในการสร้างความร่วมมือในการกำหนดอนาคตการพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน
เป้าหมายสำคัญของการระดมความเห็นครั้งนั้นก็คือ ร่วมกันระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนขบวนภาคประชาชนภาคใต้ในอนาคต การร่วมกันกำหนดแนวยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนภาคใต้ เพื่อให้เห็นถึงจุดร่วมที่จะขับเคลื่อนร่วมกันได้จริง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางของการพัฒนาที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้กรอบคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) และกรอบคิดยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี
“มีความพยายามในการร้อยขบวนประชาชน และประชาสังคมภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว เป้าหมายสำคัญ คือ การออกแบบ จัดรูปขบวนประชาชนภาคใต้...เวทีนี้เป็นของทุกคน เป็นเวทีที่มีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะเช้าขึ้นมาก็ช่วยกันจัดโต๊ะประชุม ติดป้ายกันเอง” สมบูรณ์ คำแหง สำทับหนักแน่นเรียกเสียงหัวเราะจากผู้เข้าร่วมได้พอสมควร
ก่อนยกเวทีให้ บรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) ชวนวิเคราะห์สถานการณ์ และบทบาทของภาคประชาสังคมกับสถานการณ์สังคม การเมืองในปัจจุบันที่เขามองว่า การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วยองค์กรชาวบ้าน นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบันแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ได้รับรับการยอมรับกันทั่วโลกว่า “มีพลังและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
สำคัญคือ การจะรวมตัวรวมกลุ่มกันอย่างไรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐ และทุนได้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นมาช้านาน ทั้งในสังคมไทย และในระดับโลก ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และน่ากังวลอยู่พอสมควร เพราะสังคมไทยวันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เขาเรียกว่า “สถานการณ์ปฏิวัติและไม่เป็นประชาธิปไตย”
ขณะที่ประชาธิปไตยถูกทำให้มีความหมายที่แตกต่างกัน ระหว่างประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่มุ่งเน้นการออกแบบโครงสร้างสังคมการเมืองแบบเดิมๆ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เห็นหัว หรือตัวตนประชาชน ถึงที่สุดแล้วยังปล่อยให้ประชาธิปไตยเป็นไปในรูปแบบนี้จะเป็น “ตัวบั่นทอนประชาธิปไตย” อีกแบบที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยฐานล่าง” ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ในความหมายของเขา
ขณะที่ภาคประชาสังคมที่ควรแสดงบทบาทในการหนุนสร้างประชาธิปไตยฐานล่าง กลับถูกทำให้ “พร่ามัว” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากขยายพื้นที่รัฐเข้ามาในพื้นที่ประชาสังคมผ่านกลไก และกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทำให้องค์กรประชาสังคมขาดความชัดเจน ซ้อนทับ ไม่ชัดเจนในบทบาท ขณะที่ภาคประชาชนก็ถูกรุกไล่จากรัฐและทุน โดยกลไกประชารัฐ ทำให้พื้นที่ให้แคบลงไป
ในทัศนะของ บรรจง นะแส โจทย์ภาคประชาสังคมในวันนี้ก็คือ จะกำหนด/จัดวางบทบาทในการหนุนเสริมภาคประชาชนให้เกิดการจัดตั้ง สร้างพื้นที่ยืนของประชาชนได้ด้วยตนเองอย่างไร ขณะเผชิญต่อสถานการณ์ปฏิวัติ และการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รูปธรรมการต่อสู้ของประชาชนในหลายพื้นที่สะท้อนชัดว่า พร้อมจะลุกขึ้นมาตอบโต้ต่อการกระทำ-อำนาจที่ไม่ยุติธรรมอย่างๆ ไม่กลัวเกรง ในสถานการณ์แบบนี้ “การยกระดับข้อมูล” คือ “จุดเปลี่ยนสำคัญของการเคลื่อนไหว”
“แม้บางส่วนจะมองว่า มีอำนาจมืดปกครองสังคมไทยอยู่ แต่ถ้าองค์กรประชาชนสามารถผนึกกันได้ มีหมุดหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน สร้างการเคลื่อนไหวที่แหลมคม โดยทำข้อมูลให้สามารถถ่ายเทสู่การรับรู้ทุกระดับ เพราะข้อมูลจะนำไปสู่อำนาจการวิเคราะห์ และที่สำคัญอำนาจการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน จะนำไปสู่อำนาจการตัดสินใจ”
คำถามที่ท้าทายสำหรับเขาก็คือ จะทำอย่างไร? ให้ประชาชนมีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจได้ว่า จะสู้ จะถอย จะกัดไม่ปล่อยหรือไม่อย่างไร ข้อเสนอวันนี้ ถ้าสามารถผนึกกำลังชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อ และนักวิชาการเข้าด้วยกัน สร้างเป้าหมายชัดเจน จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากในการเคลื่อนไหว
ปัจจัยสำคัญคือ ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ทำให้การผนึกกำลังมีองค์ความรู้ในการเคลื่อนไหว การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนที่เรียกว่า SDGs ที่แม้อาจจะยังมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้พูดถึงอำนาจโครงสร้างการจัดการทรัพยากรเพื่อคนส่วนใหญ่ การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม แต่หากสามารถหยิบปัจจัยบวกของ SDGs ผสมผสานเข้ากับระบบข้อมูล
บรรจง นะแส เชื่อว่า งานนี้ “รัฐบาลหนาว” แน่ๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบ SDGs ไปพร้อมๆ กันด้วย
--------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ “MGR Online ภาคใต้” : รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากนักวิชาการในรั้วสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังของภาคใต้ โดยจะถูกนำเสนอเป็นตอนๆ อันเป็นการเก็บจากตกวงประชุมระดับแก่นแกนเครือข่ายภาคประชาชนทั่วภาคใต้ ผสมผสานกับมุมมองที่ได้เห็น และได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนมาโดยตลอด