xs
xsm
sm
md
lg

“ผมเป็นเอ็นจีโอ”..บันทึกถ้อยคำ “สมบูรณ์ คำแหง” ในฐานะอดีตเลขาธิการ กป.อพช.ใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก Somboon Khamhang
 
สมบูรณ์  คำแหง
 
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
ระหว่างปี พ.ศ.2556-2560
--------------------------------------------------------------------------------
 
“นักพัฒนาเอกชน” หรือ “NGOs” ในสังคมไทย ยังจำเป็นต้องมีต่อไป ตราบใดที่ความไม่เป็นธรรม และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่?!?!
 
อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งสงสัย และตั้งคำถามถึงการมี และดำรงอยู่ของเอ็นจีโอ ความคิดเห็นของผมต่อไปนี้มิได้ต้องการโต้แย้ง หรือวิพากษ์กลับต่อความคิดเห็นเหล่านั้น เพราะด้วยความเคารพในความคิดความเห็นของทุกผู้คนที่มีอิสระ และมีความหลากหลาย ผมจึงคิดว่าการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถือเป็นสีสันของสังคม
 
ตราบใดที่เรายังยอมรับ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ ก็จะนำสู่การประเทืองปัญญาในเรื่องนั้นๆ ไปด้วยกัน
 
เอ็นจีโอในสังคมไทยเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เมื่อเทียบกับสังคมใหญ่ มิติการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้มีความแตกต่าง และหลากหลาย มีทั้งกลุ่มที่ทำงานอยู่ในชุมชนชนบทที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง และมีกลุ่มที่ทำงานอยู่ในสังคมเมือง หรือในซอกหลืบของสังคมเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า และยังรวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานอยู่กับกลุ่มคนด้อยโอกาสต่างๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น
 
โดยสรุปก็คือ เอ็นจีโอจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทำงานกับกลุ่มคนชายขอบของสังคม ซึ่งแทบจะเข้าไม่ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ และจำนวนไม่น้อยคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำของผู้ที่อ้างว่ามีสิทธิโดยชอบแทบทั้งสิ้น ทั้งการกระทำอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ตัวแทนของรัฐ หรือจากองค์กรธุรกิจภาคเอกชนทั่วไป
 
จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพของเอ็นจีโอ ซึ่งทำงานอยู่เคียงข้างกับคนไร้สิทธิในสังคมไทย ลุกขึ้นมาคัดง้าง และต่อกรกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุนอยู่เนืองๆ
 
ด้วยสาเหตุดังกล่าวเบื้องต้น เอ็นจีโอจึงอาจจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มอิทธิพลหนึ่งที่ใช้อำนาจ (มวลชน) เข้าไปกดดัน (ประท้วง) หรือสร้างข้อเรียกร้องต่ออำนาจรัฐ และอำนาจทุนอยู่เสมอ จนทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่ หรือฝ่ายปกครองเองมักจะตั้งคำถาม ตั้งแง่ หรือบางคนอาจจะตั้งงอนด้วยซ้ำไปว่า เอ็นจีโอคือ “พวกสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม” หรือเป็น “พวกขัดขวางความเจริญ การพัฒนาประเทศ” “พวกหัวอนุรักษนิยม” “หัวโบราณ”
 
หนักไปกว่านั้น ในบางรัฐบาลเองถึงขั้นกล่าวหาว่าเป็นพวก “หากินกับความทุกข์ยากของคน” ด้วยซ้ำไป หรือบ้างก็ตราหน้าว่าเป็น “พวกรับเงินต่างชาติ” หรือ “พวกที่ไปรับเงินกลุ่มทุนบางกลุ่มเพื่อมาสร้างความปั่นป่วนในสังคมไทย” ยังมีคำกล่าวหาที่นึกไม่ถึงอีกมากมาย
 
จนทำให้ภาพลักษณ์ของนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ในมุมมองของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ยังคงเต็มไปคำถามต่างๆ นานา ทั้งที่ไม่เคยได้เข้าไปรับรู้ สัมผัส และทำความเข้าใจต่อกลุ่มคนและชุมชนที่เอ็นจีโอเข้าไปทำงานด้วยอย่างจริงจังก็ตาม
 
สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถทำความเข้าใจได้ถึงความคิด และแง่มุมแห่งคำถามเหล่านั้น เพราะหากย้อนไปในสิ่งที่ผมกล่าวในตอนต้นที่บอกว่า บทบาทสำคัญของเอ็นจีโอคือ กลุ่มคนที่ต้องทำงานคัดง้าง และต่อกรกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุนอย่างไม่อาจหลีกหนีได้นั่นเอง พวกเราจึงไม่ค่อยเป็นที่พออกพอใจต่อคนเหล่านี้มากนัก หรืออาจจะรวมถึงคนที่ฝักใฝ่อยู่กับกลุ่มอำนาจเหล่านั้นด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน
 
หากสังคมไทยยอมรับ และเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจต่อการทำงาน หรือต่อการมีอยู่ขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอในสังคมไทยแล้ว ก็จะเห็นว่าในช่วงเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ คนกลุ่มนี้ได้สร้างคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างน่าสนใจยิ่ง
 
นั่นคือ การสร้างรูปแบบ หรือต้นแบบในงานพัฒนาในชุมชนชนบท หรือในซอกหลืบของสังคมเมืองต่างๆ การนำเสนอแนวคิดทิศทางอันเป็นทางเลือกของการพัฒนาสังคม การขับเคลื่อนทางสังคม และการเมืองภาคประชาชน การสร้างรูปแบบของประชาธิปไตยที่จับต้องได้ รวมถึงการสร้างรูปแบบกิจกรรมของชุมชนที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
การรวมตัวเพื่อสร้างกลุ่มก้อนของคนเล็กคนน้อย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ หรือกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองระดับต่างๆ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้มิได้ให้คุณค่าความเป็นประชาธิปไตยที่เฉพาะแค่การเลือกตั้งเท่านั้น
 
และที่โดดเด่น คือ การสร้างรูปธรรมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการผลผลิตทั้งทางการเกษตร การประมง และอื่นๆ ที่ปฏิเสธการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน การยอมรับและยกย่องคุณค่าของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การดำรงไว้ซึ่งสังคมและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่วางอยู่บนฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง การนำเสนอคุณค่าของสังคมและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่การความรับรู้ของสังคมไทยมากขึ้น
 
และที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ทุกคน ที่จะต้องมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยโดยรวม
 
สิ่งที่ได้กล่าวเบื้องต้น ไม่ได้เป็นการเอ่ยอ้างอย่างเลื่อนลอย และยิ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เอ็นจีโอเป็นผู้กระทำเสียเองทั้งหมด แต่คือ การสร้างกระบวนการของความร่วมไม้ร่วมมือ และสร้างต้นเรื่องที่นำไปสู่การกระทำตาม และกระทำซ้ำของภาคีอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
 
และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่มีนักพัฒนาเอกชนแทรกตัวเข้าไปทำงานในสังคมชนบททั่วทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ตลอดช่วงเวลาเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมชนบทอย่างมีรูปธรรม และได้เริ่มก่อรูปก่อร่างเป็นชุดความคิดที่ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การพัฒนาประเทศไทยจะต้องมีบทบาทของประชาชน หรือภาคประชาชนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ จนชุดความคิดเหล่านี้จึงได้ถูกขยาย เผยแพร่ และนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยอย่างทั่วถึงหลังจากนั้น
 
จนกระทั่งทุกวันนี้แนวทางการพัฒนาประเทศไทยทั้งโดยภาครัฐ หรือภาคเอกชนใดๆ ก็ตาม ต่างไม่สามารถปฏิเสธแนวทางดังที่กล่าวมานั้นได้ และมักจะเอ่ยอ้างถึงบทบาทของกลุ่มคนเหล่านี้ในลักษณะของ “ภาคประชาสังคม” นั่นเอง
 
เอ็นจีโอในภาพของนักประท้วง หรือพวกขัดขวางการพัฒนา อาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ง่าย และยิ่งคำกล่าวหาเหล่านี้ออกมาจากปากของนักปกครอง หรือผู้นำประเทศในยุคของรัฐบาลต่างๆ ด้วยแล้ว จึงกลายเป็นคำกล่าวหาที่แม้แต่เอ็นจีโอเองก็แทบไม่อยากอธิบายตัวเองมาก จึงปล่อยให้สังคมค้นหาคำตอบกันเอง ตามแต่ความสามารถในกำลังการคิดวิเคราะห์ของแต่ละคน
 
ที่คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุว่าการทำความเข้าใจต่อแนวคิดในวิถีสังคมประชาธิปไตย หรืออาจจะต้องถกเถียงกันถึงแนวคิด หรือรูปแบบที่เราเข้าใจว่าเป็น “ประชาธิปไตย” กันอย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อค้นหาคำตอบว่า แนวคิดที่เราหมายถึงนั้นคืออะไรกันแน่ และในข้อถกเถียงเหล่านั้นเราต้องการอะไร ต่อเรื่องนี้ต้องขอละไว้บนฐานความเข้าใจของแต่ละคนนะครับ
 
แต่โอกาสนี้ ขออธิบายให้พอให้เข้าใจในทัศนะของผมเองแบบง่ายๆ ว่า การกล้าแสดงออกทางสังคมของกลุ่มคนที่ได้รับความทุกข์ร้อนจากการกระทำของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากภาคเอกชน หรือจากนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการแสดงออกที่เป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่สร้างสรรค์ทางสังคมในรูปแบบต่างๆ
 
กระบวนการเหล่านี้สำหรับผมแล้วถือว่าคือ “ประชาธิปไตยที่จับต้องได้” และเป็น “ประชาธิปไตยรากหญ้า” อันถือเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยในภาพใหญ่ หรือที่เรียกว่าสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน
 
ฐานคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะไม่สนใจ หรือไม่ให้ความสนใจต่อระบอบการเมืองในเชิงโครงสร้าง หากแต่ด้วยเพราะความเชื่อที่ว่า สังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากสังคมรากฐานที่มีความคิดความเข้าใจในสิทธิจากคนฐานล่างจริงๆ
 
ในฐานะ “เอ็นจีโอภาคใต้” ผมได้รับเกียรติจากองค์กรสมาชิกกว่า 20 องค์กรให้ทำหน้าที่เป็น “เลขาธิการ กป.พอช.ใต้” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา และได้หมดวาระไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมานี้ ระหว่างนี้ได้ทำให้ผมได้ข้อสรุปจากช่วงเวลา 4 ปีของการทำหน้าที่ดังกล่าว ดังนี้
 
- สังคมไทยยังต้องมีเอ็นจีโอ หรือกลุ่มคนที่ทำงานด้านการปกป้องสิทธิชุมชนอยู่ต่อไป ตราบใดที่บ้านเมืองนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ
 
- การเกิดขึ้นของขบวนภาคประชาชนในสังคมไทยได้เติบโต และได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งจากสังคมทั่วไป และภาครัฐ ที่ต่างยอมรับว่าภาคประชาชนคือ องค์ประกอบในกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม
 
- ยังมีประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติที่มีเข้าไปแก้ไข และยังพบว่ากลไกที่มีอยู่อย่างเป็นทางการเหล่านั้นมองไม่เห็นหัวใจของปัญหา จึงไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้อย่างตรงจุด
 
- การเกิดขึ้นของนโยบายรัฐบาลอันเป็นผลจากการรุกของทุนนิยม โดยเฉพาะทุนข้ามชาติยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมักจะอ้างความชอบธรรมในวาทกรรมการพัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบใหม่ ที่สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นการรุกรานชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
- สันติภาพที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และการใช้แนวทางของรัฐราชการ หรือทางการทหาร หรือกลไกของความมั่นคงเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้นำไปสู่ทางออกแห่งสันติภาพ ตราบใดที่แนวคิดการแก้ไขปัญหายังไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามามาส่วนร่วมสร้างสรรค์สันติภาพอย่างแท้จริง
 
ผมเชื่อว่ายังมีเหตุผลอีกมากมายต่อการมีอยู่ของเอ็นจีโอ และสำหรับคนบางกลุ่มก็อาจจะมีเหตุผลของการไม่ควรมีเอ็นจีโอด้วยเช่นกัน แต่จากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ โดยส่วนตัวแล้วผมถือเป็นเหตุผล และความจำเป็นที่สังคมไทยยังคงต้องมี หรือคงไว้ซึ่งบทบาทของนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโออยู่ต่อไป
 
เอ็นจีโอบางท่านเคยกล่าวว่า เอ็นจีโอจะหายไปก็ต่อเมื่อปัญหาทางสังคมต่างๆ หมด หรือหายไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดปัญหาทางสังคมเหล่านั้นได้มีกลไกที่ดีเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหานั้นได้จริง และเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น นั่นอาจจะหมายถึงการหมดไปของระบบคอร์รัปชัน การหมดไปของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือการหมดไปของผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ อาจะรวมถึงการหมดไปของกลุ่มอิทธิพลของกลุ่มทุนบางกลุ่ม ที่ยังมีความคิดที่จะรุกล้ำขอบเขตของสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนผ่านการรุกรานวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของสังคมไทย
 
ผมยังยืนยันว่า กป.อพช.ใต้ หรือเอ็นจีโอภาคใต้ หรือเอ็นจีโอทั่วไปในสังคมไทย เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคม แม้จะเป็นการขับเคลื่อนของคนกลุ่มเล็กๆ และสร้างชุดความคิดเล็กๆ หากแต่เป็นการเคลื่อนไห วและสร้างชุดคิดที่มีพลังไม่น้อย จนหลายเรื่องที่ผ่านการขับเคลื่อนของเหล่าเอ็นจีโอได้สร้างผลสะเทือนให้แก่สังคมโดยรวมไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสร้างทั้งความพึงพอใจ และไม่พึงพอใจให้แก่ใครบางคน หรือบางกลุ่มตามมาด้วยเช่นกัน
 
เอ็นจีโอเหล่านี้ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ศาสดา และไม่ใช่พระเจ้าที่จะทำอะไรทุกอย่างถูกได้ใจคนทุกคน และ/หรือจะต้องถูกต้องไปทั้งหมด
 
หากแต่เรายอมรับในความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเราก็พร้อมที่จะสารภาพบาป น้อมรับคำติติง รวมถึงน้อมรับในความคิด ความเห็นที่แตกต่างกัน ผ่านการถกเถียง แลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ฉันพี่น้อง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน หาใช่เพียงเพื่อทำลายล้างกันจนให้เป็นตายกันไปข้างหนึ่งไม่
 
ผมจึงประกาศตัวตนชัดเจนในสิ่งที่ได้กระทำมาตลอด 22 ปี ของการดำรงวิถีชีวิตในฐานะเอ็นจีโอ ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้อง และรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิของบุคคล และของชุมชนชนบทที่ได้ทำงานร่วมกัน และยังตระหนักต่อแนววิถีประชาธิปไตยฐานรากที่จับต้องได้ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ หรือแค่ชั่วเวลาของการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมจึงน้อมเคารพเอ็นจีโอทุกท่านที่ยังเป็น และดำรงตนอยู่ในวิถีเช่นนี้ และส่วนตัวผมเองจะขอยืนหยัดที่จะดำรงชีวิตอยู่ในวิถีเช่นนี้ต่อไป!!!!
 
กำลังโหลดความคิดเห็น