คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่เกิดเหตุความรุนแรงทั้งในรูปแบบ “คาร์บอมบ์” หรือ “จยย.บอมบ์” มีเพียงเหตุซุ่มโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และเหตุรายวันต่างๆ ที่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง เรื่องการค้ายาเสพติด หรือล้างแค้นส่วนตัว
การที่ไม่เกิดเหตุร้ายแรงนั่นก็ยังไม่มีอะไรที่ชี้ชัดว่า เป็นเพราะ “แผน” หรือ “ยุทธวิธี” เชิงรุกในการป้องกันเหตุของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นไปอย่างได้ผล หรือเป็นเพราะ “แนวร่วม” ของบีอาร์เอ็นฯ มีเหตุผลอื่นที่ยังต้องปฏิบัติการพัวพันอยู่
แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น โดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากปัจจัยอะไร เราก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าช่วง “เดือนรอมฎอน” ปีนี้มีการป้องกันเหตุร้ายได้ดี
แต่ก็อย่าเพิ่งนอนใจว่าสาเหตุที่เหตุร้ายไม่เกิดในห้วงเวลานี้เป็นเพราะเราอุด “ช่องว่าง” หรือ “ช่องโหว่” หรือตีขลุมไปว่า “กุมสภาพพื้นที่” ได้ดี เพราะแนวร่วมบีอาร์เอ็นอาจจะกำลังวางแผนในการก่อเหตุครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ อย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ ตามนโยบายไม่ทำงานเล็กๆ ถี่ๆ โดยรอ “จังหวะ” และ “โอกาส” ในการก่อเหตุครั้งใหญ่ แม้จะนานๆ ครั้ง แต่สามารถสร้างความเสียหายได้ใหญ่หลวง
โดยเฉพาะเรื่องการ “ปิดจุดข้ามแดนเถื่อน” ริมคลองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวมจำนวน 6 จุด ซึ่งเป็นการปิดท่าข้ามตามวิถีชีวิตของคนแนวชายแดนที่ใช้กันมาช้านาน ซึ่งเป็นการปิดตามนโยบายของความมั่นคง เนื่องจาก “การข่าว” ที่หน่วยงานความมั่นคงได้รับมามีความน่าเชื่อถือว่า แนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ อาจจะใช้ท่าข้ามเถื่อนทั้ง 6 แห่ง เข้าไปเพื่อก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในขณะที่ในฝั่งของประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจของเขาก็มีการลาดตระเวน หรือ “เอกซเรย์” แนวชายแดนด้านที่ติดกับประเทศไทยอย่างเข้มข้น ด้วยเหตุผลของการป้องกันคนร้ายกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ “ไอเอส” ที่มีเป้าหมายก่อเหตุในประเทศมาเลเซียเช่นกัน
แน่นอนว่าการปิดท่าข้ามเถื่อนทั้ง 6 จุดต้องสร้างความไม่พอใจให้แก่ “คนกลุ่มหนึ่ง” ที่เคยได้ประโยชน์ หรือมีอาชีพเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ “คนมาเลเซีย” ที่ต้องการข้ามมายังเที่ยวยังเขตเทศบาลสุไหงโก-ลกโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง หรือแม้แต่ “คนไทย” ที่ใช้ข้ามไปฝั่งมาเลเซียแบบเดียวกัน ซึ่งก็ทำกันมาช้านาน โดยลืมไปแล้วว่าเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย”
คนมาเลเซียที่เข้าเมืองที่ท่าข้ามเถื่อนส่วนใหญ่ชอบมาเที่ยวผู้หญิง หรือมาหาความสุขในสถานบันเทิง อันเป็นไปแบบไม่ต้องการให้ “ทางบ้าน” และ “ทางการ” รับรู้
ดังนั้น การปิดท่าข้ามเถื่อนกลุ่มคนที่เสียประโยชน์มากกว่าใครอื่นก็คือ “นายทุน” เจ้าของสถานบันเทิง หรืออาจรวมทั้ง “นายบ่อน” ทั้ง 2 แห่งที่อยู่ในโรงแรมหรูในตลาดสุไหงโก-ลก และถ้าถูกปิดเป็นเวลานาน ผลกระทบนี้จะต้องเกิดขึ้นต่อ “คนในเครื่องแบบ” หลายหน่วยงาน เพราะ “ส่วย” จากบ่อน และจากซ่องยังเป็นอันดับหนึ่งของเมืองชายแดนแห่งนี้
ในส่วนของคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอาชีพอื่นๆ ก็ต้องได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วยแน่นอน แต่เมื่อหน่วยงานความมั่นคง “มีข่าว” ที่ระบุว่ากลุ่มก่อการร้ายอาจจะเข้ามาตามช่องทางเหล่านี้ เมื่อจำเป็นต้องปิด ทุกคนก็ต้อง “ทำใจ” และต้องมีการ “ปรับตัว” ให้เป็นไปตามสภาพของบ้านเมือง จะอาศัยเพียงคิดว่า “ตนเองเดือดร้อน” โดยที่ไม่ได้คิดถึงความสูญเสียของส่วนรวม หรือของประเทศชาติ นั่นน่าจะถือว่าไม่ถูกต้อง
ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็เช่นกัน ต้องมีการ “ตรวจสอบข่าว” ให้แน่ชัดถึงความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะทำการปิด เพราะแม้ว่าจะไม่ใช่ “จุดผ่อนปรน” แต่ทั้ง 6 แห่งเป็นท่าข้ามเถื่อนก็จริงอยู่ แต่เมื่อที่ผ่านๆ มา มีการปล่อยปละละเลยจน “เลยเถิด” เพราะไม่เคยคิดถึงเรื่องความมั่นคง แต่คิดเพียงเรื่อง “หาเงิน” เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเดียว เมื่อต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้จริงจัง ก็ย่อมต้องมีการ “ต่อต้าน” จากนายทุนผู้เสียประโยชน์ และรวมถึงประชาชนผู้ที่เดือดร้อน และไม่ยอมปรับตัว
สิ่งที่ต้องระวัง และป้องกันคือ แนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ อาจจะฉวยโอกาสของการปิดท่าข้ามเถื่อน ด้วยการก่อเหตุในพื้นที่เพื่อให้เห็นว่ามี “ความเจ็บแค้น” แทนกลุ่มคนที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องของการ “ฉกฉวย” โอกาสที่บีอาร์เอ็นฯ มีความ “จัดเจน” ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคงมักจะ “คาดไม่ถึง”
ส่วนการสั่งปิดท่าข้ามเถื่อนทั้ง 6 แห่งดังกล่าวจะเป็นเวลากี่วันนั้น เรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ “งานการข่าว” เป็นสำคัญ ถ้าเห็นว่าปลอดภัยจากการ “ปะปน” เข้ามาของแนวร่วมก็สามารถสั่งเปิดได้ทันที
แต่ถ้าเป็นไปได้การปิดท่าข้ามเถื่อนนั้น ไม่ควรปิดเฉพาะแค่ 6 จุดใน อ.สุไหงโก-ลกดังที่กล่าวมา แต่ควร “ปิดไปทั้งหมดทั้งปวง” ของท่าข้ามเถื่อนที่มีอยู่ตั้งแต่ในพื้นที่ อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก หรือตลอดแนวชายแดนไปเลยด้วย
เพราะไม่ใช่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงเท่านั้น ยังจะเป็นการแก้ปัญหา “ภัยแทรกซ้อน” ได้อย่างแท้จริงด้วย
โดยเฉพาะถ้า “พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช” แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มั่นใจว่า เหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากภัยแทรกซ้อน เช่น การค้ายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน หรือบ่อนการพนัน และแหล่งอบายมุข นั่นก็สมควรจะปิดจุดข้ามแดนเถื่อนไปเสียทั้งหมด และทำการ “สกรีน” ชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน จ.นราธิวาส ให้เด็ดขาดไปเสียด้วยเลย เพราะวันนี้ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน หรือบ่อนการพนัน ล้วนมีต้นตออยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นอันดับหนึ่ง
หากทำได้เช่นที่ว่ามานี้ นอกจากจะทำให้งานป้องกันของฝ่ายความมั่นคงดีขึ้น แถมงานด้านภัยแทรกซ้อนก็จะหมดไปแล้ว ยังทำให้คนในเครื่องแบบสารพัดสังกัดที่เคย “เดินขวักไขว่” ใน อ.สุไหงโก-ลก และพื้นที่อื่นๆ เพื่อเก็บส่วยต่างๆ นานาจะได้ “หยุดประพฤติชั่ว” กันบ้าง และจะได้ “กลับเข้ากรมกอง” หรือ “สังกัด” ไปทำหน้าที่ของตนเองให้เหมาะสมต่อการรับเงินเดือนจากประชาชนผู้เสียภาษี
แต่การปิดท่าข้ามเถื่อนในครั้งนี้ก็มี “เดิมพัน” ระหว่างคนในเขตเทศบาลสุไหงโก-ลก กับผู้ปฏิบัติในหน่วยงานความมั่นคง เพราะคนในพื้นที่เชื่อว่า ท่าข้ามเถื่อนไม่ใช่ทางเข้า-ออกของ “โจรใต้” หรือแม้แต่แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากโจรใต้มีเส้นทางในการเข้า-ออก รวมถึงส่ง “ยุทธปัจจัย” เพื่อใช้ในการก่อการร้ายที่แตกต่างออกไป
ดังนั้น ถ้าหน่วยความมั่นคงปิดท่าข้ามเถื่อนแล้วยังเกิดคาร์บอมบ์ หรือ จยย.บอมบ์ หรือเหตุร้ายอื่นๆ ขึ้นอีกในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็ต้อง “มีคำตอบ” ให้แก่กลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยต่อการปิดท่าข้ามเถื่อนในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
และหวังว่าการปิดท่าข้ามเถื่อนทั้ง 6 แห่งในครั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงจะไม่มี “เลศนัย” อื่นๆ แอบแฝงอยู่ อย่างเช่นเป็นการให้ความร่วมมือกับมาเลเซียในเรื่องป้องกันการหลบหนีของกลุ่มไอเอส ซึ่งอาจจะหลบหนีจากฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียเข้าไปยังมาเลเซีย โดยอาจจะใช้เส้นทางเข้ามาหลบซ่อนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็น “แดนสวรรค์” ของกลุ่มก่อการร้ายไปแล้ว
เพราะไอเอสไม่ใช่ “ศัตรู” กับฝ่ายความมั่นคงของไทย แต่ถ้าไทยให้การช่วยเหลือจับกุมกลุ่มไอเอสให้แก่มาเลเซียเมื่อไหร่ ประเทศไทยอาจจะกลับกลายเป็น “เป้าหมาย” ของการแก้แค้นของไอเอส ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” อย่างแน่นอน