นราธิวาส - ชาวสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 6 ชุมชน รวมตัวประท้วง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หลังมีคำสั่งปิดช่องทางข้ามผ่อนปรน 6 แห่ง เหลือเพียง 1 แห่ง จนกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลง อ้างเกี่ยวเนื่องจากปัญหาความมั่นคง
วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณท่าเรือชมพู่ เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าชมพู่ ชุมชนท่าบือเร็ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง และชุมชนหัวสะพาน จำนวนกว่า 300 คน ภายใต้การนำของ นายไพรัตน์ บินมามะ รองประธานชมรมท่าข้ามสุไหงโก-ลก ได้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ปิดช่องทางข้ามผ่อนปรน จำนวน 6 แห่ง อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาความมั่นคง เหลือเพียง 1 แห่ง คือ ช่องทางข้ามผ่อนปรนท่าประปา ที่ประชาชนสามารถใช้บริการข้ามไปมาระหว่างเมืองรันตูปันหยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 6 ชุมชน จำนวน 1,300 ครัวเรือน รวม 5,200 คน มีวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย
ซึ่งการชุมนุมแสดงความไม่พอใจของชาวบ้านในครั้งนี้ ได้มีการถือป้ายเขียนข้อความภาษาไทย เช่น “ลุงตู่ช่วยคืนความสุขให้แก่ชาวสุไหงโก-ลกด้วย เมืองโก-ลกจะตายอยู่แล้ว อย่าซ้ำเติมพวกเรา” และป้ายข้อความ “หนูไปโรงเรียนไม่ได้ ใครก็ได้ช่วยหนูที” โดย นายไพรัตน์ บินมามะ รองประธานชมรมท่าข้ามสุไหงโก-ลก และนายสมโภช เจนพาณิชพงศ์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งผ่าน นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ที่จะส่งต่อไปยัง นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อส่งมอบให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาทบทวนเปิดท่าข้ามผ่อนปรนทั้ง 6 ท่าเช่นเดิม
โดยใจความในจดหมายระบุว่า “การปิดช่องทางข้ามผ่อนปรน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมนุม ทำให้ชาวบ้านหมดอาชีพ ไม่มีรายได้นำมาเลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำคือ อาชีพรับจ้างแบกหามสินค้าข้ามระหว่างพรมแดน อาชีพขับเรือยนต์รับจ้าง อาชีพขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนร้อยละ 60-70 ต้องข้ามแดนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนฝั่งประเทศมาเลเซีย แบบไปเช้าเย็นกลับ”
นายไพรัตน์ บินมามะ รองประธานชมรมท่าข้ามสุไหงโก-ลก กล่าว่า อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสำคัญต่อชาวท่าเรือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แต่พวกเรา มันกระทบทั้งเมืองโก-ลก จึงมาขอความช่วยเหลือ เราเดือดร้อนจริงๆ
มีรายงานข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้รายหนึ่งได้เปิดเผยในระหว่างการพูดคุยว่า การแก้ไขปัญหาความมั่นคงระหว่าง 2 ฟากฝั่งไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนทั้งหมด ได้มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ ของทั้งฝั่งไทย และมาเลเซีย เพื่อให้ประชาชนซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่สุด ในมาตรการการป้องกันภัยคุกคามและความมั่นคงอยู่แล้ว โดยเฉพาะการช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเบาะแส บุคคลต้องสงสัยที่ใช้ช่องทางข้ามผ่อนปรน และจากการปฏิบัติที่ผ่านมา ทางประเทศมาเลเซีย และฝั่งไทย ก็ได้มีการประเมินผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ แล้วจู่ๆ มีคำสั่งให้ปิดช่องทางข้ามผ่อนปรน 6 แห่ง มันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทันที
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตัวแทนชาวบ้าน 6 ชุมชน ได้ร่วมแสดงพลังความไม่พอใจอยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ได้เตรียมนำแผ่นป้ายไวนิลเขียนข้อความว่า “ห้ามขึ้นที่นี่ ไปขึ้นท่าประปา” เพื่อนำไปติดไว้ที่ช่องทางข้ามผ่อนปรนทั้ง 6 แห่ง แต่ด้วยเหตุและผลที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน แถมชาวบ้านได้ขอร้องเพื่อรอการทบทวนของนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้นำป้ายกลับไป