xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ชวนปลูกผักกินเอง หลังพบส่วนใหญ่ทานน้อย ผุดสวนผักบำบัดช่วยผู้ป่วยจิตเวช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสส. เผย คนไทยร้อยละ 74 กินผัก - ผลไม้ ไม่เพียงพอ ชวนคนไทยปลูกผักกินเอง ปลอดภัยไร้สารเคมี ชูโครงการสวนผักคนเมือง ช่วยพัฒนาเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดขยะ สร้างสิ่งแวดล้อม ผุดโครงการต้นแบบ “สวนผักบำบัด” แก้ปัญหากลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า เยียวยาใจควบคู่สร้างสุขภาพ

วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเทศกาลสวนผักคนเมือง 2017 (ครั้งที่ 4) ตอน เส้นทางอาหารเมือง : Bangkok’s Food Journey

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2556 - 2557 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า อัตราการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคได้อย่างเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้บริโภคผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม หรือ 5 ทัพพี มีเพียง 25.9 ดังนั้น ประชาชนมากถึงร้อยละ 74.1 ยังขาดการกินผักและผลไม้ที่พอเพียง ทั้งนี้ สัดส่วนของคนที่กินผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละภาค พบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 32.4 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 28.8 ภาคใต้ ร้อยละ 28.กรุงเทพฯ ร้อยละ 21.6 และภาคเหนือ น้อยที่สุดคือ ต่ำกว่าร้อยละ 20 สาเหตุอาจเนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เราต้องพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจากตลาดเป็นหลัก ประกอบกับประชาชนมีความกังวลใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคผักผลไม้ ซึ่งผลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2559 ได้ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้เกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึงร้อยละ 46.4 ทางออกหนึ่งคือ การล้างผักผลไม้อย่างถูกวิธีก่อนบริโภค ขณะเดียวกัน สสส.ได้ร่วมกับมูลนิธิมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ในการสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองโดยส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผักคนเมือง สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ และเครื่องมือมีความแพร่หลาย ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม

ด้าน นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มให้เกิดการปลูกผักในเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก จากการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ ร่วมสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมืองที่มีมิติเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านสุขภาพ การบริโภค วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูล สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมขับเคลื่อนหน่วยงานในระดับนโยบายให้เห็นความสำคัญและยอมรับเกษตรในเมืองเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนาเมืองปัจจุบัน โดยงานเทศกาลสวนผักคนเมือง จะเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่แนวคิด เทคนิคความรู้ และรูปธรรมการเชื่อมโยงเรื่องการปลูกผักกับมิติต่างๆ ให้ ทั้งสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง และผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปประยุกต์ ปรับใช้ในวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยกันขยายผล และขับเคลื่อนเรื่องสวนผักคนเมืองในวงกว้างต่อไป

นางสุภา กล่าวต่อว่า จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า การสนับสนุนกลุ่มคนในเมืองปลูกผักผ่านโครงการขนาดเล็ก ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผักประมาณ 170 กลุ่ม และผ่านการอบรมของศูนย์อบรมที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ มีคนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักประมาณ 8,000 คน และมีผู้เข้าร่วมอบรมปลูกผักประมาณ 10,000 คน อาทิ โครงการสวนผักนักเรียน ห้วยขวาง มีการปลูกผักที่หลากหลาย เฉลี่ยที่ 20 - 30 ชนิดต่อพื้นที่ โดยความหลากหลายสูงสุดอยู่ที่ 63 ชนิด ทั้งนี้ สวนผักช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่ปอดให้กับเมือง โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และพื้นที่สาธารณะให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่อาหารของเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตรายของชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ แต่การปลูกผักช่วยพัฒนาพื้นที่และปรับภูมิทัศน์ที่ดีให้กับคนชุมชน นอกจากนั้นการปลูกผักยังช่วยจัดการขยะในเมืองได้อีกด้วย จากการเก็บข้อมูล พบว่า มีการจัดการขยะอินทรีย์ในเมืองเพื่อหมุนเวียนมาเป็นปัจจัยการผลิต สูงถึง 2,000 - 3,000 กิโลกรัม และขยะย่อยสลายยาก เช่น ถังพลาสติก ขวดน้ำ วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นภาชนะปลูกผัก อีกประมาณ 600 - 800 กิโลกรัมต่อปี รวมถึงการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือการปลูกผักบนพื้นปูนที่ช่วยลดเกราะความร้อนในเมือง นอกจากนี้ การปลูกผัก ได้ถูกเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ การสร้างต้นแบบ “สวนผักบำบัด” ของโครงการ ได้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือกระทั่งผู้เสพยาเสพติด ได้มีโอกาสในการบำบัดและควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น