สสส. เผย สถานการณ์คนไร้บ้าน ทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน เฉพาะ กทม. ราว 1,300 คน ยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน วอนเปิดใจ ให้โอกาส ปรับมุมมองใหม่ สร้างความเข้าใจผ่านโครงการ Human of Street ตีแผ่ชีวิตจริงผ่านสื่อศิลปะนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้าน ละครเวที นิทรรศการ รวมพลังคนรุ่นใหม่ผลักดันนโยบายสาธารณะยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่พิพิธบางลำพู นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงาน “กิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ Human of Street” ว่า จากสถานการณ์คนไร้บ้านทั่วประเทศ คาดการณ์มีคนไร้บ้านราว 30,000 คน และจากการสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ในปี 2559 ของ สสส. พบว่า มีประชากรคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ทั้งในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิงชั่วคราวจำนวน 1,307 คน โดย ร้อยละ 80 เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.5 มีอายุระหว่าง 40 - 49 ปี ขณะที่มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 22 ถือว่าสังคมคนไร้บ้าน เป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ก่อนผู้สูงอายุปกติในสังคม และจากการทำงานของ สสส. ในช่วงที่ผ่านมา ได้ข้อค้นพบว่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาทางสุขภาพมากกว่าค่าเฉลี่ยของสังคมไทยโดยรวม มีปัญหาโรคประจำตัว โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง ถึงร้อยละ 51 ขณะที่คนทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 20 มีปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่รุนแรง (ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม) ประมาณร้อยละ 70 โดยคนทั่วไป ประมาณร้อยละ 17 ร้อยละ 31 มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) โดยคนทั่วไป ประมาณร้อยละ 22 มีปัญหาสุขภาพช่องปากร้อยละ 70 คนทั่วไป ประมาณร้อยละ 50
นอกจากนี้ สสส. ยังพบว่า การอยู่บนพื้นที่สาธารณะในระยะเวลานาน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้สุขภาพของพี่น้องคนไร้บ้านย่ำแย่ลง และมากกว่าร้อยละ 50 มีปัญหาของการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ร้อยละ 28 ไม่มีบัตรประชาชน อีกร้อยละ 22 มีปัญหา เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ สสส. จึงสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน ให้สามารถกลับมาตั้งหลักชีวิตได้ ตลอดจนการสื่อสารกับสังคมให้มีความเข้าใจคนไร้บ้าน อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน
“งานกิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ “Human of Street” ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน จะเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง สังเกตการณ์ “สถานการณ์คนไร้บ้าน” ในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม ออกแบบและผลักดันนโยบายสาธารณะของภาคพลเมือง ในอนาคต โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยกระดับชีวิตคนจนเมืองและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นางภรณี กล่าว
ขณะที่ นายสิทธิพล ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิกระจกเงาพยายามหากระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน อาทิ สถานะบุคคล สุขภาพ การเข้าถึงสิทธิและบริการด้านต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี การแก้ปัญหาจะแก้ไขแตกต่างไปตามบุคคล ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาได้พยายามคัดกรองและจำแนกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มที่ขาดสถานะทางสังคม ซึ่งทำให้หางานไม่ได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของคนไร้บ้าน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้รับการดูแลในรูปแบบที่แตกต่างออกไป การหารายได้ของคนกลุ่มนี้อาจจะลำบากกว่า ดังนั้น จึงต้องหารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับคนไร้บ้าน ก็อยากร่วมผลักดันให้ปัญหาคนไร้บ้านได้ออกสู่สาธารณะ และภาคสังคมตื่นตัวและร่วมกันแก้ปัญหาในวงกว้างมากขึ้น
ด้าน นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน กล่าวถึงโครงการ “กิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ Human of Street” ว่า เป็นแนวคิดที่ต้องการสื่อสารประเด็นคนไร้บ้านออกมาให้เข้าใจง่ายผ่านกระบวนการสื่อสารที่สนุกสนาน เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้รู้จักคนไร้บ้านมากนัก จึงเกิดแคมเปญนี้ขึ้น เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกว่าชีวิตของคนไร้บ้านในปัจจุบันเป็นอย่างไร ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้าน “My Everyday Life” รวบรวมโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสื่อสารชีวิตประจำวันของคนไร้บ้าน ละครเวทีที่นำแสดงโดยคนไร้บ้านและกลุ่มมาร็องดู และบทเพลงเพื่อคนไร้บ้าน โดย จรูญวิทย์ พัวพันวัฒนะ หรือ บิว เดอะวอยซ์ หนึ่งในอาสาสมัครที่เคยลงพื้นที่และสำรวจพื้นที่คนไร้บ้านกับโครงการมาแล้ว