xs
xsm
sm
md
lg

จุดกระแสทำดี-หวังผล ทุกคนร่วมช่วยสังคมได้ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คนไทยมอนิเตอร์” เป็นโครงการสำรวจความคิดเห็นและเสนอตัวชี้วัดด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เคยมีงานวิจัยระบุประเด็นหนึ่งว่า

“คนไทยส่วนใหญ่ พร้อมลงมือช่วยแก้ปัญหาสังคม แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ขณะที่ขนาดของปัญหาสังคมนับวันจะทวีความรุนแรงและขยายวงการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน”

การช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินหรือสิ่งของจากผู้ใจบุญ ในยุคปัจจุบันจึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ กรณีปัญหาที่มีสาเหตุซับซ้อนและต้องการผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
แนวคิดการบริจาคอย่างมีกลยุทธ์ (Strategic Philanthopy) จึงเริ่มเกิดกระแสที่ส่งเสริมให้เกิดความช่วยเหลืออย่างมีแผนกลยุทธ์ที่ติดตามผลไปสู่การช่วยให้การแก้ปัญหาและพัฒนาให้เกิดระบบที่เข้มแข็ง ในมิติการลงทุนเพื่อผลทางสังคม (Social Investment)
ดังที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เคยแถลงผลการวิจัยว่า ประเทศไทยมียอดเงินบริจาคโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 70,000 ล้านบาท จึงนับเป็นองค์ประกอบทางการเงินสนับสนุนที่มีอยู่มากในสังคม หากได้กำลังคนที่มีจิตอาสาเข้าช่วยด้วยก็จะเกิดผลการขับเคลื่อนสังคมที่ดีขึ้นอีก
จึงเป็นที่มาของงาน “Good Society Expo” หรือ “เทศกาลทำดีหวังผล” ซึ่งจะจัดในวันที่ 9-11 มิถุนายนศกนี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และย่านราชประสงค์

นับเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ซึ่งเคยจัดต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมา การกระตุ้นความคิดผู้คน “คนละไม้คนละมือ เพื่อสังคมน่าอยู่” ก็เป็นงานรวมพลังองค์กรสาธารณกุศล 200 องค์กรที่มุ่งหวังให้มีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
ปีนี้ขยายความร่วมมือที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น โดย “โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” มูลนิธิเพื่อคนไทยและภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นกว่า 50 องค์กร เบื้องต้นประกอบด้วย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิเอ็นไลฟ์ เครือข่ายจิตอาสา ฯลฯ ร่วมกันเสนอสาระสำคัญในการเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” หรือ Active Citizen ให้มีบทบาทร่วมลงมือแก้ปัญหาสังคมผ่านกลไกต่างๆ ที่แสดงตัวในงานนี้ให้เป็นงานรวมพลังอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดระดับประเทศ
ก็เพราะปัญหาสังคมมีมากมายหลายวงการ จึงหวังที่จะได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมค้นหากลไก หรือเครื่องมือการแก้ปัญหาสังคมที่สอดคล้องกับความสนใจ แล้วร่วมลงมือปฏิบัติไปกับภาคีเครือข่ายในบทบาทที่ถนัด ปีนี้เริ่มที่ 5 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งมีเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริม “การให้” แบบมีแนวคิดใหม่ ที่จะไปเสริมศักยภาพการแก้ปัญหาเชิงประเด็นดังกล่าว เพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น และเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมอย่างยั่งยืน
ข้อคิด....
น่ายินดีที่วงการอาสาสมัครพัฒนาสังคม มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายช่วยส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากรและแบ่งเป็นความรู้ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก
Asian Venture Philanthropy Network (AVPN) เป็นเครือข่ายขององค์กรและปัจเจกบุคคลที่ทำงานด้านการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment) ในเอเชีย โดยมีความสนใจร่วมกันในการเผยแพร่แนวคิด แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) และพัฒนางานด้านการลงทุนและการบริจาคในภูมิภาคเพื่อไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ปัจจุบัน AVPN มีสมาชิก 358 องค์กร จาก 28 ประเทศทั่วโลก ตัวอย่างองค์กรในประเทศไทยที่เป็นสมาชิก เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), Thai Young Philanthropist Network, มูลนิธิเพื่อคนไทย, CARE International, สถาบัน ChangeFusion เป็นต้น
บทบาทสำคัญของAVPN ในการเผยแพร่แนวคิดเรื่องร่วมรับผลจากเงินบริจาค (Venture Philanthropy) ในเอเชีย ที่มีหัวใจหลักอยู่ 3 เรื่องคือ
(1)สนับสนุนทางการเงินตามเงื่อนไขเฉพาะขององค์กรภาคสังคม (Tailored Financing) ตอบโจทย์ความต้องการขยายผลทางสังคมขององค์กร
(2)สนับสนุนด้านที่ไม่ใช่เงินกับองค์กรภาคสังคม (Organizational Support)
(3) กลไกและเครื่องมือในการติดตามวัดผลลัพธ์จากการลงทุนหรือบริจาคเพื่อสังคม (Impact Measurement and Management)
AVPN จัดงานประชุมประจำปีสำหรับสมาชิกและผู้ที่สนใจงานด้านการลงทุนเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูลและการลงทุนหรือการบริจาค เพื่อต่อยอดงานการพัฒนาในระดับภูมิภาค โดย AVPN Conference 2017 ภายใต้หัวข้อ “Collaborating for Impact” จะจัดขึ้นในวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัน ซึ่งจะเป็นเวทีรวบรวมนักลงทุน (Social Impact Investors) ผู้บริจาคอย่างมีกลยุทธ์ (Strategic Philanthropist) ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการลงทุนเพื่อสังคม (Venture philanthropy and social investment practitioners) และองค์กรชั้นนำด้านการลงทุนเพื่อสังคม จากทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ส่วนหัวข้อย่อยที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (Inclusive Economies) บทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาสังคม เป็นต้น
งานนี้จึงเป็นการชุมนุมของผู้บริจาคเชิงกลยุทธ์และนักวิชาชีพด้านการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งจะสัมพันธ์ต่อเนื่องกับกลไกในงาน Good Society Expo ซึ่งเป็นงานของเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และจะต้อนรับผู้เข้าประชุมหลังเสร็จงานแรกก็จะไปชมงานที่เซ็นทรัลเวิลด์ ย่านราชประสงค์เช่นกัน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น