"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
"ปัญญาพลวัตร"
หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนตอบในรายการที่มีถ่ายทอดทั่วประเทศเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยแทบทุกวงการมีการพูดคุยถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างคึกคัก
สำหรับคำถาม 4 ข้อ ของนายกฯ คือ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่ 4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
การที่นายกรัฐมนตรีตั้งคำถามต่อประชาชนทั่วประเทศ และขอให้ประชาชนตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมอันเป็นกลไกรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลนั้นเป็นนวัตกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งของสังคมไทย ที่ผ่านมาเท่าที่จำความได้ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีผู้ใดที่ดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อน ในอดีตหากรัฐบาลต้องการทราบว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อเรื่องใดก็มักจะให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบไปดำเนินการ กรณีที่นายกฯดำเนินการเองและประกาศให้สาธารณะรับรู้อย่างทั่วถึงเช่นนี้น่าจะเป็นครั้งแรก และควรค่าแก่การบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แม้ว่าตัวประเด็นคำถามและการตอบประเด็นคำถามเหล่านั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นปมปัญหาสำคัญของการเมืองไทยมาโดยตลอด แต่การวิเคราะห์ถึงรากฐานความคิดและความปรารถนาของตัวผู้ถาม การตีความนัยของคำถาม และผลกระทบของคำถามต่องสังคมการเมืองไทยก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ในบทความชิ้นนี้เราจึงลองมาพิจารณาในประเด็นดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจว่า นายกฯมีเหตุจูงใจอะไรบ้างในการตั้งคำถามเหล่านี้ ตั้งไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด และจะนำคำตอบใช้ในการใด นัยของการตั้งคำถามมีอะไรบ้าง และก่อให้เกิดผลกระทบใดบ้างต่อตัวผู้ตั้งคำถาม และส่งผลกระทบต่อสังคมการมืองในแง่ใดบ้าง
เริ่มจากประเด็นที่ว่าเหตุจูงใจในการตั้งคำถามของนายกฯ จากข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์พบว่า นายกฯได้ระบุถึงเหตุจูงใจในการตั้งคำถามไว้อย่างชัดเจนนั่นคือ “มีกลุ่มการเมืองเดินสายเคลื่อนไหวในท้องถิ่น โดยพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ให้ข้อมูลแบบบิดเบือนแก่ประชาชน เพราะอยากให้ประเทศกลับสู่วังวนเดิม ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของรัฐบาล รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และนโยบายที่สร้างปัญหา อย่างเช่น กรณีจำนำข้าว”
ข้อมูลที่นายกฯให้สัมภาษณ์ทำให้เราอนุมานได้ว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างแพร่หลาย กลุ่มที่เคลื่อนไหวน่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลหรือเป็นกลุ่มการเมืองที่ถูกโค่นอำนาจไปในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ นั่นเอง โดยกลุ่มเหล่านี้ไม่ประสงค์ให้มีการปฏิรูปการเมือง และต้องการให้การเมืองคงสภาพแบบเดิมก่อนเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นการเมืองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองนี้ครอบครองอำนาจและใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ โดยอ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งสร้างความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงขึ้นมานั่นเอง
กล่าวได้ว่าสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในระดับพื้นที่เพื่อช่วงชิงมวลชนเริ่มทวีความแหลมคมมากขึ้น จนกระทั่งนายกฯเกิดความหวั่นไหวและไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยหรือทำงานในเชิงรับได้อีกต่อไป การตั้งคำถามครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นยุทธวิธีของการเปิดฉากเปิดเกมรุกทางการเมืองอย่างหนึ่งของนายกฯ เพื่อตอบโต้และช่วงชิงมวลชน โดยตอกย้ำให้ประชาชนทราบและได้คิดเกี่ยวกับปมปัญหาทางการเมืองในอดีต
นายกฯยังระบุว่าการตั้งคำถามมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้ทราบว่า ประชาชนรู้เท่าทันนักการเมืองหรือไม่ โดยจะนำคำตอบมาประมวลและใช้สำหรับการปฏิรูปการเมืองต่อไป คำตอบภาพรวมที่นายกฯจะได้จากประชาชนจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามมารู้เท่าทัน หรือ รู้ไม่เท่าทันนักการเมือง แต่การนำไปสู่ข้อสรุปนี้ได้ก็หมายความว่า นายกฯต้องกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ลักษณะคำตอบแบบใดจึงจัดอยู่ในกลุ่มที่รู้เท่าทันนักการเมือง และคำตอบแบบใดที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่รู้เท่าทันนักการเมือง
อย่างคำถามข้อแรก ที่ว่า การเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ หากคนตอบส่วนใหญ่ระบุว่า “ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” นายกฯจะตีความว่าอย่างไร ผมประเมินว่า นายกฯอาจตีความว่า “ประชาชนยังไม่รู้เท่าทันนักการเมือง” ในทางกลับกัน หากประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่า “ไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” ก็มีความเป็นไปได้ที่นายกฯตีความว่า “ประชาชนรู้เท่าทันนักการเมือง” ซึ่งนำไปสู่คำถามที่สอง ที่ว่า “จะทำอย่างไร” ซึ่งอาจมีคำตอบหลากหลายและข้อเสนอมาอย่างมากมาย ดังเช่น “ให้นายกฯช่วยใช้มาตรา ๔๔ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อทำให้การเลือกตั้งได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” หรือ “เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน จนกว่าจะมีการปฏิรูปประเทศสำเร็จ” หรือ “เป็นเรื่องของประชาชนที่จะว่ากันเองในอนาคต รัฐบาลปัจจุบันไม่ต้องยุ่งเกี่ยว”
เมื่อเราพอจะรู้ถึงเจตนาและวัตถุประสงค์ของการตั้งคำถามของนายกฯแล้ว ทีนี้ลองมาดูถึงนัยและการตีความของกลุ่มสังคมการเมืองเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างว่ามีในลักษณะใดบ้าง
ประการแรก ได้รับการตีความว่า คำถามแรกและคำถามที่สอง เป็นการสะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอดสามปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ การออกแบบรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมาย และการบริหารประเทศ ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะหากมั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาประสบความสำเร็จ ก็ย่อมต้องมั่นใจว่ารัฐบาลต่อไป ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กลไกการเลือกตั้งที่ได้รับการออกแบบมาในรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และหากเกิดกรณีที่รัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาล ก็แปลว่าสิ่งที่ทำมาล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า กระนั้นก็ยังมีกลไกต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดในการจัดการกับรัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล แต่หากนายกฯยังต้องการคำตอบจากประชาชนในเรื่องนี้ก็แปลว่า นายกฯ ไม่มั่นใจว่ากลไกการตรวจสอบรัฐบาลที่ถูกออกแบบในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจะมีประสิทธิผลเพียงพอ ซึ่งก็เท่ากับว่าที่ผ่านมารัฐบาลประสบความล้มเหลวในการวางรากฐานของการปฏิรูปประเทศเช่นกัน
ประการที่สอง ได้รับการตีความว่า เป็นปฏิบัติการตรวจสอบกระแสการสนับสนุนและการต่อต้านรัฐบาล เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจว่านายกฯจะกลับมาเป็นนายกฯอีกรอบหลังการเลือกตั้งหรือไม่ หรือว่าจะแสวงหาแนวทางในการลงจากอำนาจอย่างไรให้เหมาะสม อย่างไรก็ตามแนวโน้มส่วนใหญ่ของคนที่ตีความในประเด็นนี้เป็นไปในทิศทางที่เชื่อว่า ผู้ถามต้องการหาวิธีการในการสืบทอดอำนาจที่ดูดีและมีความชอบธรรม โดยเฉพาะหากได้รับกระแสกระสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ก็ย่อมเป็นฐานสำคัญของการอ้างความชอบธรรมเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป
ในทางกลับกันหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะตัดสินใจวางมือจากการเมืองหลังการเลือกตั้ง และปล่อยให้กระบวนการทางการเมืองขับเคลื่อนไปตามกลไกที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมา ความกังวลต่อความเป็นไปได้ของการถูกเล่นงานกลับจากกลุ่มการเมืองที่เป็นปรปักษ์ก็ย่อมเกิดขึ้น และอาจจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางรับมือเสียแต่เนิ่น ๆ
ประการที่สาม การถูกตีความว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะเป็นการตั้งคำถามที่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะถูกกำหนดโดยข้าราชการประจำเสียเป็นส่วนใหญ่ กรณีนี้ย่อมทำให้ฝ่ายการเมือง ที่ถูกเลือกมาจากประชาชน เกิดความรู้สึกว่าตนเองสูญเสียอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ และที่สำคัญกว่าคือการถูกกำหนดขอบเขตของการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ เพราะนั่นหมายถึงว่า โอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะได้รับค่าน้ำร้อนน้ำชาจากโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายลดลง ก็เลยพยายามโยงว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเป็นการลดคุณค่าของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทั้งที่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองที่ครองอำนาจรัฐได้ทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจนแทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว
อันที่จริงยังมีการตีความปลีกย่อยในเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับการตั้งคำถามของนายกฯอีกหลายประเด็น แต่ในที่นี้ขอกล่าวเพียงสามประเด็นหลักข้างต้น เพื่อจะได้มีพื้นที่อีกเล็กน้อยในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามนี้ ซึ่งมีทั้งผลกระทบในเชิงบวกและในเชิงลบ ผลกระทบในเชิงบวกคือ การก่อให้เกิดความสนใจในประเด็นที่เป็นสถานการณ์และปมปัญหาทางการเมืองของสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนคิดและถกเถียงประเด็นทางการเมืองมากขึ้น นับว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขและโอกาสในการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอีกครั้ง ทั้งที่เรื่องนี้รัฐบาลควรดำเนินการมานานแล้ว แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาดำเนินการเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย จึงทำให้สถานการณ์ที่นายกฯ กังวลเกิดขึ้น หากรัฐบาลร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและสร้างพฤติกรรมประชาธิปไตย โดยรณรงค์เกี่ยวกับประชาธิปไตยเชิงคุณธรรม ให้มากกว่าที่ผ่านมา แทนที่จะให้น้ำหนักกับระบบราชการแต่เพียงอย่างเดียว สถานการณ์ในวันนี้อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้
ส่วนผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นคือ นายกฯและรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์และตอบโต้จากกลุ่มการเมืองที่หลากหลายในเชิงเสียดสี รัฐบาลถูกมองว่าล้มเหลวในการบริหารและการปฏิรูป และต้องการสืบทอดอำนาจ จนทำให้นายกฯต้องอารมณ์เสียอยู่หลายวัน
อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามของนายกฯครั้งในครั้งนี้เป็นนวัตกรรมทางการเมือง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสนใจสถานการณ์การเมืองมากขึ้นและนำไปสู่การเรียนรู้และเข้าใจต่อการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผมคิดว่านายกฯควรจะตั้งคำถามต่อปัญหาสังคมอื่นๆให้ประชาชนตอบเป็นระยะ เพื่อสร้างกระแสความสนใจในเรื่องนั้นๆให้มากขึ้น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/กรมศุลกากรในปัจจุบัน มีธรรมาภิบาลหรือไม่ หากไม่มีแล้วจะทำอย่างไร หรือ หากการขับขี่รถจักรยานต์ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีคนตายปีละ 5,500 คน และเจ็บอีกนับหมื่น ควรจะสั่งห้ามไม่ให้มีการขับขี่รถจักรยานยนต์หรือไม่ หรือควรทำอย่างไรเพื่อลดอุบัติเหตุ
บางทีพลังขับเคลื่อนของการปฏิรูปประเทศอาจเพิ่มขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต จากการจุดประกายในการตั้งคำถามครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปได้