xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “ไตยองเชียงราย” ชุมชนต้นแบบ คนฝ่าฝนเที่ยวไร้โลว์ซีซัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ตามส่องชุมชน “ไตยองเชียงราย” หนึ่งในเครือข่าย Lanna Green Tourism Network หมู่บ้านต้นแบบโชว์วิถีพื้นถิ่นที่คนฝ่าฝนเที่ยวแบบบ้านๆ ไร้โลว์ซีซัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้บ้านสันต้นธง ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ชุมชน “ไตยอง” 1 ใน 17 กลุ่มชาติพันธุ์ของเชียงราย ถูกยกระดับเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบเครือข่าย Lanna Green Tourism Network ที่การท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย, โครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข สสส. และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงราย จำกัด ร่วมกันสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อุดรูรั่วหน้าฝน-โลว์ซีซัน

นางสังเวียน ปรามภ์ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นธง ซึ่งเปิดบ้านเลขที่ 53 ของตัวเองเป็นสถานที่รองรับคณะนักท่องเที่ยว เพื่อบรรยายวิถีชีวิตชาวไตยอง และที่มาของหมู่บ้านท่องเที่ยว ที่โชว์ให้เห็นถึงการแต่งกายของคนไตยอง การทำตุง-ช่อจากกระดาษ กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มทำขนมพื้นบ้านของชาวไตยอง เช่น ข้าวต้มมัดจากใบเตย ฯลฯ รวมทั้งจัดโปรแกรมนำนักท่องเที่ยวนั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้างชมศูนย์ชุมชนประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีการแสดงวิถีชีวิต แปลงผักปลอดภัยจากสารเคมี บ้านต้นแบบชาวไตยอง พระเจ้าห้าพระองค์ที่บ้านป่ากุ๊ก รับประทานอาหารพื้นบ้านร่วมกัน ฯลฯ

นางสังเวียนกล่าวว่า บ้านสันต้นธงมีประชากร 467 คน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่พวกเราเป็นชุมชนชาวไตยองที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ศึกษา และส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันประชากรในหมู่บ้านกว่า 60% เข้าร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านต่างๆ ที่เหลือก็ร่วมทำประโยชน์จากการท่องเที่ยว

นางสังเวียนบอกว่า หลักสำคัญคือ การอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบไตยองเอาไว้ และนำออกมาโชว์ให้คนภายนอกเห็น ทำให้บ้านสันต้นธงเป็น 1 ใน 22 หมู่บ้านทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากกรมส่งเสริมการท่องเที่ยว หมู่บ้านท่องเที่ยวสื่อความหมายเพื่อวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลการจัดการชุมชนต้นแบบยอมเยี่ยมตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ จ.เชียงราย ฯลฯ

“กลุ่มศึกษาดูงาน และชาวต่างชาติสนใจวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้มาก อย่างเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีเข้ามาเที่ยว 9 กลุ่มแล้ว และตามปกติเราจะรับนักท่องเที่ยวได้เต็มที่คราวละประมาณ 80 คน ซึ่งกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้านก็จะเตรียมข้าวของต้อนรับเอง แบ่งรายได้เข้ากองกลางแค่ส่วนหนึ่ง ไว้เป็นค่าอาหาร-ขนมต้อนรับแค่นั้น โดยเก็บค่าทัวร์กันแสนถูก คือคนละ 200-300 บาทเท่านั้น”

นางสังเวียนบอกอีกว่า ผลพลอยได้อีกอย่างคือ เด็กในหมู่บ้าน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ที่ก่อนนี้ไม่กล้าแต่งกายชุดพื้นเมืองไตยอง พอแต่งแล้วมีคนสนใจ มีโอกาสโชว์บนเวทีแสดงวัฒนธรรม และมีรายได้ ก็พากันใส่ชุดไตยอง คนที่ไปทำงานนอกพื้นที่ก็กลับมาบ้านมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผลจากการใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมด้วยการปลูกผักปลอดภัยยังทำให้ร้านจันกะผัก และโครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข ฯลฯ รับซื้อผักจากชาวบ้านไปจำหน่าย-ประกอบอาหารให้ลูกค้ามากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากแปลงผักเพื่อการท่องเที่ยว-การขายผักตลอดทั้งปีด้วย

ด้านนายกิตติ ทิศสกุล ผู้จัดการโครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านบูรณาการทำงาน โดยใช้เรื่องของอาหารปลอดภัยขับเคลื่อน จนสามารถประกาศวาระจังหวัดเป็นเมืองเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัยวิถีไทยล้านนา

โดยเชื่อมการทำงานตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำ-ภาคเกษตร กลางน้ำ-ผู้ประกอบการ ปลายน้ำ-ผู้บริโภค ขับเคลื่อนการทำงานด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยภาคเอกชนได้เป็นแกนหลักขับเคลื่อนโครงการ ทำให้มีการทำกิจกรรมลักษณะนี้ต่อเนื่อง สามารถสนับสนุนนโยบายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี









กำลังโหลดความคิดเห็น