กรมการแพทย์ ยกระดับ รพ.เด็ก เป็นศูนย์ดูแลทารกแรกเกิดป่วย - พิการครบวงจร ลดอัตราการตาย พร้อมด้วยเทคโนโลยีห้องสวนหัวใจไฮบริดแห่งแรกของไทย
วันนี้ (2 มิ.ย.) นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวผลงาน Service Champion “ศูนย์ดูแลทารกแรกเกิดป่วยและพิการครบวงจร” ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ว่า ประเทศไทยมีทารกเกิดใหม่ปีละ 700,000 คน เป็นทารกเกิดก่อนกำหนดประมาณ 100,000 คน โดยเด็กกลุ่มนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจากการรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 72 มาจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักมีภาวะพิการแต่กำเนิดร่วมด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงและดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ ในการรักษา ทั้งนี้ กรมฯ ได้ยกระดับ รพ.เด็ก ให้เป็น Service Champion คือ มีความเป็นเลิศในด้านการดูแลเด็กทารกแรกเกิด เพื่อลดอัตราการตายจากทารกคลอดก่อนกำหนดและพิการแต่กำเนิด ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความพัฒนาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอัตราตายของเด็กแรกคลอดอยู่ 6.7 ต่อพัน ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน แต่ลดได้น้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 20 ต่อพัน นอกจากนี้ ยังเป็นสถานฝึกอบรมให้แก่กุมารแพทย์ เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านต่างๆ ปีละกว่า 50 คน และพยาบาลวิกฤตด้านทารกแรกเกิดอีกปีละ 80 คน กระจายปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้เด็กไทยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่พบบ่อยโดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 3 ของทารกเกิดมีชีพ โดยความผิดปกติของทารกแรกเกิดที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะแขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม และภาวะน้ำคั่งในสมองแต่กำเนิด ตามลำดับ ทั้งนี้ ความพิการแต่กำเนิดอาจทำให้เกิดความพิการตลอดชีวิต หรืออาจเสียชีวิตในระยะแรกๆ หลังคลอด ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ บางครอบครัวไม่มีผู้ดูแล พ่อแม่ต้องหยุดทำงานเพื่อมาเลี้ยงลูกที่พิการ นับเป็นปัญหาสำคัญส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ศูนย์ดูแลทารกแรกเกิดป่วยและพิการครบวงจร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ดูแลรักษาทารกแรกเกิดป่วยและพิการแบบองค์รวมภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศ 3 ศูนย์ ได้แก่ 1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิด 2. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และ 3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านศัลยกรรมทารกแรกเกิด โดยทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคตา แพทย์ด้านโสต ศอ นาสิก ศัลยแพทย์ระบบประสาทและศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เป็นต้น
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ศูนย์ดูแลทารกแรกเกิดป่วยและพิการครบวงจร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประกอบด้วย 1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิด ดูแลทารกแรกเกิดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดป่วยที่รับส่งต่อมารักษาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงทารกป่วยจากทั้ง 12 เขตสุขภาพ ให้บริการทารกแรกเกิดวิกฤตปีละ 1,200 ราย โดยมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 70 เตียง มีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องช่วยหายใจความถี่สูง เครื่องให้ก๊าซไนตริกออกไซด์เพื่อรักษาภาวะความดันหลอดเลือดในปอดสูง และเครื่องลดอุณหภูมิกาย (cooling system) ใช้รักษาทารกที่มีภาวะขาดอากาศหายใจ อีกทั้งมีบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลทารกป่วย 2. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รักษาทารกแรกเกิดที่มีปัญหาหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ส่งต่อมาปีละ 4,500 ราย โดยมีห้องสวนหัวใจไฮบริด ที่ทันสมัยเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้ทำการรักษาทารกโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดด้วยสายสวนโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าอกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปีละ 400 ราย จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 3,000 ราย มีอัตรารอดชีวิตร้อยละ 99.86 กรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยการใส่สายสวนหัวใจ จะส่งผ่าตัดแก้ไขความพิการโดยกุมารศัลยแพทย์โรคหัวใจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ปีละ 350 ราย และโรงพยาบาลราชวิถีปีละ 140 ราย และ 3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านศัลยกรรมทารกแรกเกิด ดูแลทารกแรกเกิดที่มีปัญหาความพิการทางด้านศัลยกรรมที่ส่งต่อมารับการรักษาปีละ 1,000 ราย มีเตียงรองรับผู้ป่วย 38 เตียง โรคที่พบได้แก่ ถุงน้ำที่ผนังหน้าท้อง ทารกที่ไม่มีผนังหน้าท้อง ไส้เลื่อนกระบังลมแต่กำเนิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความชำนาญพิเศษ (COSE: Center of Special Expertise) อีก 6 ศูนย์ ได้แก่ ตา รับส่งต่อตรวจวินิจฉัย รักษาโรคจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด เป็นอันดับต้นของประเทศ รวมทั้งแก้ไขความพิการทางตา เช่น ตาเข เป็นต้น โสต ศอ นาสิก ตรวจวินิจฉัยและแก้ไขความพิการทางการได้ยิน ความพิการทางหูคอจมูกและทางเดินหายใจส่วนบน กระดูกและข้อ ผ่าตัดแก้ไขความพิการทางกระดูกและกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัด กายอุปกรณ์ รักษาทารกที่มีความพิการในด้านต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมด้านพัฒนาการเด็กพิการให้ทัดเทียมสมวัยของทารก และ นมแม่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกได้รับน้ำนมมารดาอย่างต่อเนื่อง แม้ในยามที่ลูกเจ็บป่วย