นราธิวาส - ทหารยอมเปิดท่าเรือ 6 ชุมชนที่โก-ลก จ.นราธิวาส แล้ว ด้านชาวบ้านกว่า 5 พันคนเฮลั่น ได้เริ่มใช้วิถีชีวิตกันตามปกติ และกลับมามีอาชีพสร้างรายได้ในครอบครัวอีกครั้ง
วันนี้ (15 มิ.ย.) สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาความมั่นคงแนวชายแดน ด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จนเจ้าหน้าที่ทหารมีการสั่งปิดท่าเรือ 6 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าชมพู่ ชุมชนท่าบือเร็ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง และชุมชนหัวสะพาน ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จนสร้างความเดือดร้อนต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน จำนวน 1,300 ครัวเรือน รวม 5,200 คน และชาวบ้านได้รวมตัวกันชุมนุมแสดงพลังความไม่พอใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย นายอิสมาแอ ยูโซ๊ะ ประธานท่าข้ามสุไหงโก-ลก และนายไพรัตน์ บินมามะ เจ้าของท่าเรือท่าชมพู่ พร้อมทั้งได้หาข้อสรุปร่วมกันยื่นเสนอต่อ นายสิทธิชัย ศักดา ผวจ.นราธิวาส และ พล.ต.วิชาญ สุขสง ผบ.ฉก.นราธิวาส เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทบทวนคำสั่งการสั่งปิดท่าเรือดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไปจนขาดรายได้นำมาเลี้ยงครอบครัว
ด้าน พล.ต.วิชาญ สุขสง ผบ.ฉก.นราธิวาส แจงเหตุผลที่ต้องปิดท่าเรือข้ามฟากทั้ง 6 ชุมชน เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทางการได้อนุโลมเรื่อยมาจนชาวบ้านเคยชิน คิดว่าเป็นท่าเรือจุดผ่อนปรน ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายฉวยโอกาสใช้ช่องทางข้ามดังกล่าวแฝงตัวนำวัตถุระเบิด และสารตั้งต้นในการประกอบระเบิด ลักลอบเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้เส้นทางดังกล่าวหลบหนีเข้าไปกบดานในประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุด หลังจาก พล.ต.วิชาญ สุขสง ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้ยื่นข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบตามลำดับชั้นในการทบทวนคำสั่งดังกล่าว ทราบจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพบริเวณท่าเรือข้ามฟากท่าชมพู่ ว่า ทางทหารได้มีคำสั่งยอมเปิดท่าเรือข้ามฟากทั้ง 6 ชุมชนแล้วในวันนี้ แต่ไม่ทราบถึงรายละเอียด และข้อตกลง แต่ทราบว่าให้ชาวบ้านทั้ง 6 ชุมชนมีส่วนร่วมต่อเจ้าหน้าที่ทหารชุดป้องกันชายแดนที่ 3 ที่ทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่ที่ท่าเรือทั้ง 6 ชุมชน ในการป้องกัน และสกัดกั้นรวมทั้งตรวจสอบบุคคล และสิ่งของสัมภาระที่ประชาชนทั้ง 2 ฟากฝั่งนำเข้าออกระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ด้วยความเข้มงวด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยบรรยากาศที่ท่าเรือข้ามฟากทั้ง 6 ชุมชน มีประชาชนชาวไทย และมาเลเซีย ใช้บริการเรือยนต์รับจ้างข้ามฟากกันหนาตา และเป็นปกติเหมือนในช่วงที่ไม่มีคำสั่งปิดท่าเรือ ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพขับเรือยนต์รับจ้างข้ามฟาก อาชีพรับจ้างแบกหาม มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่ขาย และซื้อสินค้าตามแนวชายแดนกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้อีกครั้ง