ตรัง - ผู้ประกอบการ “หมูย่างเมืองตรัง” โอดโอยเดือดร้อนหนัก หลังถูกบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ พ.ศ.2559 ชี้กระทบต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม หวั่นยอดขายตก และถูกจับกุม ด้านหอการค้าเตรียมหาทางช่วยเหลือ
วันนี้ (5 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัมพันธ์ ยิ้วเหี้ยง อายุ 47 ปี เจ้าของ “หมูย่างโกสุ่ย” หนึ่งในผู้ประกอบการอาหารขึ้นชื่อของเมืองตรัง กล่าวว่า หลังจากที่กรมปศุสัตว์ ได้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดเรื่องการฆ่าสัตว์ การชำแหละเนื้อสัตว์ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ และโรงพักสัตว์ โดยเฉพาะการห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาบังคับใช้เกือบ 1 ปี ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการหมูย่างใน จ.ตรัง เนื่องจากไม่สามารถใช้วิถีดั้งเดิมในการย่างหมูได้อีกแล้ว
สำหรับหมูย่างเมืองตรัง กว่าที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจนเป็นที่รู้จักกันถึงปัจจุบันนี้ มีเคล็ดลับกรรมวิธีหลายอย่าง และทุกขั้นตอนจะสอดคล้องลงตัวกันหมด ทั้งเรื่องของขนาด เวลา หรือวิธีการทำ นับเป็นศิลปะโบราณสูตรดั้งเดิมนับตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่ผู้ประกอบการย่างหมูเมืองตรังจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ที่บังคับให้ต้องไปฆ่าหมูที่โรงฆ่าสัตว์เท่านั้น เพราะโรงฆ่าสัตว์ไม่สามารถกำหนดเวลาฆ่าหมูได้ตรงตามสูตร เนื่องจากเปิดทำการในช่วงกลางวัน อีกทั้งหมูที่นำมาย่างส่วนใหญ่จะฆ่าในช่วงเย็น เพื่อย่างในช่วงกลางคืน และต้องย่างภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อให้รสชาติดี
นอกจากนั้น หมูขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการไหว้เจ้าก็ไม่สามารถนำไปฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ได้ เนื่องจากเครื่องฆ่าสัตว์มีขนาดใหญ่ จึงทำได้เฉพาะหมูขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 70 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น อีกทั้งหมูที่นำมาย่าง เมื่อฆ่าแล้วต้องนำไปตาก โดยห้ามทับอย่างเด็ดขาด ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวสวนทางต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมทุกประการ
นายสัมพันธ์ กล่าวด้วยสีหน้าหนักใจว่า ตอนนี้ตนเองมีคดีความอยู่ เนื่องจากไปฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากต้องทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว และที่กำลังหนักใจที่สุดก็คือ ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ ตนได้รับการติดต่อจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้นำหมูย่างเมืองตรัง ไปออกบูทที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าข้อกำหนดต่างๆ ของ พ.ร.บ.ยังเป็นเช่นนี้ตนคงไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องย่างหมูจำนวนมาก โดยคาดว่าจะต้องสูญเสียรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท
ด้าน นายภราดร นุชิตศิริภัทรา รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวยอมรับว่า พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นอาชีพดั้งเดิม หรือสัญลักษณ์ของจังหวัด ทั้งนี้ จากข้อมูลทราบว่า ในพื้นที่ จ.ตรัง มีโรงฆ่าสัตว์ 7 แห่ง และที่ได้มาตรฐานมีแค่ 4 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับจำนวนหมูที่ต้องฆ่า และชำแหละในแต่ละวัน ขณะที่การฆ่าหมูเพื่อขายเนื้อสด กับฆ่าหมูเพื่อทำหมูย่างก็มีวิธีการต่างกัน เนื่องจากการย่างหมูทุกขั้นตอนคือความพิถีพิถัน ศิลปะ หรือวิถีชุมชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังให้รอดพ้นจากวิกฤต พ.ร.บ.ฉบับนี้