ตรัง - ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ย้ำไม่ละเว้นกฎหมาย ผู้ประกอบการหมูย่างต้องทำให้ถูกต้อง ชี้ทางออกมีหากทุกฝ่ายช่วยกัน เพราะผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเช่นกัน
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีผู้ประกอบการหมู่ย่างได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดเรื่องการฆ่าสัตว์ การชำแหละเนื้อสัตว์ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ และโรงพักสัตว์ โดยเฉพาะการห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับนั้น ว่า เมื่อมีการออกกฎหมายทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากมีการละเว้นก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 เช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ หากพบผู้กระทำความผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที เพราะอย่าลืมว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ก่อนหน้านี้ เคยประชุมร่วมกันกับทั้งผู้ประกอบการโรงฆ่าแล้ว 2 ครั้ง ก็ได้คุยหารือเรื่องนี้แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะโรงฆ่าที่มีอยู่ทั้งจังหวัดตรัง ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่จำนวน 7 แห่ง ซึ่งก็มีการตรวจเพื่อรักษามาตรฐานอยู่เสมอ
แต่ละวันจะมีการฆ่าสัตว์ทุกชนิดประมาณ 200 ตัว การจะแยกส่วนว่าโรงฆ่าสัตว์ใดฆ่าเฉพาะหมูที่จะไปทำหมูย่างคงยาก นอกจากจะมีผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจลงทุนสร้างโรงฆ่าขึ้น เพื่อรองรับเฉพาะโรงฆ่าหมูย่าง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ อีกทั้งหมูย่างตรังก็มีการแข่งขันกันสูง ผู้ประกอบการแต่ละคนก็มีสูตรไม่เหมือนกัน ทำให้มีการรวมตัวกันยากอีก ซึ่งก็เป็นปัญหาของผู้ประกอบการหมูย่างที่ต้องหาทางแก้ไข
ปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทุกฝ่ายทั้งจังหวัด ทั้งผู้ประกอบการ โรงฆ่า และปศุสัตว์เองก็ต้องหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการได้รับเรื่องผ่านตัวหนังสือ หรือจากบุคคลใดๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ผู้ประกอบการ “หมูย่างเมืองตรัง” โอดใช้ พ.ร.บ.ควบคุมฆ่าสัตว์ฯ ชี้กระทบบภูมิปัญญาดั้งเดิม