ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดปาก “ศิริพัฒ พัฒกุล” ผู้ว่าฯ ตรัง ยันทราบ และรู้ปัญหาวิกฤตหมูย่างตรังแล้ว แต่กฎหมายก็ต้องบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ชี้เหมือนรัฐบาลตัดสูทให้ประชาชนก็ต้องใส่เหมือนกันหมด ระบุชัดผู้ประกอบการต้องการอะไรทำหนังสือมา และจะดำเนินการต่อให้ทันที อย่าไปจัดประชุมอะไรกันให้เสียเวลา
จากการที่ศูนย์ข่าวผู้จัดการ-News1 หาดใหญ่ ยกทีมเดินทางไปเกาะติดกรณีผู้ประกอบการหมู่ย่าง จ.ตรัง ประสบวิกฤตปัญหาทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกรรมวิธีการผลิตหมูย่างสูตรพื้นเมืองตรัง แถมยังทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต เนื่องจากกฎหมายใหม่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องฆ่าหมู ณ โรงฆ่าสัตว์ของทางการเท่านั้น ซึ่งไม่สอดรับต่อวิถีวัฒนธรรมการผลิตหมูย่าง อาหารขึ้นชื่อของเมืองตรังที่เป็นที่รู้จักทั้งใน และต่างประเทศชนิดนี้
โดยทีมข่าวได้มีการเปิดปฏิบัติการ Live สด! ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “MGR Online ภาคใต้” เพื่อทำความเข้าใจต่อข้อติดขัดทางกฎหมาย รวมถึงระดมความคิดเห็นทั้งจากตัวแทนหอการค้า จ.ตรัง และชมรมผู้ประกอบการหมูย่าง จ.ตรัง เพื่อหาทางออกจากวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 2 วัน จนได้ข้อสรุปว่า มีความต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วนั่งหัวโต๊ะระดมหาทางออกจากวิกฤตปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษต่อทีมข่าวผู้จัดการ-News1 หาดใหญ่ ในช่วงบ่ายวันนี้ (8 มิ.ย.) ความว่า ต้นทราบ และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างดี และอยากจะบอกกับผู้ประกอบการ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ไปแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะยกเว้นให้แก่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้อย่างเท่าเทียม
นายศิริพัฒ กล่าวว่า กรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ตนทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ อยากจะบอกว่าตนก็มีงานมากมายจนล้นมือ เราไม่ควรเสียเวลามานั่งประชุมอะไรกันอีกแล้ว เมื่อรู้ปัญหากันแล้วก็เสนอมาเลย ผู้ประกอบการมีความต้องการให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการอย่างใด ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดมาเลย ถ้าอยู่ตนช่วยได้ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ ตนพร้อมเซ็นให้ทันที หรือจะให้ดำเนินการด้านอื่นๆ เช่น จะส่งให้อธิบดี หรือรัฐมนตรีก็ว่ามาได้เลย
“ที่กฎหมายนี้ออกมาเพราะเราต้องสร้างมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ และรัฐต้องคำนึงถึงสุขอนามัยของประชาชนอย่างเท่าเทียม ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกัน ผมอยากจะเปรียบให้ฟังว่า กฎหมายใหม่ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ดังกล่าวนี้ ก็เหมือนกันที่รัฐบาลตัดสูทให้แก่ประชาชนทุกคนใส่ เราก็ต้องยอมรับ และใส่สูทนั้น นั่นคือความเท่าเทียมของกฎหมาย” นายศิริพัฒ กล่าว