xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ชมรมหมูย่างตรังวอนผ่อนผัน พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ หลังได้รับผลกระทบหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่าง จ.ตรัง วอนขอความเห็นใจช่วยผ่อนผัน พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ ฉบับล่าสุด เพราะส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานที่จะหดหายไป

นายทวีศักดิ์ ไทรงาม ประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่าง จ.ตรัง เปิดเผยถึง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดเรื่องการฆ่าสัตว์ การชำแหละเนื้อสัตว์ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ และโรงพักสัตว์ โดยเฉพาะการห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับนั้น เท่ากับเป็นการตัดตอนอาชีพหมูย่างเมืองตรัง ที่มีการสืบทอดกันมานับ 100 ปี จนขณะนี้ลูกหลานรุ่นต่อไปในบางรายไม่มีใครกล้ารับช่วงยึดเป็นอาชีพอีกแล้ว เนื่องจากกลัวผิดกฎหมาย กลัวเสียประวัติ และกลัวปัญหาอีกสารพัดที่อาจตามมา
 

 
ดังนั้น การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา ตนจึงไม่แน่ใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะไม่สามารถขายหมูตัวเล็กๆ ได้อีกเหมือนเดิม ทั้งที่ตลาดหมูย่างส่วนใหญ่จะนิยมหมูตัวเล็ก เนื่องจากมีรสชาติกลมกล่อม ได้รสชาติตามสูตร แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการหมูย่างกลับไม่สามารถซื้อหมูตัวเล็กๆ จากเล้าหมูในชุมชนมาใช้ได้ เนื่องจากเครื่องฆ่าหมูที่โรงฆ่าสัตว์รองรับได้เฉพาะหมูที่มีน้ำหนัก 70-80 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่เหมาะต่อการนำมาย่างให้อร่อย เพราะตัวใหญ่เกินไป ทำให้ผู้ประกอบการต้องไปสั่งซื้อหมูตัวใหญ่ๆ จากฟาร์มขนาดใหญ่แทน

ประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่าง จ.ตรัง กล่าวอีกว่า หากทางการยังบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยไม่ยอมผ่อนผัน ตนกังวลว่าช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน จะมีปัญหามาก เพราะไม่สามารถผลิตหมูย่างออกจำหน่ายได้ทัน เนื่องจากเวลาการทำหมูย่างกับโรงฆ่าสัตว์ไม่ตรงกัน โดยปกติหมูย่างเมืองตรัง จะฆ่าตอนบ่าย ย่างเที่ยงคืน และนำออกจำหน่ายตอนเช้า รสชาติก็จะลงตัวตามสูตรโบราณดั้งเดิมพอดี แต่เมื่อ พ.ร.บ.บังคับให้ฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ตามเวลาที่กำหนด คือ 02.00-03.00 น. แล้วให้นำไปย่างตอนเที่ยงคืนของอีกวัน
 

 
ทั้งนี้ จากระยะเวลาที่ต่างกันประมาณ 10-12 ชั่วโมง ย่อมทำให้คุณภาพหมูย่างลดลงไปจากเดิมอย่างแน่นอน อีกทั้งกรรมวิธีในการทำทั้งการกรีด การทำความสะอาด หรืออื่นๆ ในโรงฆ่าสัตว์ก็ยังต่างกันอีก และไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประกอบการได้ จนอาจส่งผลให้หมูย่างขาดความเชื่อถือจากลูกค้า เพราะความได้มาตรฐานในการทำหมูย่างทุกขั้นตอนจะหายไป ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ วันหนึ่งหมูย่างเมืองตรัง จะลดน้อยลง และหายไปในที่สุด จนเหลือเพียงตำนานอย่างแน่นอน ทั้งที่มีการสืบทอดกันมายาวนานนับ 100 ปีแล้ว

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดตนได้หารือกับหลายฝ่าย รวมถึงสมาชิกในชมรมฯ ซึ่งต่างประสบปัญหาเดียวกัน ขาดกำลังใจ และเกิดความท้อถอย จึงอยากวอนให้ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาล ช่วยผ่อนผัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้แก่ผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังด้วย เนื่องจากพวกตนไม่ได้หวังร่ำรวย แต่ที่ยึดอาชีพย่างหมูเพราะเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวพออยู่ได้เท่านั้น เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตัวละ 100 บาท ทั้งค่าแรงงาน ค่าขนส่ง เพื่อที่จะนำหมูไปฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ให้ถูกต้อง และไม่มีการผ่อนปรนจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
 
กำลังโหลดความคิดเห็น