ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต เตรียมจัดงานครบรอบปีที่ 10 เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกิจกรรมออกบูทระดมทุนต่อยอดการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
มูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.ศุภลักษณ์ กาญจนเมธากุล ประธานมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย และคณะ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภูเก็ต ถึงการจัดงานครบรอบ 10 ปี เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินผลงาน ตลอดจนอุปสรรคในการดำเนินงาน และการจัดงานประจำปี ฉลองวันครบรอบปีที่ 10 ของมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย
ดร.ศุภลักษณ์ กาญจนเมธากุล ประธานมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย ว่า สืบเนื่องจากภัยพิบัติสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สโมสรไลอ้อนส์ต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยในจังหวัดภูเก็ต และพังงา โดยสโมสรไลอ้อนส์ภูเก็ตอันดามันซี ได้ร่วมมือจัดหาทุนเพื่อสร้างหมู่บ้านสำหรับเด็กกำพร้าเนื่องจากภัยพิบัติ โครงการนี้ได้เริ่มอย่างจริงจังจากสโมสรไลอ้อนส์ภูเก็ตอันดามันซี สภากาชาดฝรั่งเศส และสมาคมพิทักษ์เด็กภูเก็ต ซึ่งในขณะนั้น มีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือ และปกป้องเด็กมานานกว่า 10 ปี ได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉายขึ้น โดยมีกรรมการมูลนิธิ ประกอบด้วย สมาคมพิทักษ์เด็กภูเก็ต 4 คน และจากสโมสรไลอ้อนส์ภูเก็ตอันดามันซี 4 คน รวมเป็น 8 คน
ณ วันที่ 17 ส.ค.2549 มูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย จึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสถานสงเคราะห์เด็ก โดยดำเนินการให้เป็นที่พักพิงแก่เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กสภาวะยากลำบาก เด็กครอบครัวแตกแยก หรือผลกระทบจากภัยพิบัติ เด็กถูกทารุณ ถูกทอดทิ้ง และเด็กที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และอนาคตที่สดใสด้วยการดูแลตามแบบฉบับแห่งครอบครัวไทย สถานสงเคราะห์เด็กหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2550 ปัจจุบัน มีเด็กในการสงเคราะห์ จำนวน 95 คน และเด็กก่อนวัยเข้าเรียนจากชุมชนยากจนใกล้เคียง จำนวน 20 คน
“ใน 10 ปี มีเด็กที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ออกไปจากมูลนิธิ มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 คน เนื่องจากว่ามูลนิธิฯ เราเกิดมาจากกรณีพิบัติภัย เป้าหมายของเราในขณะนั้น คือ การดูแลเด็กที่ประสบภัย ที่สูญเสียครอบครัว ญาติพี่น้อง ส่วนใหญ่ก็ได้รับการช่วยเหลือไปบ้างแล้ว เราก็เลยขยายการช่วยเหลือให้แก่เด็กด้อยโอกาสอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เกิดจากครอบครัวที่พ่อแม่ผลักภาระ เป็นเด็กที่ครอบครัวไม่ต้องการ หรือไม่ก็กลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาจจะเป็นเด็กที่ครอบครัวยังต้องการ แต่ครอบครัวนั้นอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เด็กอาจจะถูกยั่วยุไปในทางที่ไม่ดีได้” ดร.ศุภลักษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.ศุภลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงผลงาน และการดำเนินงานในรอบ 10 ปี ด้วยว่า การดำเนินงานของหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย อยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนราชการ คือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้รับการประเมินผลในระดับดีเยี่ยม และเป็นอันดับต้นๆ เสมอมาเป็นเวลาติดต่อกันทุกปี โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีสุดท้ายที่ผ่านมา หมู่บ้านเด็กตะวันฉาย ได้รับคะแนนสูงสุดในการประเมินดังกล่าว
มูลนิธิฯ ได้ช่วยแบ่งเยาภาระของรัฐบาลในการสงเคราะห์เด็กที่จำเป็นจะต้องได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ตามอัตราเฉลี่ยแล้วมูลนิธิฯ ได้รับเด็กสงเคราะห์เป็นจำนวน 120 คนต่อปี รวมถึงเด็กเล็กจากชุมชนที่ได้รับการดูแลในชั้นเรียนเด็กเล็ก
มูลนิธิฯ ได้รับสงเคราะห์เด็กที่ส่งมาโดยตรงจากหน่วยงานของรัฐ คือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 10-15 คนต่อปี และมูลนิธิฯ ยังได้รับเด็กเพื่อการสงเคราะห์ต่อจากองค์กรเอกชนอื่นๆ เช่น สมาคมพิทักษ์เด็ก บ้านพักเด็กฮอลแลนด์ บ้านลุงพิทักษ์ และอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 8-12 คนต่อปี
มูลนิธิฯ ได้สงเคราะห์เด็ก และคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กเหล่านั้น รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องปัญหาด้านสุขภาพกายและจิต ความบกพร่องทางอารมณ์และสังคม ให้ความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิเด็ก เป็นต้น เช่น ปัญหาช่องปาก และฟันของเด็กได้รับการดูแลจนได้รับประกาศเป็นเขตปลอดฟันผุ เมื่อปลายปี 2559 จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มีเด็กจำนวนประมาณ 9% ที่ได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางสม่ำเสมอ เป็นต้น จัดอบรมด้านจริยธรรม ทัศนศึกษา กิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ แก่เด็ก และบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เด็กทุกคนจะได้รับการตรวจสอบถึงครอบครัวที่มีอยู่โดยมูลนิธิฯ มีความประสงค์ที่จะส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวของตนเองเมื่อสภาวะของครอบครัวพร้อมที่จะดูแลเด็กได้ด้วยตัวเอง ในแต่ละปีสามารถคืนเด็กสู่ครอบครัวได้ โดยเฉลี่ยประมาณ 5% ของเด็กทั้งหมด เมื่อมีเด็กในการสงเคราะห์ที่มีอายุถึง 18 ปี ทางมูลนิธิฯ ได้ดูแลให้เด็กเหล่านี้ให้สามารถออกไปดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง และถ้าเด็กประสงค์จะศึกษาต่อมูลนิธิฯ ก็ได้จัดหาทุน
หมู่บ้านเด็กตะวันฉาย มาถึงจุดนี้ได้เราต้องดูแลตัวเอง ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาทต่อปี ทำไมต้องเยอะ เนื่องจากว่านอกจากเรื่องการศึกษาที่เราต้องให้แก่เขาแล้ว เด็กยังต้องมีเงินติดกระเป๋าไปโรงเรียน ในการทำกิจกรรม รับประทานอาหาร และในการใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพื่อชีวิตของเขาด้วย ไม่ว่าทางหมู่บ้านจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะประหยัดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราได้มา เพื่อที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายที่เราพยายามจะลดให้มากที่สุดก็ยังไม่สามารถลดได้อย่างที่เราต้องการ แต่ถ้าเราได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เราได้อยู่ต่อไป เพื่อที่จะได้ให้การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสเหล่านั้น ซึ่งบังเอิญหลั่งไหลเข้ามาในเกาะภูเก็ตของเรา
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 มิ.ย.2560 ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.ทางมูลนิธิหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย จะมีการจัดกิจกรรมเป็นลักษณะเหมือนการออกร้านขายของ ซึ่งตอนนี้มีร้านขายของที่แจ้งความจำนง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของต่างๆ ที่จะมาจำหน่ายในงาน มีจำนวน 55 บูท และเรายังมีพื้นที่ที่จะรองรับจำนวนบูทได้อีก 20 บูท จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิฯ เพื่อหารายได้ส่วนหนึ่งเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของหมู่บ้านเด็กตะวันฉาย ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาโดยไม่ได้หวังผลกำไร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-7661-4116, 08-5884-7787 ทั้งนี้ ท่านสามารถของโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีเลขที่ 102-2-00125-4 ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชีมูลนิธิหมู่บ้านตะวันฉาย โดยแจ้งการโอนทางโทรศัพท์ หรือส่งสลิปการโอนทางโทรสารที่หมายเลข 0-7661-4116 ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวในที่สุด