xs
xsm
sm
md
lg

“องค์การยูนิเซฟ” เข้าคารวะ ศอ.บต. ก่อนจะร่วมมือทำงานเกี่ยวกับเด็กใน จชต.นานถึง 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - “องค์การยูนิเซฟ” เข้าคารวะ ศอ.บต. ก่อนที่จะร่วมมือทำงานเกี่ยวกับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นานถึง 5 ปี

วันนี้ (24 พ.ค.) จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มายาวนานหลายปีทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ คนร้ายมักเลือกใช้วิธีรุนแรงมากขึ้น ถึงแม้สถิติการก่อเหตุลดน้อยลง แต่กลับมีการเลือกใช้วิธีรุนแรงยิ่งขึ้น เลือกใช้วิธีคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ทำให้เกิดความสูญเสียที่เป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กก็กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้องค์กรต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อเด็กทุกกรณี ไม่ว่าเด็กจะได้รับบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงโดยตรง หรืออาจตกเป็นเด็กกำพร้าที่มีเป็นจำนวนมาก จากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ยาวนาน 13 ปี

ล่าสุด พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า วานนี้ (23 พ.ค.) ทาง ศอ.บต.ให้การต้อนรับ Mr.Gary Risser หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก และนายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต. นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. และผู้แทนจากสำนักส่วน ศอ.บต.เข้าร่วม ที่ห้องรับรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพบปะกับทางคณะองค์การยูนิเซฟครั้งนี้ มีการพูดคุยในบทบาทหน้าที่ขององค์การยูนิเซฟในการให้การคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือดูแลเด็ก รวมถึงโครงการในระยะ 5 ปี ของยูนิเซฟที่เริ่มต้นในปีนี้ ในการวางกรอบการดูแลเด็ก ทั้งเรื่องการศึกษา เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และที่เกี่ยวข้องต่อยาเสพติด รวมถึงเด็กที่เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ
 

 
“เราหวังให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดี สุขภาพพลานามัยที่ดี เราสนับสนุนให้เด็กโตขึ้นมามีคุณภาพ ซึ่งยูนิเซฟ พอใจในสิ่งที่ ศอ.บต.ทำ เพราะเขาไม่คิดว่า เราจะทำเกินขอบเขตที่เขาคิดไว้มากขนาดนี้ เราอยากให้เขารู้ว่า ประเทศไทยให้การดูแลเด็กอย่างดี เราทำอะไรบ้าง เราสนับสนุนอะไรบ้าง ที่จะทำให้เด็กโตขึ้นมามีคุณภาพ และมีชีวิตที่ดี สิ่งนี้คือสิ่งที่ ศอ.บต. พยายามทำให้เกิดในพื้นที่”

โดยในอนาคตเราจะมีการประสานงานร่วมกันเพื่อให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น โดยองค์การยูนิเซฟจะช่วยประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนกิจกรรมดีดีที่ ศอ.บต.ดำเนินการ รวมถึงการวางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็ก การเติมเต็มเด็กผ่านการการทำโครงการร่วมกัน และการจัดสัมมนาวงเล็ก ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ ศอ.บต. และองค์กรระหว่างประเทศในการดูแลด้วย

“เราเชื่อว่าเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการดูแลที่อาจจะดีกว่าเด็กในภูมิภาคอื่นด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่ยูนิเซฟคิดไม่ถึง เพราะด้วยบ้านเรายังมีเหตุการณ์อยู่ แต่ในความเป็นจริงเรามีการดูแลตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งก็มีหลายภาคส่วนเข้ามาสนับสนุนด้วย”

สำหรับการดูแลเด็กของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.นั้น เราให้การดูแลเด็กตามช่วงอายุ กลุ่มที่ 1 คือ การดูและเด็กเล็กปฐมวัย อายุประมาณ 3-5 ขวบ เราดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย การศึกษา และพัฒนาการทางสมองของเด็ก การดูแลเด็กชั้นประถม อายุ 6-11 ขวบ และเด็กอายุระหว่าง 11-14 ปี ทั้งนี้ ศอ.บต.ยังให้การดูแล สนับสนุนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย กลุ่มที่ 2 คือ เด็กที่เราต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ซึ่ง ศอ.บต.ให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมทุกด้าน เช่น เด็กถูกทอดทิ้งที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เด็กที่เกี่ยวข้องต่อยาเสพติด ที่ ศอ.บต.ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ และเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ในสังคม และกลุ่มที่ 3 คือ การดูแลเด็กไม่ให้เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ความมั่นคง

ทั้งนี้ เนื่องจากเคยมีข้อมูลในอดีตที่ปรากฏว่า ศอ.บต.ใช้แรงงานเด็กเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชรบ. ซึ่งเราต้องยืนยันว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาพดังกล่าวไม่มีปรากฏแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นภาพในอดีตที่เด็กติดตามพ่อแม่ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยปัจจุบันมีกฎระเบียบออกมาอย่างชัดเจน และไม่มีปรากฏในลักษณะดังกล่าวแล้ว
 

 
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวย้ำว่า ศอ.บต.ได้ดูแลเด็กนอกเหนือจากความรับผิดชอบของ ศอ.บต. โดยการพูดคุยดังกล่าว นอกจากรับทราบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคต และเพื่อสนับสนุนงานด้านคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนวิทยากรในโครงการค่ายครอบครัวอบอุ่น การสัมมนาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐในเรื่องการคุ้มครองเด็กแล้ว คณะขององค์การยูนิเซฟ จะนำข้อมูลการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่เกี่ยวข้องต่อการคุ้มครองเด็ก เชื่อมต่อกับกิจกรรมขององค์การยูนิเซฟ เพื่อประสานความร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินงานของ ศอ.บต.ในอนาคตด้วย

ด้าน Mr.Gary Risser หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ถูกหยิบยกเรื่องเด็กกับความมั่นคง ซึ่งในต่างประเทศก็ถูกหยิบยกเช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้แล้วนั้น สำหรับกรณีความเข้าใจผิดดังกล่าวต้องมีหลักฐานช่วยยืนยันว่า ศอ.บต.ไม่มีกฎรับเด็กเป็น ชรบ. ซึ่งทางองค์การยูนิเซฟ มีความยินดีจะแก้ไขเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการทำงานขององค์การยูนิเซฟ ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นทางอัตลักษณ์สังคมของเด็กด้วย โดยล่าสุด มีการช่วยเหลือเยียวยาทางจิตสังคมให้แก่เด็กที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากตนเห็นว่า ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องเยียวยาทางจิต สังคมอาจจะมีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในอนาคต ซึ่งก็สอดคล้องต่องานด้านเยียวยาของ ศอ.บต.ที่มีการจัด “ค่ายครอบครัวอบอุ่น” ให้แก่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยองค์การยูนิเซฟจะมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน และการจัดโครงการเยียวยาเด็กร่วมกับ ศอ.บต.ในอนาคตด้วย
 
กำลังโหลดความคิดเห็น