xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดดับไฟใต้ที่แปรเปลี่ยนจาก “เพาะถั่วงอก” เป็น “ปลูกไม้ยืนต้น” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป แม้ว่าตลอดทั้งปีจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น “คาร์บอมบ์”  ที่ห่างหายไปจากพื้นที่นาน ได้กลับเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ใช้ในการก่อเหตุหลายครั้ง ทั้งใน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส
 
หรือการใช้ความรุนแรงในการสังหาร “ไทยพุทธ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกแนวร่วมนำกลับมาเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อตอบโต้กับการปฏิบัติการเชิงรุกของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และวิสามัญ
 
หรือโดยเฉพาะการสังหาร “ผู้หญิง เพื่อสร้างความโกรธแค้นให้แก่คนไทยพุทธที่ถูกกระทำ เพื่อเป็นการ “จุดชนวน ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงของคนไทยพุทธต่อ “มุสลิม ในพื้นที่ เพื่อที่จะให้กลายเป็น “เงื่อนไขของ “สงครามประชาชน อย่างเต็มรูปแบบ
 
รวมทั้งการทำให้ “สหประชาชาติ” เห็นว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความขัดแย้งทาง “ชาติพันธุ์ และในอนาคตขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็น เป็นแกนนำ ต้องการให้ความขัดแย้งในพื้นที่ขยายตัวไปเป็นความขัดแย้งในรูปแบบ “สงครามศาสนา
 
ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสร้างขึ้น เพื่อให้คนไทยพุทธในพื้นที่ “หลงกล และเข้าไปติด “กับดักความรุนแรง”
 
รวมทั้งใช้ความรุนแรงที่แนวร่วมก่อเหตุรายวันเป็น “กับดัก” ให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องทุ่มเทกำลังเกือบทั้งหมดในการคุ้มครองเส้นทาง คุ้มครองสิ่งสาธารณูปโภค และคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน จนไม่สามารถทำประโยชน์อื่นๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
 
แต่แผนของบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้ทำให้คนไทยพุทธส่วนใหญ่หลงกล ด้วยการใช้ความรุนแรงตอบโต้ต่อแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ คนไทยพุทธส่วนใหญ่จึงยังอดทน และใช้วิธีการป้องกันตนเอง ป้องกันหมู่บ้าน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของแนวร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครองใน “พื้นที่เสี่ยง แม้จะไม่ได้ผลเต็มร้อย แต่ก็สามารถลดความสูญเสียลงไปในระดับที่น่าพอใจ
 
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เมื่อกองทัพได้มีการถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภคที่ 3 ออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก และเป็นไปตามสิ่งที่คนในพื้นที่เรียกร้องกันมาหลายปี ซึ่งต้องการให้มีการถอน “ทหารต่างถิ่น ที่ไม่เข้าใจใน “วิถีวัฒนธรรม” ของมุสลิมออกจากพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง และความรุนแรง
 
โดยขณะนี้กำลังทหารทั้งหมดในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ สะบ้าย้อย เทพา นาทวี และจะนะ กลายเป็นทหารของกองทัพภาคที่ 4 ทั้งหมด และส่วนหนึ่งเป็นกำลัง “ทหารพราน” ซึ่งถูกนำเข้ามาทดแทนทหารประจำการ และเป็นทหารพรานที่เป็นคนในพื้นที่ เพื่อให้ผสมกลมกลืนกับประชาชนในวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น
 
นอกจากนั้น กองทัพก็ได้ใช้ “โครงการพัฒนามาเป็น “ปัจจัยหลัก ในการเข้าสลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นยาวนานถึง 13 ปี จนทำให้ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และกลายเป็นพื้นที่ขาดโอกาสในการพัฒนาทุกด้าน
 
“โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยทุ่มงบประมาณลงไปที่พื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ จึงเป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปแบบในครั้งแรก ซึ่ง รัฐบาล กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชื่อว่าจะสามารถใช้เป็น “น้ำเพื่อราดรดไปดับ “ไฟใต้ อย่างได้ผล
 
สำหรับ “ผลลัพธ์” จะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่นั้น คนในพื้นที่ต้องใช้ “ความอดทน” เพื่อรอเวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ไม่ใช่ “การปลูกถั่วงอก” แต่เป็นการ “ปลูกไม้ยืนต้น” ที่ต้องใช้เวลาในการรอคอย แต่ถ้าทำได้สำเร็จไฟใต้ที่ “โชนแสง” มานานอาจจะค่อยๆ “มอดดับ” ก็เป็นไปได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น