คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
ปัญหาความไม่สงบ หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัญหาเก่าที่หมักหมมกันมานานนับร้อยปี และเริ่มความรุนแรงระลอกใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้นับได้ 12 ปี 10 เดือนเข้าไปแล้ว
ปี 2559 เราเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ด้วยการมี “ผบ.ทบ.” คนใหม่ มี “แม่ทัพภาคที่ 4” คนใหม่ มี “เลขาธิการ ศอ.บต.” คนใหม่ และที่สำคัญมากเรามีของใหม่ถอดด้ามที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการดับไฟใต้ นั่นคือ…
“ครม.ส่วนหน้า”
เป็นหน่วยงานใหม่ที่อุดมไปด้วย “คนหน้าเก่า” และส่วนใหญ่ก็คือ “นักรบ” ผู้แพ้ศึกใน “สงครามประชาชน” ที่แผนดินปลายด้ามขวาน
ดังนั้น เมื่อฟัง “กระแส” ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะไม่ยอมรับ และไม่เชื่อว่า ครม.ส่วนหน้า ที่เป็นหน่วยงานใหม่จะทำการดับไฟใต้ได้ผล ซึ่งก็อย่าเพิ่งไปขุ่นเคือง หรือไปเข้าใจว่าคนในพื้นที่ “ไม่เชื่อน้ำยา” ของ ครม.ส่วนหน้าเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” หรือเป็น “แนวร่วม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เพราะแม้แต่คนไทยพุทธในพื้นที่ และข้าราชการในพื้นที่ก็ยังเชื่อว่า ครม.ส่วนหน้า ไม่น่าจะเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาเพื่อดับไฟใต้อย่างได้ผล
ดังนั้น ณ วันนี้ของ ครม.ส่วนหน้า ก็คือ ต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ให้คนในพื้นที่มั่นใจว่า เป็นหน่วยงานที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความเชื่อมั่น และการยอมรับจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย “เนื้องาน” และ “ผลสัมฤทธิ์” ของงาน ไม่ใช่การ “จัดฉาก” ประชุมกันไปแบบ “เงียบฉี่” แล้วมีการรับรู้ในวงแคบๆ
มีเรื่องใหม่ๆ ให้ทำก็จริง แต่เรื่องเก่าๆ ไม่มีความคืบหน้า แถมยังถูกซุกใต้พรม ทั้งที่เป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่จะต้องรีบทำการแก้ไข นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ปัญหายังคงเป็นปัญหา และไม่ได้มีการแก้ปัญหาแต่อย่างใด
อย่างเช่นกรณีการก่อวินาศกรรม ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา วันนี้ผ่านไป 2 เดือนแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ต้นสายปลายเหตุเป็นเรื่องอะไร
คนในประเทศรับรู้เพียงว่า คนร้ายเป็นคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นสมาชิกของกลุ่ม “บีอาร์เอ็น” ถูกออกหมายจับไปแล้ว 11 คน แต่ติดตามจับกุมไปได้เพียงแค่ 2 คน
มีการสรุปเพียงสั้นๆ จากหน่วยงานความมั่นคงว่า การก่อวินาศกรรมครั้งนั้นเป็นการ “รับจ้าง” โดยผู้ที่รับจ้างคือ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเคยก่อวินาศกรรมโรงแรม และศูนย์การค้า ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมถึงศูนย์การค้าในบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และในอีกหลายๆ แห่งของแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนใครเป็น “คนจ้าง” และมี “วัตถุประสงค์อะไร” ไม่มีการเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ เพราะสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องการสื่อถึงคนในประเทศคือ ระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ไม่ใช่การขยายพื้นที่ในการก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน การวางระเบิด และการวางเพลิงเป็นฝีมือของแนวร่วมบีอาร์เอ็น แต่ไม่ใช่เรื่องของบีอาร์เอ็น
อันเหมือนเป็นการ “แก้ต่าง” ให้แก่บีอาร์เอ็นนั่นเอง
ในขณะที่บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นองค์กรการก่อการร้ายกลับทำเฉย ไม่ได้ออกรับว่าเป็นคนทำ และไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ
แต่กลับใช้เงื่อนไขในการที่เจ้าหน้าที่จับกุมคนของขบวนการ ทั้งไล่ล่า ปิดล้อม และตรวจค้น กระทำการ “ฆ่าคนไทยพุทธ” รวมทั้งการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ เพื่อเป็นการ “ตอบโต้” การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
การก่อวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้ตอบบนเป็นเรื่องของ “ความต่อเนื่อง” กับการเตรียมก่อวินาศกรรมใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพียงแต่หน่วยข่าวกรองของประเทศออสเตรเลียได้ส่งข่าวมาให้หน่วยข่าวกรองของไทยเสียก่อน จึงทำให้มีการ “กวาดล้าง” กลุ่มคนต้องสงสัยในย่าน “รามคำแหง” และพื้นที่อื่นๆ
จนได้ผู้ต้องสงสัยไปกว่า 60 คน ก่อนที่จะมีการปล่อยตัว เพราะไม่มีพยานหลักฐาน และนำมาถึงการจับกุมเครือข่ายแนวร่วมใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อีก 5 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้
ซึ่งการควบคุมเครือข่ายแนวร่วมศรีสาคร ก็นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวของ “ขบวนการนักศึกษา” ทั้ง “กลุ่มเปอร์มาส” และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้ง “นักสิทธิมนุษยชน” ที่เรียงหน้ากันไปฟ้องสหประชาชาติ เพื่อให้กดดันรัฐบาลในเรื่องของสิทธิมนุษยชน
เรื่องคนตายรายวัน เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องการขยายพื้นที่ของการก่อวินาศกรรมจากภาคใต้ไปสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถ้าเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ของประเทศไทยในวันนี้แล้ว
จะมีเรื่องอะไรที่ใหญ่กว่านี้ โดยเฉพาะในมิติความมั่นคงของประเทศ
ในส่วนของ “คนร้าย” ที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการหาใช่เรื่องสำคัญไม่ เพราะด้วยความสามารถของเจ้าหน้าที่นั้นสามารถติดตามจับกุมได้แน่นอน ถ้าจับไม่ได้ก็ออกหมายจับไว้ แล้วค่อยติดตามจับตามอายุความแห่งคดีที่มีเวลาเหลือเฟือ
แต่เรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องการรับรู้คือ ในเมื่อหน่วยของรัฐออกมาปฏิเสธแทนว่า เรื่องการขยายพื้นที่ก่อการร้ายไม่เกี่ยวกับบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน แล้วใครคือ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ในการสั่งการ และที่สั่งการให้ก่อวินาศกรรมในประเทศไทยต้องการอะไร
ในขณะที่ “ผู้รู้” ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีการให้ข่าว หรือปล่อยข่าวว่า ผู้สั่งการคือ “ประเทศมหาอำนาจ”ในโลกกลมๆ ใบนี้ และสามารถที่มีการว่าจ้างให้แนวร่วมของบีอาร์เอ็นก่อเหตุร้ายในประเทศไทยได้ และเป็นเพราะมีความขัดแย้งกันของบุคคลระดับสูง
จริงหรือไม่จริง เรื่องนี้ไม่มีหน่วยข่าวใดกล้ายืนยันหรือฟันธง แต่มีข้อสักเกตอย่างหนึ่งสำหรับประเทศนี้คือ อะไรก็ตามที่ถูก “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในชาติบอกว่า “ไม่จริง” นั่นคือ “เรื่องจริง” และอะไรก็ตามที่เป็น “ข่าวลือ” นั่นก็คือ “ข่าวจริง” เพียงแต่ถูก “ห้ามเปิดเผย” เท่านั้น
คำถามจึงมีอยู่ว่า ถ้าเรื่องไม่จริง คือความจริง และถ้าข่าวลือ คือข่าวจริงที่ห้ามเปิดเผย แสดงให้เห็นว่าวันนี้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถูกพัฒนาไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่ถูกประเทศมหาอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการ “ต่อรอง” หรือ “ข่มขู่” เพื่อให้ได้มาถึงผลประโยชน์ที่ต้องการ
ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็เท่ากับว่า วันนี้ความขัดแย้ง และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะมาจากเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจเข้ามาใช้พื้นที่ของภาคใต้เป็นเงื่อนไข ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง
เพราะแค่บีอาร์เอ็นขบวนการเดียวรัฐไทยยัง “เอาไม่อยู่” และปล่อยให้สงครามประชาชนยืดเยื้อมาถึง 12 ปี ซึ่ง ณ เวลานี้ก็ยังมองไม่เห็นทางออก สุดท้ายยังต้องพึ่งพา “ครม.ส่วนหน้า” ให้มาช่วย “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”กอบกู้ความเชื่อมั่น และความศรัทธาจากประชาชน
ยิ่งถ้าเพิ่มเงื่อนปม “มหาอำนาจ” ที่มีทั้งเงิน มีทั้งคน และมีทั้งเทคโนโลยีเข้าไปอีก อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคใต้ และประเทศไทย
ดังนั้น เราก็ต้องใช้เวลาในการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า เรื่องที่ถูกตั้งข้อสงสัย และที่ถูกปฏิเสธจากผู้มีอำนาจว่า “ไม่จริง” จะกลายเป็น “เรื่องจริง” หรือไม่ เพราะในโลกปัจจุบันไม่มีใครสามารถ “ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ” อีกต่อไป