คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ในนามคณะอนุกรรมการและกรรมการคัดเลือกครูเพื่อรับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จังหวัดสงขลา”
----------------------------------------------------------------------------------------
ครูผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการพิจารณาเพื่อรับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ทั้งอาเซียนและติมอร์เลสเต ต้องฝ่าด่านอรหันต์จนกว่าจะถึงด่านสุดท้าย (ของไทย) ดังนี้
๑.คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะ ๑.๑ คุณสมบัติทั่วไป (๑) มีสัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (๒) ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๒.๑) เป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษา (๒.๒) เป็นหรือเคยเป็นครูนอกสถานศึกษาผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๓) มีประสบการณ์การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (๓.๑) ปฏิบัติงานสอนอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี นับถึงวันที่ออกประกาศนี้ (๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙) (๓.๒) ปฏิบัติงานสอนอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี และเป็นผู้บริหารสถานศึกษา หรือเป็นผู้จัดการเรียนรู้มาไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับถึงวันออกประกาศนี้
(๔) ปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาอยู่จนถึงวันรับพระราชทานรางวัล (๕) ไม่เป็นผู้ประกอบอาชีพครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก ๑.๒ คุณสมบัติเฉพาะ (๑) เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต มีความอุตสาหะในการทำภารกิจความเป็นครูมาโดยตลอด ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู จนมีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายแวดวงอาชีพกล่าวยกย่องถึงคุณงามความดี (๒) เป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรม และการทำงานที่ทุ่มเทกับการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ การค้นคว้าพัฒนาการสอนหรือการเรียนรู้ จนมีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่รับผิดชอบ
๒.ผู้มีสิทธิเสนอชื่อ ประกอบด้วย ๑) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา สถานศึกษาละ ๑ คน เสนอต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด ๒) สมาคม มูลนิธิ และองค์กร ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ องค์กรละ ๑ คน ต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด ๓) ลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่า อายุไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี และเป็นผู้ที่เคยสอนตนมาก่อน เสนอได้เพียงคนเดียวต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด
๓.ขั้นตอนการคัดเลือก ขั้นตอนที่ ๑.การคัดเลือกระดับจังหวัด โดยคณะอนุกรรมการฯ แล้วเสนอให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยประกาศรายชื่อครูที่ผ่านการพิจารณาระดับจังหวัดทั้ง ๔ คน เพื่อการทักท้วงผลการคัดเลือก ภายใน ๑๐ วันทำการ โดยการทักท้วงเป็นหนังสือไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัด เสร็จแล้วคณะกรรมการระดับจังหวัดส่งรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกพร้อมประวัติ และผลงาน เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาและบันทึกสรุปความโดดเด่นของครูผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละบุคคลตามแบบที่กำหนดไปให้คณะกรรมการคัดเลือกในส่วนกลาง
ขั้นตอนที่ ๒.คณะกรรมการคัดเลือกในส่วนกลางเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการระดับจังหวัดเสนอมาแล้วคัดเลือกเหลือ ๒๐ คน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากคณะกรรมการระดับจังหวัด และวิธีการอื่นที่เหมาะสม เช่น สัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการสอนหรือร่วมทำกิจกรรม แล้วส่งรายชื่อครูผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกลำดับที่ ๑-๓ พร้อมประวัติและผลงาน เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา และบันทึกสรุปความโดดเด่นของครูไปให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยเรียงลำดับตามผลการคัดเลือก
ขั้นตอนที่ ๓.การพิจารณาตัดสิน คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พิจารณาตัดสินให้ครู ๑ คนได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี การตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิฯ ถือเป็นที่สุด
รางวัล ๑.ครูผู้มีคะแนนสูงสุดจากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิฯ จะได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ประกอบด้วย เหรียญทอง เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน โล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัลจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ จำนวน ๑ รางวัล ๒.ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๒ และ ๓ จะได้รับ “รางวัลคุณากร” ประกอบด้วย เหรียญเงิน เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน และเกียรติบัตร ๓.ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๔-๒๐ จากการตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกในส่วนกลาง จะได้รับ “รางวัลครูยิ่งคุณ” ประกอบด้วย เหรียญทองแดง เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน และเกียรติบัตร ๔.ครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมกาคัดเลือกระดับจังหวัดทุกท่านจะได้รับ “รางวัลครูขวัญศิษย์” ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน และเกียรติบัตร
นี่คือด่านอรหันต์ของครูจากสงขลาทั้ง ๔ ท่าน ที่จะต้องฝ่าไปให้ได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม ครูทั้ง ๙ ของจังหวัดสงขลา ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสถานศึกษาบ้าง ลูกศิษย์บ้าง ล้วนเป็นปูชนียบุคคล เป็นครูดีที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลคุณูปการ รางวัลยิ่งคุณและครูขวัญศิษย์” เป็นเพียงปลายทางสูงสุดของชีวิตครูในทางสังคมระดับอาเซียน
แต่ในระดับสังคม และชุมชน เท่าที่พวกเราคณะอนุกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดได้ไปสัมผัสมาทั้ง ๙ ชุมชน เราต่างรับรู้โดยประสาทสัมผัสว่า ครูเหล่านี้คือมิ่ง คือขวัญ คือความหวังและที่พึ่งพาของสังคม ชุมชนในกระแสวัตถุนิยมครองโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ หากจะอ่อนด้อยอยู่บ้างก็เพียงว่า สังคมที่ครูเหล่านั้นทำหน้าที่อยู่มีจิตสำนึกในการรับรู้ และให้คุณค่าในการทำหน้าที่ของครูของตนเองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของครูแต่อย่างใด เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ “เรียกร้องคนอื่นต่ำ แต่เคร่งครัดต่อตนเองสูง” หรือ “เรียกร้องตนเอง แต่ผ่อนปรนคนอื่น”
สงขลาเราโชคดีที่มีครูแบบนี้อยู่บ้าง ซึ่งคงไม่ใช่แค่ ๙ คน แต่เป็นเพียง ๙ คนที่โดดเด่น และมีคนมองเห็นคุณความดีอันนี้ จึงขอขอบพระคุณสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่าที่กตัญญูต่อปูชนียบุคคลเหล่านี้ สมตามหลักธรรมทางศาสนาพุทธว่า “ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี” ครับ
มาช่วยเติมคนดีให้แก่สังคม เพื่อให้คนดีได้มีที่ยืนแทนคนไม่ดีทั้งหลายกันเถอะครับ