รองนายกฯ ประกาศ สสส.พร้อมเป็นศูนย์กลางพัฒนานักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ 7 ประเทศเตรียมวางกลไกการเงินการคลังตามแบบ สู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังคุกคามชีวิตคนภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออกปีละ 8 ล้านคน WHO-SEARO ยกไทยมีระบบสร้างเสริมสุขภาวะดีที่สุดในภูมิภาค
วันนี้ (27 มิ.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการสร้างความเข้มแข็งด้านงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ในระหว่างปี 2558-2560 โดยมี 7 ประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมประชุมว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นภัยคุกคามของโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในภาคพื้นเอเชียใต้-ตะวันออก สูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 55% ของการตายทั้งหมด หรือเกือบ 8 ล้านคนต่อปี ส่งผลกระทบต่อประเทศรายได้ต่ำและปานกลางอย่างมาก ถือเป็นความท้าทายที่ประเทศไทย โดย สสส. และ WHO-SEARO จะร่วมกันวางรากฐานการพัฒนาศักยภาพการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก โดยพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพของทั้ง 7 ประเทศ ผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการระดับประเทศ และเกิดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืนต่อไป
“ไทยถือเป็นต้นแบบของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ที่ประสบความสำเร็จในการมีกองทุน สสส.ดูแลสุขภาวะของประชาชน หลายประเทศนำไทยเป็นแบบอย่าง ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การชื่นชม สสส.เป็นต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพ มีการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาค ทำให้มีประสบการณ์ถ่ายทอดแก่เพื่อนสมาชิก ซึ่งผลงาน สสส.ตลอด 15 ปี มีมากมายไม่ใช่มีเพียงเรื่องเหล้า บุหรี่ แต่ครอบคลุมการมีสุขภาพ กาย ใจ และการสร้างสังคมที่ดี องค์การอนามัยโลกเห็นความสำเร็จของ สสส. และเห็นว่าประเทศไทยทำได้ ประเทศอื่นๆ ก็น่าจะทำได้ด้วย จึงให้ไทยเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพของประชากรในภูมิภาคแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการสร้างกลไกและรูปแบบนวัตกรรมการเงินการคลังเพื่องานสร้างเสริมสุขภาพซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประเทศต่างๆ มีงบประมาณเฉพาะนำมาใช้ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ” พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว
ดร.สุวจี กู๊ด ผู้ประสานงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก กล่าวว่า ทิศทางขององค์การอนามัยโลกทุกภูมิภาค คือ สนับสนุนทุกประเทศมีการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค เพื่อสุขภาวะอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก แต่จะต้องเพิ่มทักษะการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรในแต่ละประเทศด้วย ซึ่งระบบสุขภาวะของไทยมีความเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคนี้ มีการทำงานร่วมกันโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรที่ดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม 2. ด้านนโยบาย คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ 3. ด้านการสร้างเสริมสุขภาพคือ สสส. มีประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพยาวนานกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เป็นศูนย์กลางและเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติและขับเคลื่อนสังคม สสส.ถือเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยให้แต่ละประเทศเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
ทั้งนี้ สำหรับ 7 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พม่า อินโดนีเซีย กัมพูชา ภูฏาน มัลดีฟส์ ศรีลังกา และติมอร์เลสเต นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจากองค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้บริหารองค์การสร้างเสริมสุขภาพของสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ร่วมให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ