xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.แจงร่าง รธน.ทูตต่างประเทศ ยันไม่มีองค์กรระหว่างประเทศขอสังเกตการณ์ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นรชิต สิงหเสนี
“นรชิต” เป็นตัวแทน กรธ.ชี้แจงเนื้อหาร่าง รธน. ทูตต่างประเทศ ยันร่างออกมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และวัฒนธรรมไทย บอกยังไม่มีองค์กรระหว่างประเทศขอเข้าสังเกตการณ์ทำประชามติ

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.). ชี้แจงเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการขั้นตอนต่อไปหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ต่อคณะทูตานุทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสถานทูต 47 แห่ง เป็นระดับเอกอัครราชทูต 12 ประเทศ ประกอบด้วย เบลเยียม สาธารณรัฐเชค มอลตา มองโกเลีย เนปาล ปากีสถาน ปานามาโปรตุเกส สเปน ติมอร์เลสเต และ ยูเครน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ 6 แห่ง

ภายหลังจากการชี้แจงแล้ว นายนรชิต แถลงว่า การมาชี้แจงวันนี้เกิดจากที่ทูตประเทศต่างๆให้ความสนใจอยากฟัง ไม่ใช่เพราะ กรธ. ขอมาบรรยายสรุปเอง โดยยืนยันว่า กรธ. มีความตั้งใจร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และวัฒนธรรมของประเทศไทย จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงให้ต่างชาติฟังเป็นพิเศษ ยกเว้นแต่จะมีการร้องขอ
ทั้งนี้ คณะทูตส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเนื้อหาของบทเฉพาะกาลที่ระบุให้มีส.ว. เปลี่ยนผ่านในช่วง 5 ปี

ซึ่งทางกรธ. ได้ชี้แจงผลการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ 4 แนวทาง คือ 1.หากรัฐธรรมนูญผ่าน และคำถามพ่วงประชามติผ่าน ก็ต้องแก้ไขบทเฉพาะกาล 2.หากรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ได้เลย 3.หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องคำนึงถึงมติของประชาชนที่ต้องการให้มีส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน และ4. หากไม่ผ่านทั้งคู่ กรธ.จะสิ้นสภาพไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องดำเนินการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายนรชิต ยังได้ชี้แจงถึงกระบวนการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน โดยจะเริ่มมีการอบรมบุคลากรในหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก่อนลงพื้นที่ชี้แจงให้ความรู้ประชาชนในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้

สำหรับเอกสารสรุปเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากบทสรุปเนื้อหา และสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเอกสารแผ่นพับที่สรุปเนื้อหาที่เป็นสิ่งใหม่ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประชาชนได้ศึกษาด้วย ซึ่งล่าสุด กรธ.ได้ทำเสร็จแล้ว และจะส่งให้กกต. พิมพ์เผยแพร่ต่อไป

ส่วนประเด็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการแสดงความเห็นก่อนลงประชามติ รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการดีเบตเป็นหน้าที่ของกกต. ที่จะเป็นผู้กำหนด ไม่เกี่ยวกับ กรธ. ซึ่งคณะทูตเองก็ไม่ได้มีความกังวลกับผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ แต่ยังติดตามสถานการณ์ตามปกติ

ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดขอมาร่วมสังเกตการณ์การลงประชามติ แต่หากจะมีหน่วงงานใดสนใจมาร่วมสังเกตการณ์ ก็ต้องไปขอจาก กกต. เพราะ กรธ.ไม่มีหน้าที่อีกเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น