xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้เอกสารกลุ่ม ปชต.ใหม่ไม่ใช่ รธน.ปลอม แต่เนื้อหาหมิ่นบุคคล-องค์กรรัฐ ใครเสียหายให้ดำเนินการเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร
“สมชัย” เผยยอดลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตทะลุ 3 แสน เพิ่มจากปี 2550 ถึง 34% ฟุ้งสะท้อนความสำเร็จของ กกต. เปิดทางองค์กรต่างประเทศสังเกตการณ์ออกเสียงประชามติที่หน่วยลงคะแนนได้ ส่วนองค์กรในประเทศหมดสิทธิ หวั่นก่อความวุ่นวาย ชี้เอกสารกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ไม่ใช่ร่าง รธน.ปลอม ห่วงเนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคล-องค์กรรัฐ ให้ผู้เสียหายดำเนินการเอง กกต.ไม่เกี่ยว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงถึงผลสรุปตัวเลขการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดจนถึงวันสุดท้ายของการลงทะเบียนในวันที่ 7 ก.ค. 2559 ว่ามียอดผู้ไปลงทะเบียน 325,229 คน ยื่นผ่านสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น 167,252 คน และยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต 157,977 คน ยังไม่รวมผู้ลงทะเบียนผ่านทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้สามช่องทาง คือ เข้าไปที่เว็บไซต์ www.khonthai.com ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.เป็นต้นไป หรือตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันดาวเหนือ ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. หรือจากการตรวจสอบจากประกาศบัญชีรายชื่อหน้าที่ออกเสียงตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.

สำหรับยอดผู้ลงทะเบียนในครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 242,462 คน เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 82,767 คน หรือคิดเป็น 34% ถือเป็นเครื่องชี้วัดที่เป็นรูปธรรมของความสำเร็จในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวที่จะลงคะแนนออกเสียงมากส่วนที่ต้องดูคือวันลงประชามติว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิจำนวนเท่าไหร่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยในวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามตินั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อที่ปิดประกาศหน้าหน่วยออกเสียง และทางแอปพลิเคชันดาวเหนือ พร้อมกับเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนใช้เป็นหลักฐานแสดงตนในการไปใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติ

นายสมชัยยังกล่าวถึงการขอเข้าสังเกตการณ์ออกเสียงประชามติขององค์กรต่างประเทศว่า กกต.ใช้หลักการว่าไม่มีหนังสือเชิญแต่ถ้าองค์กรใดประสงค์สังเกตการณ์ก็ยินดีที่จะจัดทำคู่มือแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้ รวมถึงการจัดหาล่ามท้องถิ่นและการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามสมควร โดยมีประเทศที่ขอเข้ามาแล้วสามประเทศ คือ ติมอร์เลสเต ภูฏาน ประเทศละ 3 คน และเนปาล ซึ่งยังไม่ได้แจ้งจำนวนคนที่จะเข้าสังเกตการณ์ อีกทั้งยังมีองค์กรที่แจ้งความจำนงเข้ามาสังเกตการณ์อีกสององค์กร คือ เครือข่ายเลือกตั้งเสรี 10 คน และมูลนิธิเอเชีย จำนวน 12 คน รวมมีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเบื้องต้น 28 คน โดยองค์กรหรือประเทศที่สนใจสามารถแจ้งมายัง กกต.ได้ก่อนการออกเสียงประชามติสองสัปดาห์ ส่วนองค์กรภายในประเทศไม่สามารถสังเกตการณ์ที่หน่วยลงคะแนนได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่สังเกตการณ์นอกคูหาได้

“สาเหตุที่อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศสังเกตการณ์ได้เพราะไม่มีส่วนได้เสียที่จะทำให้ผลการออกเสียงแตกต่างไปจากเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไป แตกต่างจากองค์กรในประเทศไทยที่มีส่วนได้เสีย และอาจจะมีคนเป็นหมื่นเข้าไปวุ่นวายจนเกิดปัญหา แต่การที่ กกต.ให้องค์กรต่างประเทศสังเกตการณ์เพราะเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนกรณีที่หน่วยราชการต้องการจัดยานพาหนะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิต้องเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็น เช่น เกิดภัยพิบัติในพื้นที่นั้น หรือเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ทั้งสองกรณีนี้หน่วยราชการต้องแจ้งและขออนุญาตไปยัง กกต.เขตที่ดูแลการออกเสียงประชามติก่อนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งเอกชนจะไม่สามารถจัดยานพาหนะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิได้ดำเนินการได้เฉพาะส่วนราชการเท่านั้น

นายสมชัยยังกล่าวกรณีกลุ่มประชาธิไตยใหม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการให้ข้อมูลความเห็นแย้งสรุปสาระสำคัญเล่มที่ 2 ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญปลอม โดยตนได้ตรวจสอบเบื้องต้นแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของ กกต. คิดว่าไม่มีถ้อยคำหยาบคาย ไม่ปลุกระดม แต่ในเรื่องเกี่ยวกับว่าเป็นเท็จหรือไม่นั้น ต้องให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชี้ประเด็นมาว่ามีส่วนไหนที่มีข้อความเป็นเท็จ หากมีการแจ้งมายัง กกต.ก็จะดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวตนมีความวิตกกังวลว่าอาจจะมีข้อความที่หมิ่นประมาทบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้เสียหายต้องดำเนินคดีเองไม่เกี่ยวกับ กกต.

นายสมชัยยังกล่าวถึงการเตรียมชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 11 ก.ค. 59 จากกรณีที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ และเครือข่ายนักวิชาการ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ 2559 และขอให้ระงับรายการ 7 สิงหาฯ ประชามติร่วมใจว่า ประธาน กกต.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจงแล้ว โดย กกต.ไม่จำเป็นต้องร่วมชี้แจงในวันดังกล่าวเพราะเป็นการนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น