xs
xsm
sm
md
lg

เวทีตรวจสอบ “แลนด์บริดจ์ใต้” มันหยด! กมส.จี้เปิดข้อมูลห้ามกั๊ก ด้าน ปชช.รุมยำเละหน่วยราชการ-บ.ที่ปรึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีตรวจสอบ “แลนด์บริดจ์ใต้สงขลา-สตูล” มันหยด! กมส.จี้เปิดข้อมูลห้ามกั๊ก เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่โครงการได้รับรู้ และเข้าใจมากที่สุด ด้าน ปชช.นำข้อมูล-หลักฐานเพียบรุมยำเละ ทั้งหน่วยราชการและบริษัทที่ปรึกษา

วันนี้ (7 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการจัดวาระการประชุมเรื่องร้องเรียนของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร ณ ห้องประชุมโต๊ะพญาวัง ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 200 คน

ซึ่งภาคเช้าได้นำประเด็นของรถไฟรางคู่ เชื่อมเส้นทางสงขลา-สตูล โดยชาวบ้านพบว่า ไม่มีใครทราบข้อมูลที่แท้จริงทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจี้ให้เร่งตรวจสอบ พ.ร.บ.ด้านสุขภาพ ต้องประเมินด้านสุขภาพ และทุกอย่าง รวมทั้งกฎหมายที่จะเกิดขึ้นต่อไป ควรเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน และที่ผ่านมาเชื่อว่า ชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง เชื่ออนาคตถ้าหากรัฐจะทำโครงการใหญ่ๆ ควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ เพื่อจะไม่ได้เป็นการทอดทิ้งประชาชน
 

 
รองประธานเครือข่ายปากบารา ในนามตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่อยู่ในโครงการที่จะสร้างในพื้นที่ระหว่าง จ.สตูล กับ จ.สงขลา เป็นการท้วงติงรัฐบาลในอดีต ซึ่งพบว่าทุกพื้นที่ที่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจัดทำขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่ใช้พื้นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าของพื้นที่ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงทุกส่วน ถึงผลกระทบของโครงการที่ทางรัฐได้จัดทำขึ้น

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางรัฐได้จัดทำโครงการ และไม่ได้ชี้แจ้งถึงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างละเอียด ทำให้เกิดปัญหา และผลกระทบตามมาในที่สุด ซึ่ง ณ ปัจจุบันโครงการที่ทางรัฐได้จัดทำ ไม่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลที่ตามมาทำให้เกิดความสับสนของประชาชนถึงโครงการว่า คุ้มทุนที่จะสร้างหรือไม่ พวกข้าราชารการทุกคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรละเลยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
 

 
ขณะที่ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ กล่าวว่า เมื่อสองเดือนก่อนประชาชนชาว จ.สงขลา และ จ.สตูล ได้ขึ้นไปกรุงเทพฯ เนื่องจากมีการอนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ แต่ไม่มีประชาชนคนในพื้นที่ทราบถึงรายละเอียดเลย ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่มีสิทธิที่จะมาทวง เพราะเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ

ด้าน นางเจ๊ะนะ วัฒนพันธ์ รองประธานป่าชายเลนชุมชนบ้านท่ามาลัย กล่าวว่า เรารักป่า และรักทรัพยากรทุกอย่างในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นประชาชนในพื้นที่ จึงอยากทราบถึงรายละเอียดข้อเท็จจริง ถึงผลกระทบของโครงการต่างๆ ที่จะมาสร้างในแถบบ้านเรา เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่มีใครทราบเลย แล้วในวันนี้กลับมีการมาอนุมัติโครงการได้อย่างไร

ดังนั้น เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะรับฟังความคิดเห็น และเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้รับทราบถึงความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงการเสนอข้อมูลที่เท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบถึงรายละเอียดของโครงการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่ อย่างไร ในอนาคต
 

 
จากนั้นในช่วงภาคบ่าย ก็ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา นายวินัย วงศ์สุวรรณ ตัวแทนกรมเจ้าท่าสตูล กล่าวว่า ทางกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนของโครงการ ซึ่งโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทางเราได้ศึกษาจนเข้าใจ แต่ในส่วนของหลักวิศวกรรม ควรให้เป็นหน้าที่ของบริษัท ที่จะมาศึกษาโครงการในครั้งนี้ได้ชี้แจงโครงการเอง และโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ท่าเรือปากบารามีพัฒนามาเรื่อยๆ แต่ยังไปไม่ถึงไหน พอเข้าปี พ.ศ. 2538 มีการสัมมนาของกระทรวงคมนานคม พบว่าพี่น้องชาวใต้ ในเรื่องทิศทางคมนาคมของภาคใต้ ต่อมาปี พ.ศ. 2539-2540 ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบก่อสร้างท่าเรือฝั่งอันดามัน และประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ที่จะให้มีการศึกษาในครั้งนี้ จนกระทั้งปี พ.ศ.2548-2549 กรมเจ้าท่าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ รวมไปถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และในปี พ.ศ. 2549-2553 คณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
 

 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554-2556 ได้มีการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างตามมาตรฐานของ EIA แต่ถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน และไม่เห็นด้วย ทางรัฐบาลเลยสั่งให้หยุดโครงการไปก่อน และด้วยความไม่ต่อเนื่องของโครงการ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความไม่สบายใจตลอดมา แต่ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2555 ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการทบทวนทั้งโครงการ EIA และ EHIA โครงการใช้งบประมาน 115 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 19 พ.ย.2560 ใช้เวลาราว 600 วัน แต่กลับมีประชาชนกังวลเป็นจำนวนมาก ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป

ชาวบ้านตัวแทนของ จ.สตูล รายหนึ่ง กล่าวว่า โครงการศึกษาทบทวน และสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าโครงการ 115 ล้านบาท ในตัวเอกสารเขียนว่า โครงการไม่คุ้มแก่การจัดทำขึ้น เพราะท่าเรือน้ำลึกปากบารามีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ประชาชน และการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวในปัจจุบัน จ.สตูล เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่สถานที่ท่องเที่ยวจุดดำน้ำไม่ได้มีแค่เกาะหลีเป๊ะ เพียงเกาะเดียวเท่านั้น แต่ยังมีที่ท่องเที่ยวในส่วนอื่นๆ อีกเยอะ แต่ตอนนี้ต้องการให้ทางรัฐบาลประกาศว่า จ.สตูล เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว แต่ทางรัฐบาลยอมไม่ประกาศ เพราะเป็นการสวนทางกับการทำโครงการท่าเรือน้ำลึก ดังกล่าว

โดยในเรื่องนี้ ทางตัวแทนของกรมอุทยานฯ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติรวมถึงพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ รวมทั้งหมด จำนวน 9 แห่ง บริเวณแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ถูกนำมารวมกัน และถูกผลักดันเพื่อนำมาเสนอให้ขึ้นเป็นมรดกโลกต่อไป
 

 
ซึ่งบรรยากาศภายในห้องประชุม ทาง กมส.ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายพูดถึงข้อมูลที่มีจากหลายๆ ด้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่โครงการได้รับรู้ และเข้าใจมากที่สุด โดยฝั่งประชาชนได้นำข้อมูล พร้อมงัดหลักฐานที่เชื่อว่าไม่โปร่งใส นำมาซัดใส่ทั้งหน่วยราชการ และบริษัทที่ปรึกษา เพื่อจี้หาคำตอบให้คลายความสงสัย ในขณะที่ฝั่งหน่วยงานรัฐยังคงให้คำตอบที่ชัดเจนแถบไม่ได้

ด้าน นายสรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เสนอว่า จากการที่หน่วยงานของรัฐบาลมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ออกมาแล้วนั้น จึงอยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และเป็นข้อเท็จจริง โดยอาจจะมีการทำเว็บไซต์ที่สามารถรองรับข้อมูลข่าวสารของโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และสามารถเข้าใจได้อย่างสะดวก ถูกต้อง เข้าใจตรงกัน
 

 
ส่วนผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของท่าเรือสงขลา 1 ณ ปัจจุบัน อาจจะมีกรอบจำกัดอยู่บ้างในบางเรื่อง เพราะไม่สามารถขยายใหญ่ไปกว่านี้ได้อีก นี่คือส่วนของท่าเรือสงขลา 1 เพราะฉะนั้นในส่วนของการศึกษาท่าเรือสงขลา 2 ก็จะต้องมีกระบวนการที่มาที่ไป และในส่วนหนึ่งของการพัฒนา ซึ่งยังติดอยู่ที่ความคิดเห็นของประชาชนทุกคน ก็จะต้องเอาทุกความคิดเห็นไปถกเถียงกันบนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะได้จัดขึ้นต่อไป และจะได้หาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน

สุดท้ายของวาระการประชุมในครั้งนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้สรุปว่า การตรวจสอบเรื่องโครงการยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก รถไฟรางคู่ และแลนบริดจ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์ ในการตัดสินใจต่อโครงการในวันนี้ จึงถือว่าเป็นเบื้องต้นให้ทุกฝ่ายได้มาพบกัน และฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องจะเอาข้อมูลเข้าที่สรุปไปตรวจสอบ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยใจความสำคัญคงต้องฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น