xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนพัฒนาภาคใต้ระยะ 10 ปี ท่องเที่ยวโต-ชาวบ้านยังต้าน ลุ้น “ปากบารา-แลนด์บริดจ์” เกิด-ไม่เกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.เผยผลศึกษา SEA พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ไม่เอาโครงการใหญ่-อุตสาหกรรมหนัก พบ 10 ปีแรก (60-69) ท่องเที่ยวยังเติบโตสูง เป้าหมายรายได้เพิ่ม 80% อีก 20% มาจากเกษตรแปรรูป ประมง ขณะที่มีความเสี่ยงสูงหากราคาตกต่ำ แนะรัฐเร่งลงทุนพัฒนา “สนามบิน ถนน รถไฟ” รองรับ ส่วนอีก 10 ปีต่อไปท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงเหลือ 50% ดังนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมใหม่ๆ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
 
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จะสรุปผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในเดือน ก.ย. 2559 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ผลการศึกษาจะสะท้อนให้เห็นภาพ กรอบแนวทาง และวิธีการในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นคู่มือประกอบในการพัฒนาโครงการต่างๆ ทั้งท่าเรือ โรงไฟฟ้า แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะทราบว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เกิดเป็นรูปธรรมและประเทศได้ประโยชน์ในภาพรวม
 
“ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการของรัฐอาจขาดการบูรณาการร่วมกัน ไม่มีความเชื่อมโยง ขาดการสื่อสารการทำงานร่วมกัน และส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ การลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลความต้องการจากประชาชน พร้อมกับบอกถึงประโยชน์และผลกระทบ ที่จะได้รับจากโครงการของรัฐ และทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้อีกด้วย”
 
***ผลศึกษาชี้ ไม่เอาอุตฯ หนัก-10 ปีแรกเน้นเพิ่มรายได้ท่องเที่ยว
 
นายนครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การศึกษานี้จะเน้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปว่าจะพัฒนาอย่างไร ที่ผ่านมามีการต่อต้านโครงการของรัฐบาลมาก ซึ่งขอบเขตดำเนินการจะศึกษาด้านเศรษฐกิจ (ความคุ้มค่า), สังคม (การยอมรับของชาวบ้าน), สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี และนำเสนอโครงการทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
 
โดยผลจากการลงพื้นที่ พบว่าจังหวัดสตูลต้องการพัฒนาบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งการท่องเที่ยว ประมง เกษตรแปรรูป ไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยอุตสาหกรรมที่รับได้ เช่น ปลาป่น ยาง และอยากได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่พัฒนา ไม่ใช่ให้ประโยชน์แก่นายทุนฝ่ายเดียว 
 
จังหวัดสงขลา เป็นเมืองการค้า จึงไม่เหมือน จ.สตูล ที่มีการคัดค้านท่าเรือปากบาราแต่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะคัดค้านน้อยกว่า เนื่องจากสงขลาต้องการท่าเรือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัด และมองว่าถ้ามีโครงการเข้ามาจะมีผลกระทบต่อประชาชน ต้องมีการเยียวยา เช่น การเวนคืน ต้องหาพื้นที่รองรับอย่างไร และไม่รับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง 
 
จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องการให้มีการท่องเที่ยว และปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 44 ให้ใช้ประโยชน์มากกว่านี้ มีการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน มีหมู่บ้านคีรีวงเป็นต้นแบบที่ควรขยายไปที่หมู่บ้านอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกัน พัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้มข้น และไม่ต้องการอุตสาหกรรม
 
จังหวัดชุมพร ต้องการระบบคมนาคม โดยเฉพาะการเชื่อมท่าเรือชุมพร กับท่าเรือระนอง ควรปรับปรุงถนนให้มีสภาพดีขึ้น และมองไปถึงจุดคลองคอดกระ เชื่อมเลย โดยไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก
 
จังหวัดระนอง ทำยางพารามาก จึงต้องการเป็นศูนย์กลางการเกษตร การค้าที่สามารถเชื่อมต่อไปพม่า ศรีลังกา อินเดีย และต้องการใช้ประโยชน์จากท่าเรือระนองให้มากขึ้น

ส่วนจังหวัดกระบี่ เน้นเรื่องท่องเที่ยว ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก
 
โดยภาพรวมทุกจังหวัดไม่ต้องการอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงสรุปนำเสนอทางเลือกการพัฒนาศักยภาพพื้นที่สูงสุด สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้เม็ดเงินเกิดขึ้นจากท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 80% จากเดิมที่มีท่องเที่ยว 30% เกษตร 60% อื่นๆ 10% ต้องปรับใหม่ เพราะด้านการเกษตรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไม่ได้ ประมงมีปัญหา IUU  
 
แบ่งระยะที่ 1 (10 ปีแรก) ปี 2560-2569 เป้าหมายรายได้จากสาขาการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 80% ที่เหลือ 20% จะมาจากเศรษฐกิจด้านอื่น ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากการเกษตรแปรรูป ผลผลิตทางการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระยะที่ 2 (10 ปีต่อมา) ระหว่างปี 2570-2579 ประเมินว่ารายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 50% ดังนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อการท่องเที่ยวเติบโตมาก ขณะที่กระบี่ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดขาย มีความหนาแน่นทั้งโรงแรม สนามบิน รวมถึงประเด็นปริมาณขยะล้นเมือง ขณะที่การกำจัด กลบ ฝัง เผา มีความสามารถดำเนินการได้น้อยกว่าปริมาณขยะที่มี ดังนั้นต้องหาทางออก เช่น ต้องทำการคัดแยกขยะจริงจังมากขึ้น หรือหากระบวนการกำจัดขยะให้ได้จำนวนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตกค้างริมทาง ป่า แหล่งท่องเที่ยว  
 
***เร่งแผนลงทุนระบบคมนาคม “สนามบิน ถนน รถไฟ” รองรับ
 
สำหรับโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งภาคใต้ 2558-2565 ที่รัฐบาลควรจะลงทุน1. ขนส่งทางบก โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง (ภูเก็ต) ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ระยะทาง 83 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.39 หมื่นล้านบาท 
 
2. ขนส่งทางน้ำ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ (ครุยส์) ทั้งสองฝั่ง คือที่ จ.กระบี่ และเกาะสมุย วงเงินแห่งละ 2-3 พันล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 อ.จะนะ วงเงิน 1.39 หมื่นล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วงเงิน 1.77 หมื่นล้านบาท
 
3. ขนส่งทางอากาศ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จปีนี้ ต่อไปก็ต้องขยายศักยภาพที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ 
           
4. ขนส่งทางราง เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ครม.อนุมัติแล้ววงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, ช่วงสงขลา-สตูล และช่วงสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น
 
“สำหรับโครงการท่าเรือปากบารา ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ยังต่อต้านนั้นจะต้องนำผลการศึกษานี้ไปประกอบการพิจารณาและดำเนินโครงการต่อไป ในขณะที่ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ออกแบบให้เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น และรองรับการขนส่งสินค้าที่เป็นผลผลิตทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่สนับสนุนให้ปากบาราเป็นตลาดกลางยางพารา ศูนย์การส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา อาหารทะเลของไทยไปตะวันตก ทั้งอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ช่วยส่งเสริมอาชีพ เกิดการสร้างงาน

ลุ้น...“สุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจแจ้งเกิด ปากบารา/แลนด์บริดจ์” หรือไม่
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
กำลังโหลดความคิดเห็น