xs
xsm
sm
md
lg

เวทีระดมความเห็นก่อสร้าง ทลฉ.เฟส 3 ระอุมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กทท. เปิดเวทีระดมความเห็นทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ที่ จ.ชลบุรี โดยมีทั้งผู้เห็นด้วย และคัดค้าน ขณะที่ก่อนการประชุมมีมือดีแจกใบปลิวค้านทั่วเมืองพัทยา ด้าน ผช.อ.ทลฉ. ชี้เสียงคัดค้านเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอแนะที่ ทลฉ.จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้สิ่งที่ประชาชนเป็นกังวลเกิดขึ้น เผยโครงการขั้น 3 จะเกิดหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือหากเกิดแล้วต้องเดินไปได้พร้อมกัน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (23 ส.ค.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ณ ห้องชลาลัย โรงแรมชลจันทร์ พัทยารีสอร์ท จังหวัดชลบุรี โดยมี เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และขอบเขตการดำเนินงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ โดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานกว่า 200 คน

การสัมมนาในครั้งนี้ ได้นำเสนอขอบเขตและแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาโครงการที่ตั้งอยู่ติดกับท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 ที่ได้ประกาศเป็นเขตท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปี 2539 ซึ่งทิศเหนือติดกับเขาบ่อยา ทิศตะวันออก ติดกับถนนสุขุมวิท (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3) และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ทิศตะวันตก ติดกับอ่าวไทย และทิศใต้ ติดกับคลองบางละมุง มีความยาวท่าเทียบเรือรวมทั้งสิ้น 4,920 เมตร ความลึกแอ่งจอดเรือ 18.5 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง และมีท่าเทียบเรือประเภทตู้คอนเทนเนอร์ขนาดความยาวหน้าท่า 750 เมตร จำนวน 2 ท่า และ 1,000 เมตร จำนวน 2 ท่า สามารถรองสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ได้รวม 7 ล้านตู้ต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่งยาว 500 เมตร สามารถรองรองรับตู้สินค้าได้ 1.0 ล้านตู้ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ยาว 920 เมตร รองรับการขนส่งรถยนต์ได้ 1.0 ล้านคันต่อปี รวมทั้งสิ้น 6 ท่า และมีสถานีขนถ่ายตู้สินค้าทางรางที่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าทางรางได้ 1.4 ล้านตู้ต่อปี และยังได้นำเสนอเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบที่ตั้งโครงการ ครอบคลุมเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา เทศบาลตำบลบางละมุง และเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยอ้างอิงถึงแนวทางการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 29 ธันวาคม 2552 และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการประเภทท่าเทียบเรือ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ.2541

เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่อยู่รอบข้างท่าเรือแหลมฉบังในโครงการก่อสร้างท่าเรือเฟสที่ 3 ทั้งข้อเสนอแนะ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากนี้จะได้นำข้อเสนอแนะกลับไปปรับปรุงทิศทางในการพัฒนาท่าเรือในอนาคต สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นประตูในการขนส่งสินค้าที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ของประเทศเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 88%

ดังนั้น หากการนำเข้าและส่งออกของประเทศติดขัดก็อาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเสียศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศไป ส่วนการลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อประชาชน และชุมชนนั้นจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเสียก่อน เช่นที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเรื่องของการเวนคืนที่ดินบนบกซึ่งสร้างความกังวลต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งความเป็นจริงแล้วการดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่มีเรื่องของการเวนคืนที่ดินบนบกอย่างแน่นอน

โดยจะการดำเนินการก่อสร้างเฉพาะในส่วนพื้นที่ทางน้ำของการท่าเรือเท่านั้น ขณะที่ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดที่อาจเกิดจากการถมทะเลนั้นเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอนหากมีการพัฒนาท่าเรือในขั้นที่ 3 ไปแล้ว แต่การท่าเองก็คงจะต้องมีการหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม คงอยากให้มองในเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้ก็จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้ารวมทั้งสิ้นได้ไม่ต่ำกว่า 18 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการขนส่งทางทะเล และกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบ Multimodal Transport (MT) และศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น แต่หากโครงการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ก็คงจะทำให้การแข่งขันทางด้านการขนส่งทางทะเลมีประสิทธิภาพลดลง นักลงทุนอาจจะมีการเปลี่ยนฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ แทน เนื่องจากต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเจริญเติบโตในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นประเทศไทยมีการเจริญเติบโตที่น้อยที่สุดถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า ที่มีจีดีพีโตไปกว่า 7-8% ขณะที่ประเทศไทยจะมีจีดีพีโตเพียง 2% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนการประชุมได้มีมือดีนำใบปลิวโจมตีการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ออกแจกจ่ายทั่วเมืองพัทยา โดยได้มีการสอดแทรกไว้ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งจนทำให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ ขณะที่บรรยากาศภายในห้องประชุมได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา เข้ารับฟัง และเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องผลกระทบทางการท่องเที่ยว และสภาพแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเมืองพัทยา หากเกิดการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ในระยะที่ 3

เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้ให้ความเห็นว่า การจัดประชุมสัมมนาของท่าเรือแหลมฉบังในวันนี้ คือ การรับฟังทุกความคิดเห็น ขณะที่เนื้อหาที่ระบุในใบปลิวถือเป็นอีกหนึ่งในข้อเสนอแนะ และคำชี้แนะที่ท่าเรือฯ ต้องพึงระวังในเรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงถือเป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งที่กลับมายังท่าเรือแหลมฉบังว่า จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้อย่างไร

“ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกสิ่งอย่างที่มีอยู่ในใบปลิวได้รับการแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงอนาคต ซึ่งวิธีแก้มันคงไม่ใช่เฉพาะ ทลฉ.เพียงแห่งเดียว แต่ก็คงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่เขียนใบปลิวเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป เพราะทุกวันนี้เราจะได้ยินแต่คำว่าปัญหาๆ ซึ่งหาคนแก้ได้ยาก ส่วนหนึ่งคือเราต้องร่วมมือ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะ ทลฉ.ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก้ไขในทุกเรื่องเช่นเดียวกัน”

เรือโทยุทธนา ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากทำความเข้าใจต่อชาวบ้านเพิ่มเติมคือ ความต้องการในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นเรื่องของอนาคต และหากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 จะเกิดก็ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคน

“แต่หากโครงการนี้จะไม่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของโครงการก็ต้องดูทิศทางการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักอยู่แล้ว และทุกชีวิตก็ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ไม่สามารถที่จะเดินไปข้างหน้าโดยปล่อยให้ใครอยู่ข้างหลัง แต่จะต้องเดินไปพร้อมๆ กันทั้งความเจริญ สุขภาพ ชีวิต และร่างกายของทุกคนที่อยู่โดยรอบท่าเรือฯ” เรือโทยุทธนา กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น