ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีเสวนา “กฟผ.เปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกับคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ทำได้หรือมั่วนิ่ม” ซัด! กฟผ.มั่วนิ่มเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ขัดหลักเกณฑ์คำสั่งของ คสช. แนะชาวบ้านฟ้องศาลปกครองระงับยื่นซอง เผยทำอีเอชไอเอแค่พิธีกรรม
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้อง 505 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จัดเสวนา “กฟผ.เปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกับคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ทำได้หรือมั่วนิ่ม” โดยมีวิทยากร นายธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม นายดิเรก เหมนคร เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดำเนินรายการโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กล่าวว่า ในวันที่ 19 และ 26 ตุลาคม 2559 จะมีการเปิดรับซองประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือขนถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คนในพื้นที่มีความเห็น และคำถามสำคัญคือ การเปิดประมูลโดยที่ EHIA ยังไม่ผ่าน และโครงการยังไม่อนุมัติ กฟผ.ใช้อำนาจตามกฎหมายใด หรือแท้จริงแค่มั่วนิ่ม
กฟผ.เผยแพร่กระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือ ว่าประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1.กฟผ.จัดทำเอกสารประกวดราคา 2.ผู้รับเหมาซื้อซองประกวดราคาและจัดทำข้อเสนอ 3.กฟผ.พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้สามารถจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รวดเร็ว จึงขอทำการประมูลไปพลางๆ ก่อนโดยไม่มีการลงนามจัดซื้อ จัดจ้าง จะลงนามเมื่อ EHIA ผ่าน และรัฐบาลอนุมัติแล้วเท่านั้น จะได้ลัดขั้นตอนก่อสร้างตอกเสาเข็มได้เลยในทันทีที่อนุมัติ
หากฟังดูเผินๆ เป็นหลักการก็ดูดี แต่ในความเป็นจริง การจะเปิดประมูลไปก่อนได้นั้นแบบแปลนต้องนิ่ง ชุมชนต้องเห็นพ้อง แต่เมื่อลัดขั้นตอนทำคู่ขนาน ปรากฏว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก็ยังต้องปรับอีกเป็นหลายร้อยข้อ แบบแปลนยังต้องปรับ เครื่องบำบัดมลพิษก็ยังอาจต้องใส่ระบบเพิ่ม ความขัดแย้งในชุมชนก็ยังสูง ความรู้สึกที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ยังมาก การลัดขั้นตอนซึ่งเป็นการมองในมุมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพียงข้างเดียว จึงเป็นการตอกลิ่มให้ยิ่งแตกแยกกันมากขึ้น
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ได้มีการเปิดรับซอง และได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นการประกาศผู้ชนะการประมูล ท่ามกลางความรู้สึกว่า คำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 นั้น เป็นกฎหมายที่เอื้อให้ กฟผ.ทำการประมูลก่อนการอนุมัติโครงการได้นั้นเป็นการทำงานหลักนิติรัฐ และธรรมาภิบาลของกลไกรัฐ ซึ่งโดยปกติรัฐวิสาหกิจ หรือส่วนราชการจะไม่สามารถทำอะไรที่ผิดขั้นตอนเช่นนี้ได้
ด้าน นายธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. ฉบับที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ส่งผลให้กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเทียบเรือ กลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่มีความหมาย ในแง่การเป็นหลักประกันของประชาชน จากการศึกษาด้านกฎหมายพบว่า โครงการนี้ไม่เข้าเกณฑ์คำสั่ง คสช.ดังกล่าว
นายธีรวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีการแยกออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการท่าเรือขนถ่านหิน และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ข้อเท็จจริงคือ โครงการเดียวกัน ดังนั้น กระบวนการควรต้องย้อนกลับไปดำเนินการในขั้นตอนปกติ ก่อนจะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งกระบวนการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังดำเนินการ ได้ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า เมื่อยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. จึงไม่สามารถอ้างอิงคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559
การประมูลโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการพบเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องส่งเสียงโดยใช้สิทธิทางกฎหมาย ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการประมูล หรือประกวดราคา หรือให้ระงับการดำเนินกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ถ้ารัฐปล่อยให้สิ่งนี้ดำเนินไปก็ไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยยังมีความเป็นนิติรัฐอยู่หรือไม่ เพราะมีหลายกรณีที่ชาวบ้านถูกกระทำ
น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้แทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือขนถ่านหินเทพา ตามหลัก พ.ร.บ.2535 โครงการของรัฐต้องทำรายงาน EHIA ก่อนเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะต้องทำรายงานให้เสร็จก่อน โดยมีหลายขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย แต่คำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ที่ได้มีการระบุตามคำสั่งซึ่งมีพิจารณาในการจัดประมูลของ กฟผ.ใช้คำสั่งนี้ไม่ได้ คำชี้แจงของ กฟผ.ก็มีการย้ำว่าไม่เข้าตามคำสั่ง แต่สิ่งที่ กฟผ.ทำ ณ ตอนนี้คือ การประกวดราคาก่อนการอนุมัติโครงการ เดิมมีการประกาศการประกวดราคาโครงการ ในวันที่ 19 และ 26 ตุลาคม ก่อนจะเลื่อนไปเป็นเดือนธันวาคม
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า หากชาวบ้านเห็นว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นเพียง 1 วัน ที่ไม่อาจเกิดการรับฟังความเห็นอย่างครบถ้วน ชาวบ้านสามารถทำหนังสือถึง กฟผ.เพื่อให้ชี้แจง แต่ถ้าไม่ได้รับคำตอบก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนกระบวนการที่ไม่ถูกต้องได้ อีกทั้ง คชก.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน และนักวิชาการได้นำเสนอมูลในประเด็นที่มีความคิดเห็นแย้งเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้การพิจารณา EHIA กลายเป็นเพียงพิธีกรรม หรือเป็นเพียงขั้นตอนที่จะให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น
รวมไปถึงการที่ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพิ่มเติมเนื้อหาในพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในวรรค 4 ของมาตรา 47 ที่ดูเหมือนเป็นการเปิดช่องให้ดำเนินโครงการ โดยไม่ต้องผ่านการทำ EIA แต่โครงการนี้ ยังมีอีกหลายขั้นตอนของกฎหมาย โครงการนี้จึงยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ของคำสั่งดังกล่าว ข้อเสนอทางกฎหมาย คือ กฟผ.ควรจะยกเลิกการประกวดราคา และปฏิบัติตามขั้นตอนการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรจะดำเนินการและปฏิบัติตามหลักธรรมาธิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ของรัฐ
ด้าน นายดิเรก เหมนคร เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นถึงการผลักดันโครงการหลายๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย การผลักดันโครงการนี้จึงไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย ตั้งแต่การเริ่มดำเนินโครงการ การดำเนินโครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นการติดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่เริ่มต้นทำ ค.1 และ ค.3 เป็นการดำเนินงานเหมือนทำในค่ายทหาร เพราะมีทั้งทหาร และตำรวจล้อมรอบสถานที่ในการจัดรับฟังความคิดเห็น ที่ผ่านมา เราถูกกระทำ และเราเป็นเหยื่อของกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งทราบว่า ชาวบ้านเทพา คงจะไปยื่นหนังสือต่อ กฟผ.เพื่อขอคำชี้แจงว่าทำไมถึงกล้าทำโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งถือเป็นการประมูลที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 อีกด้วย
นายดิเรก กล่าวอีกว่า คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2559 ว่าด้วย “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ใจความสำคัญของคำสั่งดังกล่าวสามารถเปิดช่องทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการลัดขั้นตอนจัดหาผู้รับเหมา ก่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นได้
แต่ในคำสั่งระบุชัดว่า ขอบเขตของคำสั่งนี้คือ “ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการ หรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่งการชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย” ซึ่งไม่ได้ระบุเรื่องอุตสาหกรรมพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าเอาไว้ ส่วนท่าเรือขนถ่ายถ่านหินนั้นก็ไม่ใช่กิจการด้านการคมนาคมขนส่ง เพราะใช้ขนถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้า ไม่ใช่เพื่อการคมนาคม จึงเป็นการตีความอย่างศรีธนญชัย
ดังนั้น หาก กฟผ.ใช้อำนาจตามกฎหมายจากคำสั่งที่ 9/2559 นี้ เสนอให้ ครม.อนุมัติในการจัดการประมูลหาผู้รับเหมาไปพลางๆ ก่อน ระหว่างที่ EHIA ยังไม่เสร็จนั้น เท่ากับเป็นการมั่วนิ่มเกินขอบเขตที่คำสั่งที่ 9 กำหนดไว้ แต่หากไม่ได้อ้างคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 นี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดที่จะยกเว้นให้ลัดขั้นตอนของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ได้ ดังนั้น เพื่อความชัดเจน จะมีการเดินทางไปยื่นหนังสือสอบถามที่สำนักงาน กฟผ.ในเร็วๆ นี้