โดย..นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
วันที่ 19 และ 26 ตุลาคม 2559 จะมีการเปิดรับซองประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คนในพื้นที่มีความเห็น และคำถามสำคัญคือ การเปิดประมูลโดยที่ EHIA ยังไม่ผ่าน และโครงการยังไม่อนุมัติ กฟผ.ใช้อำนาจตามกฎหมายใด หรือแท้จริงมั่วนิ่ม
กฟผ.เผยแพร่กระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมาโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือ ว่าประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1) กฟผ.จัดทำเอกสารประกวดราคา 2) ผู้รับเหมาซื้อซองประกวดราคาและจัดทำข้อเสนอ 3) กฟผ. พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้สามารถจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รวดเร็ว จึงขอทำการประมูลไปพลางก่อน โดยไม่มีการลงนามจัดซื้อจัดจ้าง จะลงนามเมื่อ EHIA ผ่าน และรัฐบาลอนุมัติแล้วเท่านั้น จะได้ลัดขั้นตอนก่อสร้างตอกเสาเข็มได้เลยในทันทีที่อนุมัติ
ฟังดูเผินๆ เป็นหลักการก็ดูดี แต่ในความเป็นจริงการจะเปิดประมูลไปก่อนได้นั้น แบบแปลนต้องนิ่ง ชุมชนต้องเห็นพ้อง แต่เมื่อลัดขั้นตอนทำคู่ขนาน ปรากฏว่า รายงานผลกระทบวิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก็ยังต้องปรับอีกเป็นหลายร้อยข้อ แบบแปลนยังต้องปรับ เครื่องบำบัดมลพิษก็ยังอาจต้องใส่ระบบเพิ่ม ความขัดแย้งในชุมชนก็ยังสูง ความรู้สึกที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ยังมาก การลัดขั้นตอนซึ่งเป็นการมองในมุมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพียงข้างเดียวจึงเป็นการตอกลิ่มให้ยิ่งแตกแยกกันมากขึ้น
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นั้น ได้มีการเปิดรับซอง และได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า และ บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นการประกาศผู้ชนะการประมูล ท่ามกลางความรู้สึกว่าคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 นั้นเป็นกฎหมายที่เอื้อให้ กฟผ.ทำการประมูลก่อนการอนุมัติโครงการได้นั้น เป็นการทำงานหลักนิติรัฐ และธรรมาภิบาลของกลไกรัฐ ซึ่งโดยปกติรัฐวิสาหกิจ หรือส่วนราชการจะไม่สามารถทำอะไรที่ผิดขั้นตอนเช่นนี้ได้
คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2559ว่าด้วย “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ใจความสำคัญของคำสั่งดังกล่าวสามารถเปิดช่องทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการลัดขั้นตอนจัดหาผู้รับเหมาก่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นได้
แต่ในคำสั่งระบุชัดว่า ขอบเขตของคำสั่งนี้คือ “ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการ หรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่งการชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย” ซึ่งไม่ได้ระบุเรื่องอุตสาหกรรมพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าไว้ ส่วนท่าเรือขนถ่ายถ่านหินนั้น ก็ไม่ใช่กิจการด้านการคมนาคมขนส่ง เพราะใช้ขนถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้าไม่ใช่เพื่อการคมนาคม จึงเป็นการตีความอย่างศรีธนญชัย
ดังนั้น หาก กฟผ.ใช้อำนาจตามกฎหมายจากคำสั่งที่ 9/2559 นี้ เสนอให้ ครม.อนุมัติในการจัดการประมูลหาผู้รับเหมาไปพลางก่อนระหว่างที่ EHIA ยังไม่เสร็จนั้น เท่ากับเป็นการมั่วนิ่มเกินขอบเขตที่คำสั่งที่ 9 กำหนดไว้ แต่หากไม่ได้อ้างคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 นี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดที่จะยกเว้นให้ลัดขั้นตอนของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ได้
การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน เป็นประเด็นประชาธิปไตยฐานรากที่ประชาชนต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง โครงการขนาดใหญ่ของรัฐเองยิ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด การจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้นั้น กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ต้องอย่าลักไก่ และมั่วนิ่ม เรื่องนี้ประชาชนต้องการคำตอบชัดๆ จากรัฐบาล และ กฟผ.